ครม. เห็นชอบมาตรการ “Easy E-Receipt” ช้อปลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท เริ่ม 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 67

หลังจากพรรคเพื่อไทยเคยประกาศไว้ว่า โครงการ Digital Wallet 10,000 บาท จะให้สิทธิกับประชาชนไทยทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันได้มีการจำกัดการให้สิทธิโครงการนี้ เฉพาะคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้ระบุว่า คนที่ไม่ได้รับสิทธิ Digital Wallet จะให้ซื้อสินค้าและบริการเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีหรือโครงการ e-Refund เท่านั้น

นำสู่วันที่ 4 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการ “Easy E-Receipt” หรือในชื่อ e-Refund เดิม โดยมีรายละเอียดดังนี้

โครงการนี้จะเปิดให้ประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิ Digital Wallet ซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร มูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 67

  1. ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่ซื้อในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 67 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวน 50,000 บาท

โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร 

เว้นแต่ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

  • ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
  • ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว โดยกรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวจากผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องได้รับใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
  1. สินค้าและบริการใดที่ไม่ซื้อเพื่อหักลดหย่อนได้?
  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 67 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 67  แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 67 ก็ตาม
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการนิติบุคคล (ไม่จำกัดรายได้) สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice & e-Receipt และสำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคล และบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice by Email

ที่มา กรมประชาสัมพันธ์