ไทยติดท็อป 3 โลกในการใช้ e-Payment ปี 64 ยอดทำธุรกรรมกว่า 9.7 พันล้านครั้ง

คุณรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงข้อมูลจากการสำรวจของ ACI Worldwide ภายใต้ความร่วมมือกับ GlobalData ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก และศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจและธุรกิจ (Centre for Economics and Business Research: CEBR) ว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมียอดการทำธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ จำนวน 9.7 พันล้านครั้ง ครองอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย (48.6 พันล้านครั้ง) และจีน (18.5 พันล้านครั้ง) ซึ่งการชำระเงินแบบเรียลไทม์นี้ ช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจคิดเป็น 2.08% ของ GDP ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 จาก 30 ประเทศ ขณะที่ในปี 2563 และ 2562 ตัวเลขการทำธุรกรรมอยู่ที่ 5.24 พันล้านครั้ง และ 2.57 พันล้านครั้ง ตามลำดับ

คุณรัชดา กล่าวว่า การชำระเงินแบบเรียลไทม์ในประเทศ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประชาชนทุกช่วงวัย และผู้ประกอบการทุกขนาด อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของประเทศเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานโลก โดยมาจากการขับเคลื่อนนโยบายการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) นับตั้งแต่ปี 58

ทั้งนี้ ดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ อาทิ 1. โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2. โครงการ “พร้อมเพย์” (Prompt pay) และ QR Payment และ 3. Government Wallet (G-Wallet) ผ่านแอป “เป๋าตัง” ในโครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, ชิมช้อปใช้, การขายสลากกินแบ่ง เป็นต้น ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์ด้วย

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า รัฐบาลมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบาย National e-Payment อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และภาคธุรกิจ ในการทำธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business)

“รัฐบาลขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และภาครัฐจะยังคงเดินหน้าขยายงานบริการด้วยระบบ e-Payment ให้ครอบคลุมภารกิจต่างๆ ให้มากขึ้น” น.ส.รัชดา กล่าว

ที่มา  สำนักข่าวอินโฟเควสท์