รถไฟความเร็วสูงกับสิ่งที่ชาวซีพีเรียนรู้ทำความเข้าใจ

สวัสดีครับพี่น้องชาวซีพี เวลาของปี 2562 ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เรากำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี หากมองย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายกับเครือซีพี โดยเฉพาะเรื่องที่ผมคิดว่ามีความสำคัญและเป็นเรื่องที่อยากชวนชาวซีพีเรียนรู้ทำความเข้าใจกัน

เพราะช่วงที่ผ่านมา เรื่องของการเข้าประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูง หลายๆอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยที่ผ่านมาเครือซีพีได้ดำเนินการตามกระบวนการที่รัฐกำหนดจนกระทั่งชนะการประมูล โดยมีข้อเสนอให้กับรัฐดีที่สุด ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนสูง และมีข้อจำกัดหลายประการ แต่เครือซีพีของพวกเรา โดยท่านประธานอาวุโสพูดย้ำกับผู้บริหารและพนักงานมาตลอดคือซีพีต้องการทำโครงการนี้เพื่อเป็นการทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เพราะโครงการนี้ถือเป็นการสร้างสาธารณูปโภคที่สำคัญให้กับประเทศในอนาคต เสมือนเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้

แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในทางเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่หลายๆภาคส่วนของประเทศก็เห็นความสำคัญของโครงการนี้เพราะจะช่วยหนุนส่งให้โครงการ EEC มีความเข้มแข็งและช่วยฉุดระบบเศรษฐกิจเดินหน้าต่อ เนื่องจากเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวเก่ามีปัญหา ข้อจำกัดมากมายไม่เอื้อให้ประเทศแข่งขันต่อได้ รถไฟความเร็วสูงและ EEC จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อ

แม้ว่าจะมีความเสี่ยง มีเงินลงทุนมหาศาล แต่เครือซีพีก็ไม่ทิ้งความตั้งใจ ทั้งระดมเครือข่ายพันธมิตรที่จะมาร่วมดำเนินงานจากทั่วโลกและใช้ชื่อเสียงของบริษัทต่อการยอมรับของแหล่งเงินทุน การหาเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงที่ดีสุดของโลก แต่เครือซีพีเชื่อว่าประโยชน์ที่จะเกิดกับประเทศมีมากกว่า

น่าเสียดายที่ช่วงท้ายๆที่ผ่านมา โครงการต้องพบอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถมีการลงนามเซ็นสัญญาได้ เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย คู่สัญญา ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ ซี.พี.ได้แล้วเสร็จ ทำให้กำหนดการต้องเลื่อนออกไป

ทางเครือซีพี ต้องการให้การรถไฟฯทำแผนส่งมอบพื้นที่ให้ชัดเจน ลงลึกรายละเอียดด้วยการระบุวัน-เดือน-ปีที่จะส่งมอบแบบในสัญญา ไม่ใช่ระบุกว้าง ๆ แบบ เหมาปี อย่างที่ ร.ฟ.ท.ประเมิน เงื่อนไขเวลาต้องเคลียร์ตรงนี้จบเสียก่อน การเซ็นสัญญาถึงจะเกิดขึ้น

จากข้อมูลนสพ.ประชาชาติพบกรณีผู้บุกรุกที่มีจำนวนงอกขึ้นมาใหม่ เช่น พื้นที่กรุงเทพฯมี 400 หลัง กระจุกตัวมากสุดช่วง “พญาไท-หัวลำโพง” เกิน 270 หลัง, พื้นที่นอกเมืองมี 600 หลัง กระจุกอยู่โซน “ศรีราชา-พัทยา” ยังไม่นับรวมบางพื้นที่เข้าไปสำรวจไม่ได้อีกต่างหาก เพราะเป็นที่ดินเวนคืน จึงต้องรอ พ.ร.ฎ.เวนคืนประกาศก่อนถึงจะเข้าสำรวจได้ เช่น “ฉะเชิงเทรา” พื้นที่สร้างสถานีใหม่ ศูนย์ซ่อมบำรุงและโรงจอด เป็นต้น

เพราะฉะนั้นอยากให้พวกเราชาวซีพีเข้าใจว่าทำไมทางเครือฯจึงยังไม่ดำเนินการเรื่องเซ็นสัญญา เพราะ หากเร่งรีบเข้าพื้นที่ปักไซต์ แต่การก่อสร้างไม่เสร็จใน 5 ปี สิ่งที่ทำได้คือขอต่อเวลาก่อสร้างออกไป สำหรับภาครัฐอาจจะเสียแค่เวลา แต่ภาคเอกชนอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งกลายเป็นความเสี่ยงที่เอกชนต้องแบกรับไว้เอง

ด้วยเหตุนี้ทางเครือฯจึงพยายามบอกภาครัฐว่าโครงการนี้จะสำเร็จจะต้องร่วมกันแบกรับความเสี่ยงไปด้วยกัน เพราะหากเอกชนรับความเสี่ยงฝ่ายเดียวก็จะทำให้แบกภาระที่หนักเกินกำลัง ผู้ให้เงินกู้ก็ย่อมกังวลใจ โครงการก็อาจจะชะลอหรือหยุดไปก็ย่อมเกิดความเสียหายกันทั้งหมด

เรื่องนี้หากไม่อธิบาย ทำความเข้าใจ คนก็จะเข้าใจผิด ตรงกันข้ามเราอยากให้โครงการเดินหน้าเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนจึงขอฝากช่วยกันแชร์ข้อเท็จจริงให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าทำไมรถไฟฟ้าสามสนามบินถึงยังเซ็นไม่ได้ในช่วงที่ผ่านมา

https://youtu.be/4HGP_xw87vY

ฝากพี่น้องซีพีช่วยกันทำความเข้าใจและอธิบายให้สังคมรับรู้ข้อเท็จจริงและร่วมกับภาคเอกชนเดินไปด้วยกัน แม้จะมีความเสี่ยงแต่ก็ร่วมรับความเสี่ยงไปด้วยกัน แก้ปัญหาและผลักดันให้โครงการนี้เกิดเร็วที่สุด มีปัญหาให้น้อยที่สุด เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ ประชาชน ที่สำคัญโลก ทั้งนักลงทุน สถาบันการเงิน ใครต่อใครต่างก็เฝ้าติดตาม มาช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศแล้วร่วมกันขับเคลื่อนประเทศให้เข้มแข็งต่อไป