เตรียมพร้อมรับแรงปะทะครึ่งปีหลัง 63

Cr ภาพ :https://www.dailysabah.com/business/tech/

สวัสดีครับพี่น้องผองเพื่อนซีพี เผลอแป๊ปเดียวหมดไปครึ่งปี เป็นครึ่งปีแรกที่ทุกคนต้องเผชิญกับความยุ่งยากลำบากในการทำงานและการดำเนินชีวิต มากน้อยแตกต่างกันไปตามต้นทุนชีวิตที่แต่ละคนมี แม้ว่าถึงวันนี้ตัวเลขคนติดเชื้อโควิด-19ในประเทศจะเป็นศูนย์ติดกัน 30 กว่าวันแล้ว แต่ใช่ว่าสงครามนี้จบไปแล้ว เพราะแม้ว่าบ้านเราดี แต่สถานการณ์หลายประเทศทั่วโลกยังน่าห่วง เพราะยังพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นทะลุ 10ล้านคน ประเทศที่เคยประกาศจัดการโควิด-19ได้อย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ยังเจอกับการระบาดรอบ 2 นั่นแสดงว่าโควิด-19 ยังเป็นความเสี่ยงอีกต่อไป จนกว่าวัคซีนต้านโควิด-19 จะสำเร็จ

ไม่เพียงความเสี่ยงจากโควิด-19 เวลา 6 เดือนที่เหลือของปี 2563 ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย รอการฟื้นตัว ซึ่งฟังตัวเลขจากทั้งไอเอ็มเอฟ ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วบอกว่าเศรษฐกิจของไทยจะติดลบ-6 – -8 % แม้ว่าจะมีการคลายล็อกออกมามากมาย แต่การประกอบกิจการยังไม่กระเตื้องอย่างที่คาด สภาพัฒน์คาดว่าจะยังมีคนตกงานเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ แม้จะเป็นหน้าฝนแต่ปริมาณน้ำต้นทุนตามเขื่อน อ่างเก็บน้ำมีไม่เพียงพอ หรือบางพื้นที่เกิดภาวะน้ำมากเกิน จนเกิดความเสียหาย การเพาะปลูกในปีนี้มีความไม่แน่นอนตามมา ยังไม่รวมกับปัจจัยทางการเมืองของบ้านเราที่มีความไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้คือภาพของครึ่งปีหลังที่พวกเราชาวซีพีจะต้องเตรียมพร้อมรับแรงกระทบที่จะเกิดขึ้น การขาย การทำตลาด การสร้างรายได้ จะยังยากอยู่ เพราะกำลังซื้อของคนที่หดหายไป การใช้เงินอย่างระมัดระวัง แม้ว่าขนาดหลายหน่วยงานจะทำแคมเปญ ลด แลก แจก แถมสินค้า บริการออกมาจูงใจอย่างไร ด้วยวิธีการทางออนไลน์ แต่คนก็ขาดกำลังซื้อ ผู้คนกังวลในเรื่องการจับจ่าย ทุกฝ่ายรอความหวังจากโครงการของหน่วยงานรัฐที่จะอัดฉีดกระแสเงินเข้ามาผ่านโครงการต่างๆที่สภาพัฒน์จะเป็นผู้กลั่นกรอง

แล้วพี่น้องซีพีจะทำอย่างไรครับกับครึ่งปีหลัง ผมมีโอกาสติดตามความเห็นของผู้รู้ทั้งในเครือฯและนอกเครือฯมีข้อแนะนำที่น่าสนใจครับว่า พวกเราที่ทำงานด้านการขาย ด้านการตลาด คงต้องพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนของลูกค้า ผู้ใช้บริการว่าในสถานการณ์ติดลบแบบนี้ถ้าจะต้องเสียเงินเค้าจะได้ประโยชน์คุ้มค่าไหม จำเป็นต้องซื้อเลยไหม มีทางเลือกอะไรให้เค้าได้ตัดสินใจ เพื่อนๆที่อยู่ในสายธุรกิจอาหารอาจจะไม่ค่อยยุ่งยาก เพราะอาหารการกินเป็นสิ่งจำเป็น เศรษฐกิจดีไม่ดี คนก็ต้องทานอาหาร โอกาสของธุรกิจอาหารยังคงมี แต่ธุรกิจอื่นๆอย่างอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีก ก็อาจจะกระทบจากมาตรการระยะห่างทางสังคม

ผมเห็นปรากฏการณ์อันหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการขายของออนไลน์ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นทางออกของสถานการณ์ในเวลานี้ที่จะทำอย่างไรให้เข้าถึงลูกค้า ผู้ใช้บริการ หลายคนไม่เคยทำคลิปขายของก็เริ่มทำกัน ถือเป็นการสร้างทักษะใหม่ๆของแต่ละคน หลายคนบุคคลิกภาพดี สอบผ่าน แต่อาจไม่พอเพราะสินค้าที่นำเสนอขายก็ต้องตอบโจทย์ของผู้คนที่จะยอมจ่ายเงินที่หายาก แต่ก็ขอเป็นกำลังใจให้ชาวซีพีที่หันมาเอาดีทางออนไลน์

เวลานี้ถือได้ว่าทุกคนมีมือถือ อะไรที่เรานำเสนอผ่านมือถือได้ถือเป็นโอกาส คนไม่เข้าห้าง ไม่ไปที่ช้อป ไม่ไปนั่งกิน แต่ต้องการสินค้า บริการก็คงต้องคิดหาวิธีการกัน ขนาดว่าอาชีพหมอนวดเดี๋ยวนี้ยังทำเดลิเวอรรี่ ไปบริการนวดถึงบ้าน ถึงที่พักก็เกิดขึ้น

คนซีพีจึงต้องปรับตัว ปรับวิธีการ ปรับทักษะ พัฒนาการใช้ตัวเอง ใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับสินค้า บริการ เพื่อเพิ่มโอกาสการขาย โอกาสเปิดดีลและปิดดีลการขาย เพราะในสถานการณ์ที่อะไรที่เป็นออฟไลน์ทำได้ยาก ทำแล้วขายไม่ได้ก็ต้องปรับเปลี่ยนกัน