คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธาน DCT เปิดเวที ‘Girls in ICT Access and Safety’ เสนอ 5 แนวทางเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมย้ำ Mindset & Technology เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนยุค 5.0

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 –สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาโทรคมนาคมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU  ซึ่งเป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกันเปิดเวที Girls in ICT Access and Safety’ ในรูปแบบออนไลน์ มุ่งสนับสนุนวาระของโลกในการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงและเยาวชนหญิงให้มีทัศนคติ ศักยภาพ และความเชื่อ ในการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยมีวิทยากรในแวดวง ICT เข้าร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดทั้งวัน

เปิดเวทีภาคเช้านำโดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์   ซีอีโอเครือซีพี ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย หรือ DCT เปิดเวทีสัมมนา Girls in ICT Access and Safety พร้อมบรรยายหัวข้อ ยกระดับการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลและการเข้าถึงเทคโนโลยีสำหรับเยาวชนไทย พร้อมด้วยผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านวิทยุและโทรทัศน์ บรรยายในหัวข้อ บทบาทของ กสทช. ต่อเด็กเยาวชนหญิงในไอซีทีในประเทศไทย , คุณ Rury Demsey ผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศสำนักงานภูมิภาคสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (International Telecommunication Union: ITU regional office for Asia and the pacific) บรรยายในหัวข้อ การปลูกฝังทักษะดิจิทัลของเยาวชนหญิงและเด็กหญิง

คุณศุภชัย  กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเผชิญกับ  3 ความท้าทาย  คือ ความเหลื่อมล้ำ ดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่น  และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  โดยเน้นย้ำเรื่องปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพราะหากเกิดภาวะแห้งแล้งจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร  และจะส่งผลทำให้อาหารแพง ขาดความมั่นคงทางอาหาร และกระทบระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม   ซึ่งการที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน  ไม่จำกัดว่าเพศหญิงหรือเพศชาย เพราะทุกคนมีส่วนที่จะช่วยโลกได้

ประธานสภาดิจิทัลฯ ยังได้กล่าวถึงการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า มีผู้หญิงเพียง 37% เท่านั้นที่จบการศึกษาด้านไอซีทีและวิศวกรรม ทั้งนี้ เหตุผลที่ผู้หญิงสนใจในด้านดังกล่าวน้อยอาจเนื่องมาจาก ช่องว่างระหว่างเพศ และบรรทัดฐานสังคม ในประเด็นนี้จึงเป็นความท้าทายหนึ่งในการผลักดันให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีมากขึ้น  พร้อมกันนี้ได้เสนอ 5 แนวทางที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายและปัจจัยความสำเร็จประกาศเป็นนโยบายที่มีความโปร่งใส ขับเคลื่อนตามกลไกการตลาด สร้างวัฒนธรรมความเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ผู้หญิงแสดงความสามารถและเป็นผู้นำ ให้อำนาจตัดสินใจ และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ผู้หญิงเข้าถึงได้

นอกจากนี้ คุณศุภชัย ยังได้กล่าวถึง วิวัฒนาการของการพัฒนาประเทศที่เริ่มต้นจากเกษตรกรรม ที่เราเรียกว่ายุค 1.0 ไปสู่ระบบอุตสาหกรรม และการก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนโลก ปัจจุบันอยู่ในยุคที่เรียกว่า ยุค 5.0 ที่จะเป็นการผสมผสานระหว่างคนกับเทคโยโลยี ซึ่งสิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคนี้ คือ “Mindset”   และ ‘เทคโนโลยี’

 

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทักษะดิจิทัลของผู้หญิง คือ การเข้าถึง (Access) ทั้งเรื่องอุปกรณ์ ข้อมูล และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล (Literacy) และความปลอดภัยของระบบดิจิทัล (Safety) ซึ่งความเท่าเทียมกันในสังคมมีผลต่อการเข้าถึงดิจิทัลของผู้หญิงและเยาวชนหญิง โดยในประเทศด้อยพัฒนามีช่องว่างระหว่างเพศค่อนข้างสูง ทั้งนี้ การศึกษาและวัฒนธรรมตามบรรทัดฐานสังคมของประเทศพัฒนาประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา มีความแตกต่างและส่งผลต่อการเข้าถึงสื่อดิจิทัลของผู้หญิง

นอกจากนี้ ในโลกออนไลน์ผู้หญิงมีความเสี่ยงด้านการคุกคามทางเพศและถูกกลั่นแกล้งมากกว่าผู้ชาย ซึ่ง กสทช. มีแนวทางในการปิดช่องว่างดังกล่าวด้วยการดำเนินโครงการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Universal Service Obligation: USO) พร้อมให้ความรู้และจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ (Media and Information Literacy: MIL) แก่ผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่ด้อยโอกาส เด็กในพื้นที่ชนบท รวมทั้งยังได้สื่อสารแนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย

ด้านคุณ Rury Demsey ผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศสำนักงานภูมิภาคสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (International Telecommunication Union: ITU regional office for Asia and the pacific) ได้เปิดเผยผลสำรวจช่องว่างการเข้าถึงระบบดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยฉายภาพให้เห็นว่าผู้หญิงทั่วโลกมีอัตราการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลน้อยกว่าผู้ชาย ดังนั้น  ITU จึงได้เดินหน้าให้ความรู้และสร้างวัฒนธรรมการเข้าถึงทักษะดิจิทัลโดยเปิดเวทีและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงและเยาวชนหญิงทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในสายงาน STEM (Science Technology Engineering and Mathematics Education) โดยในปี 2022-2024 จะมุ่งเน้นเรื่อง Access and Safety, Digital Skills, และ Leadership เพื่อเป็นพลังสำคัญให้ผู้หญิงและเยาวชนหญิงในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล

ปิดท้ายภาคเช้ากับ คุณธิดารัธ ธนภรรคภวิน Vice Chairman, DCT และ คุณอรมดี ปุรผาติ Committee and Public Relation, DCT ในหัวข้อ ‘เร่งสร้างโอกาสทางอาชีพดิจิทัลให้แก่เยาวชนสตรีของไทย’ โดยได้กล่าวถึงผลสำรวจของ IMD ที่ระบุว่า นักวิจัยหญิงของประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกในอันดับที่ 6 จาก 64 ประเทศ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจ และจากความสำเร็จของผู้หญิงไทยที่ได้แสดงศักยภาพบนเวทีโลก อาทิ ผลงานอะนิเมชั่นเรื่อง Sea of Love ที่ฉายบนเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งควบคุมการผลิตและออกแบบโดยผู้หญิงไทยคือ คุณวณิชยา แพร่จรรยา และ คุณเอมสินธุ รามสูต หรือศิลปิน Toy Artist ‘Molly’ โดยคุณนิสา ศรีคำดี สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยด้วยผลงาน ‘Crybaby’ เป็นต้น เป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่ผู้หญิงไทยโดย DCT ได้ให้การสนับสนุนผู้หญิงเรียนรู้และเปิดโลกดิจิทัลผ่านหลักสูตรการเรียนรู้กว่า 4,000 หลักสูตรที่ DCT สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อขยายโอกาสทางอาชีพดิจิทัลให้เยาวชนหญิงไทย

ภายในงานสัมมนา ‘Girls in ICT Access and Safety’ ภาคบ่าย ยังคงต่อเนื่องด้วยบรรยากาศที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงออกถึงแนวคิดเกี่ยวกับด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้หญิงได้ร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ คุณกมลนันท์ เจียรวนนท์  ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการยุทธศาสตร์  มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดในหัวข้อ ‘สังคมดิจิทัลและความยั่งยืน’ ร่วมกับคุณพริมา องค์วิเศษ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฟิวเจอร์ ชาร์จ โดยคุณกมลนันท์ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันมีผู้หญิงเพียง 19% เท่านั้นที่เรียนด้าน STEM (Science Technology Engineering and Mathematics Education) ดังนั้น บรรทัดฐานสังคมยุคจึงนี้ควรเปลี่ยนแปลงและเปิดรับให้โอกาสผู้หญิงได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรืออย่างน้อยต้องเข้าใจความสำคัญของยุคดิจิทัล เพื่อขยายโอกาสทางความรู้และอาชีพให้แก่ผู้หญิง ผลักดันให้การเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายในทุกพื้นที่ มีตรรกะความคิดในการเชื่อมโยงโลกความจริงกับโลกออนไลน์ได้อย่างสมดุลและมีความปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีคุณพรปวีณ์ ม้วนหรีด ทูตเยาวชนประเทศไทยคนแรก ของ Artemis Generation GISDA Thailand & NASA USA และคุณ Shradha Pandey, ITU Generation Connect-Asia and the pacific Youth Envoy มาแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ ‘เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและอนาคตของเทคโนโลยี’ โดยคุณพรปวีณ์ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเข้าร่วมสำรวจอวกาศกับโครงการ Artemis ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่ามาจากการชมภาพยนตร์ Sci-Fi และการได้มีโอกาสเยี่ยมชม Space Fair ที่นำชุดนักบินอวกาศมาแสดงโชว์ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ทำให้มีความฝันที่อยากจะไปท่องอวกาศ และวันนี้เธอในวัยเพียง 14 ปี ได้ทำความฝันให้เป็นจริงด้วยการได้มีโอกาสเข้าไปนำเสนอแนวคิด การใช้ระบบ GPD นำทางเชื่อมโยงกับการท่องอวกาศและดาวเทียม นำเสนอต่อคณะกรรมการโครงการท่องอวกาศ แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีพลัง ความฝัน และศักยภาพเพียงพอที่จะทำสิ่งที่ผู้ชายทำได้เช่นเดียวกัน

ด้านคุณ Shradha Pandey ได้กล่าวถึงการผลักดันภาวะผู้นำของผู้หญิงในวงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยกล่าว่า นักวิจัยกว่า 80% ในประเทศเมียนมาร์เป็นผู้หญิง และในประเทศอื่น ๆ ของทวีปแอฟริกาและเอเชียแปซิฟิกก็ยังคงเป็นผู้หญิงเช่นกัน ซึ่งผู้หญิงกลุ่มนี้ยังมีความก้าวหน้าในตำแหน่งที่สูงกว่าผู้จัดการ ดังนั้น จึงควรสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำหญิง เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ได้เรียนรู้ระบบและสื่อดิจิทัล โดย ITU ได้จัดกิจกรรม Girls in ICT Day Thailand 2022 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 และมีแผนที่จะจัดกิจกรรมในหลายประเทศ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้หญิงกับวงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

นอกจากนี้ ยังมีผู้นำหญิงจากวงการสตาร์ทอัพ พญ.พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชั่นหมอดี และคุณทชา ปัญญาเนรมิตดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Alpha Finance ผู้นำด้านบริการทางการเงินแบบไร้ตัวกลางบนบล็อกเชน ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ในหัวข้อ ‘ผู้นำหญิงในโลกสตาร์ทอัพ’ และในหัวข้อสุดท้าย คุณณิรชา อ่อนมา  และ คุณณัฐณิชา เดชสกุลฤทธิ์ สองตัวแทนเยาวชนหญิงของประเทศไทยผู้ชนะการแข่งขัน Drone Odyssey Challenge ปี 2020-2021 และ คุณญดา ชัยวิรัตน์ เกมสตรีมเมอร์ชื่อดังจากเพจ Haruza ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในหัวข้อ ‘เส้นทางแห่งความสำเร็จในวงการ ICT ของเยาวชนสตรี’ 

ทั้งนี้ ผู้บริหารหญิงและเยาวชนหญิงที่ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวคิดบนเวที Girls in ICT Access and Safety ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุกคนมีความเท่าเทียม มีพลังความสามารถในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรมเพื่อสร้างโอกาสให้สังคมอย่างยั่งยืนได้ ขอเพียงตั้งใจพร้อมเดินหน้าสู่ยุค 5.0 อย่างมุ่งมั่น