แข่งขันกันช่วยโลกยั่งยืน : คุณศุภชัย CEO เครือซีพี

สวัสดีครับพี่น้องซีพี ห้วงเวลานี้ต้องบอกว่าโลกของเราเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าห่วงมากมาย โดยเฉพาะ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งภาวะความรุนแรงของภาวะโลกร้อน

แต่กระนั้นก็ดี ยังมีข่าวดีให้เรามีความหวังจากการที่สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยหรือ GCNT จัดงานครบรอบ 20 ปี เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Global Compact จัดภายใต้หัวข้อ “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” เพื่อเป็นเวทีการหารือ การระดมสรรพกำลังของภาคเอกชนเพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติจริงในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สนับสนุนรัฐบาลและภาคส่วนอื่น ๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

และน่าดีใจแทนพี่น้องซีพี คุณศุภชัยเจียรวนนท์ CEOเครือซีพีของพวกเราได้มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยหรือ GCNT ที่ผลักดันให้มีการประชุมครั้งนี้เพื่อสร้างความรับรู้ การตื่นตัว สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนเพื่อผลักดันเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

คำกล่าวของ คุณศุภชัย CEO ของพวกเรามีหลายประเด็นที่ผมคิดว่ามีนัยะสำคัญที่ผมขอนำมาแบ่งปันพี่น้องซีพี

คุณศุภชัยบอกว่าการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นวิถีใหม่ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เป็นงานระดับประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้วยการสนับสนุนด้านคาร์บอนเครดิตจากกลุ่มมิตรผล งานนี้จะได้รับการรับรองว่าเป็นงาน Carbon Neutral เป็นกิจกรรมที่ไม่มีผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติเป็นเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิกกว่า 12,000 องค์กร ใน 156 ประเทศก่อตั้งขึ้นครบยี่สิบปีในปีนี้ ตามวิสัยทัศน์ของนายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น เพื่อระดมพลังของภาคเอกชนในการทำธุรกิจที่คำนึงถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าดำเนินการแบบ “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” ภายใต้หลักการสากล 10ประการ ครอบคลุมเนื้อหา 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยจึงได้นำเจตนารมณ์ในระดับโลกนี้ มาขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมร่วมในไทย และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่กรุงเทพฯ โดยมีนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ได้มากล่าวปาฐกถาพิเศษ ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกเกือบ 60 องค์กร และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ หากมองในเชิงศักยภาพของสมาคมฯ แล้ว มูลค่าของบริษัทที่เป็นสมาชิกในปัจจุบันสูงถึงประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท ตัวเลขนี้แสดงถึงศักยภาพของสมาคมฯ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนที่แท้จริงทั้งในไทยและทุกประเทศที่บริษัทสมาชิกเราลงทุน

คุณศุภชัยบอกว่าในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ทั่วโลกต้องพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ทั้ง 17 ข้อให้ทันในปี ค.ศ. 2030 และเมื่อมีวิกฤติโควิด-19 นี้ซ้ำเติมเข้ามา ก็ยิ่งก่อให้เกิดความท้าทายยิ่งขึ้นอีก ด้วยเหตุนี้ เลขาธิการสหประชาชาติจึงเรียกร้องให้ทุกคนทุ่มเทสรรพกำลัง เรียกช่วงเวลาสิบปีข้างหน้าจนถึง ค.ศ. 2030 ว่าเป็น “ทศวรรษแห่งการลงมือทำอย่างจริงจัง” หรือ “Decade of Action” ต่างไปจากเดิมที่เราเคยปฏิบัติก่อนวิกฤติโควิด-19 ทั้งนี้ เพื่อให้โลกเราสามารถ “ฟื้นตัวได้ดีกว่าเดิม” หรือ “Recover Better”

และในปี 2563 นี้ เป็นที่น่าภูมิใจว่า ไทยได้รับ 74.5 จาก 100 คะแนน จากการจัดอันดับความคืบหน้าในการบรรลุ SDGs ตาม Sustainability Development Report ล่าสุดในปี ค.ศ. 2020 นี้ นับเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียน จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่า ไทยสามารถเป็นผู้นำได้ในการร่วมลงมือทำงานกับสหประชาชาติอย่างจริงจังให้โลกฟื้นตัวได้ดีกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน การที่ไทยสามารถรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 จนได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศ พิสูจน์ให้เห็นศักยภาพของคนไทยที่สามารถร่วมแรงร่วมใจฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้  ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ประเทศเราไม่เคยต้องการความร่วมแรงร่วมใจของคนทั้งชาติระดับนี้มาก่อน นับตั้งแต่สงครามโลกเป็นต้นมา

คุณศุภชัยบอกอีกว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนถือเป็นหน้าที่ของทุกคน และควรพัฒนาไปพร้อมกับการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในลักษณะ 4 M กล่าวคือ

หนึ่ง Multi-species หรือการคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพและการรักษาระบบนิเวศ

สอง Multi-stakeholders หรือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

สาม Multi-cultural หรือการเข้าใจถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากนานาประเทศ เพราะเป้าหมาย SDGs นั้นเป็นเป้าหมายร่วมกันระดับโลก

และสุดท้าย คือ Multi-generation หรือจากรุ่นสู่รุ่น เราทุกคนมีความรับผิดชอบในการรักษาโลกนี้ไว้สำหรับคนรุ่นต่อไป

การเปิดโอกาสและพื้นที่ให้แก่คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมเป็นผู้นำทั้งในระดับชุมชนและประเทศชาติตั้งแต่ต้น พร้อมการเปิดรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างรุ่นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง อันจะช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ภายในปี ค.ศ. 2030

คุณศุภชัยบอกอีกว่าแม้ว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบรุนแรงและกว้างขวาง วันหนึ่งข้างหน้า ผลกระทบจากวิกฤตินี้ก็อาจจะทุเลาจนหมดไปในที่สุด แต่ปัญหาในโลกนี้ที่เกิดจากกระบวนการผลิตและระบบบริโภคนิยมของประชากรโลกที่ไม่ได้นำผลกระทบทางทรัพยากรธรรมชาติและสังคมมาคำนวณเป็นต้นทุนอย่างครบถ้วน การดำเนินชีวิตโดยขาดความตระหนักรู้ว่ากิจกรรมของเราในปัจจุบันนั้นได้กัดกร่อนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เท่ากับว่าเราได้หยิบยืมทรัพยากรของลูกหลานเรามาใช้เพื่อความสะดวกสบายของเราในปัจจุบัน โดยไม่ได้รักษาไว้สำหรับรุ่นต่อ ๆ ไปอย่างดีพอ พร้อมกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจที่อาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่นับจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบัน มลพิษทางอากาศนำไปสู่การเสียชีวิตกว่า 7 ล้านคนต่อปี ประมาณ 1 ล้านสายพันธุ์ของพืชและสัตว์กำลังสูญพันธุ์ขณะนี้ และอีกจำนวนมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยกว่าร้อยละ 50 ของสายพันธุ์หรือ species ทั่วโลกอาจจะสูญไปภายในปี ค.ศ. 2100 หรืออีกเพียง 80 ปีเท่านั้น และอาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย หากจะบอกว่ามนุษย์เราอาจสูญพันธุ์ได้ในที่สุด

ถึงเวลาแล้วที่ทุกคน โดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว พัฒนารูปแบบการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การใช้พลังงาน การขนส่งและกระจายสินค้า และการบริโภค ให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น ตลอดจนการปรับและเสริมทักษะแก่พนักงาน ส่งเสริมการศึกษาที่เน้นทักษะสมัยใหม่ เพราะระบบหุ่นยนต์อาจจะเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานในสายการผลิตกว่า 20 ล้านตำแหน่งทั่วโลกภายในปี ค.ศ. 2030

ที่น่าสนใจ คุณศุภชัยยังเชิญชวนภาคเอกชนมาแข่งขันกัน แต่การแข่งขันในวันนี้ ไม่ใช่การแข่งขันในเชิงธุรกิจอีกต่อไป

การแข่งขันในวันนี้ คือ การแข่งขันเพื่อเอาชนะความท้าทายของมนุษยชาติที่ทุกคนเผชิญอยู่

การแข่งขันในวันนี้ คือ การแข่งขันกับเวลา ที่เราเหลือน้อยลงทุกที

การแข่งขันในวันนี้ คือ การแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ความอยู่รอดของรุ่นลูก รุ่นหลาน ความอยู่รอดของสัตว์ป่า และพรรณพืช

การแข่งขันที่ผ่านมา เรามักคุ้นในเชิงธุรกิจกับการแข่งเชิงปริมาณให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งผลประกอบการ กำไร ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น เร่งสร้างมูลค่าหลักทรัพย์ให้สูงขึ้น

แต่การแข่งขันในวันนี้ กลับเป็นการแข่งขันให้ถึงศูนย์

การแข่งขันที่ผมได้เชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมในวันนี้ เราแข่งกับเวลา แข่งกับตัวเอง เพื่อไปถึง Zero Carbon ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด แข่งกันเข้าสู่ยุค Zero Waste พลิกโฉมการผลิตและการบริโภค แข่งกันสร้าง Zero Hunger และ Zero Poverty ให้เป็นความจริง ที่ทุกคนมีความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร การศึกษา บริการสาธารณสุข โอกาสในการทำงาน ลดความเหลื่อมล้ำ

ในฐานะที่พวกเราชาวซีพีเป็นสมาชิก GCNT มาช่วยกันกับ CEO เครือฯ แข่งขันกันไปสู่การพัฒนายั่งยืนกันครับ