“ซื้อของออนไลน์” จะโตช้าลงในปี 66 ค่าครองชีพพุ่ง-อิ่มตัว โตได้แค่ 6% ลดจากปีก่อนที่โต 2 หลัก

ภาพโดย justynafaliszek จาก Pixabay

สาเหตุสำคัญคือ

  • จำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่โตช้าลง เพราะเริ่มอิ่มตัวหลังจากที่เข้ามาจำนวนมากในช่วงโควิด-19
  • ค่าครองชีพและราคาสินค้าปรับสูงขึ้น กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้มีการใช้จ่ายอย่างจำกัด
  • ธุรกิจ E-Commerce เผชิญการแข่งขันที่รุนแรงรอบด้าน
  • ระบบโลจิสติกส์ หรือการจัดส่งสินค้าที่อาจล่าช้าและมีต้นทุนที่สูงขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างพวกอาหารสด อาหารแห้งและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว ซึ่งมีสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของ โควิด-19 ผู้บริโภคจะยังคงมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้าจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในยุค New normal

ขณะที่ กลุ่มสินค้าแฟชั่น สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม การใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์อาจจะไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นเร็ว เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นรองลงมาในภาวะที่กำลังซื้อผู้บริโภคมีจำกัดและต้องเลือกใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น อีกทั้งสินค้ากลุ่มนี้ก็มีสัดส่วนมูลค่าตลาดออนไลน์ที่สูงเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นๆ อยู่พอสมควรแล้ว

ภายใต้สถานการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบางหรือมีจำกัด KResearch ให้คำแนะนำในการทำตลาดออนไลน์เอาไว้ดังนี้

  • คัดสรรสินค้ามาจำหน่าย ที่จะต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่าคุ้มราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นสินค้าที่ทำการซื้อมาขายไป การคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามเทรนด์หรือสถานการณ์ต่างๆ ได้ทัน นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการปรับตัวของผู้ประกอบการ
  • ช่องทางการขายที่หลากหลาย การทำการตลาดแบบ Omni-channel หรือการเชื่อมแพลตฟอร์มออนไลน์-ออฟไลน์ เข้าด้วยกันมีความสำคัญ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่แพลตฟอร์มล่มหรือมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะการให้บริการที่หันมาเน้นทำกำไรมากขึ้นหลังจากที่มีการขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี
  • การให้บริการแก่ลูกค้าที่ดีสม่ำเสมอ การควบคุมหรือรักษาคุณภาพในการให้บริการแก่ผู้บริโภคตลอด Supply chain ตั้งแต่พนักงานขายสินค้าออนไลน์ ไปจนถึงพนักงานจัดส่งสินค้า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และความประทับใจในการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และอาจทำให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อซ้ำได้

มองไปข้างหน้า จากแนวโน้มการหดตัวของประชากรไทยในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า จะมีผลต่อปริมาณ การบริโภคหรือการใช้จ่ายในภาคค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเติบโตได้จำกัด และน่าจะส่งผลต่อภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในภาพรวมที่รุนแรงขึ้นอีก นอกจากนี้ การเฝ้าระวังหรือติดตามการระบาดของโควิด ที่แม้ว่ามุมหนึ่งอาจจะหนุนให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาด้านรายได้หรือกำลังซื้อของผู้บริโภค

ดังนั้น นอกเหนือจากตลาดในประเทศ ผู้ประกอบการ E-commerce ที่มีศักยภาพอาจมองหาตลาดใหม่ และขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ไปยัง Cross-border E-commerce ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหญ่หลายรายเริ่มมีการขยายตลาด Cross-border E-commerce ซึ่งน่าจะเป็นการช่วยสนับสนุนหรือผลักดันให้สินค้าของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขยายตลาดไปต่างประเทศได้มากขึ้น

ที่มา Brand Inside