กูรูคาดเศรษฐกิจเอเชียยังสดใส มั่นใจไทยได้เปรียบด้านท่องเที่ยว-การผลิต

นักเศรษฐศาสตร์หลายรายมองว่า ภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีแนวโน้มที่สดใส แม้ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า

นางเตาชา หวัง ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของบริษัทฟิเดลิตี (Fidelity) กล่าวว่า ในภาพรวมนั้น แนวโน้มของภูมิภาคเอเชียจะแตกต่างจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น ยุโรป เนื่องจากเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันชั้นดีจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่ยุโรปกำลังเผชิญ

“ข้อได้เปรียบนี้แสดงให้เห็นว่า เอเชียยังคงมีพื้นที่สำหรับการใช้นโยบายที่เน้นการเติบโต ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่ปัญหาเงินเฟ้อสูงกำลังผลักดันให้ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน”

นางหวังกล่าว

ขณะที่ทีมนักวิเคราะห์ของธนาคารดีบีเอส ซึ่งรวมถึงนางเดซี ชาร์มากล่าวว่า นับจนถึงขณะนี้ การส่งออกจาก 6 ประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ทำผลงานโดดเด่นกว่าประเทศกลุ่มเอเชียเหนือและส่วนอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้บรรดาประเทศส่งออกเช่นอินโดนีเซีย ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ทีมนักวิเคราะห์ของดีบีเอสยังกล่าวว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของอินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ในเดือนก.ย. ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิต และทำให้ประเทศเหล่านี้มีการเติบโตที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ เช่นเกาหลีใต้ และไต้หวัน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แม้ว่าการดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเอเชียในช่วงต้นปีนี้ได้อ่อนแรงลงเนื่องจาก 3 อุปสรรคใหญ่ซึ่งได้แก่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย, สงครามในยูเครน และผลกระทบจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจีน

“แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ภูมิภาคเอเชียยังคงมีแนวโน้มที่สดใส แม้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง” IMF ระบุในรายงานล่าสุดที่ชื่อว่า “Asia Sails Into Headwinds From Rate Hikes, War, and China Slowdown”

IMF คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิกจะอยู่ที่ 4% ในปี 2565 และ 4.3% ในปี 2566 ซึ่งแม้ว่าการขยายตัวของทั้งสองปียังคงต่ำกว่าระดับเฉลี่ยที่ 5.5% ในช่วง 20 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังสูงกว่าการขยายตัวในยุโรปและสหรัฐ โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัว 3.1% ในปี 2565 และ 0.5% ในปี 2566 ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐนั้นคาดว่าจะขยายตัว 1.6% ในปี 2565 และ 1% ในปี 2566

IMF ยังระบุด้วยว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่แข็งแกร่งในปีหน้า โดยเวียดนามกำลังเติบโตจากการเป็นศูนย์กลางของความพยายามในการสร้างความหลากหลายด้านห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่เศรษฐกิจฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และอินเดีย มีแนวโน้มขยายตัวราว 4% – 6%

นอกจากนี้ IMF คาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยและกัมพูชามีแนวโน้มฟื้นตัว

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์