จากขยะถึง food Waste กระแสที่กำลังมาแรง

สวัสดีครับพี่น้องซีพี ช่วง1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมสังเกตการณ์การจัดงานใหญ่ระดับประเทศถึง2งานที่สะท้อนถึงความสนใจของสังคม งานแรกเกิดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นการเปิดตัวงานแคร์ เดอะ เวล ขยะล่องหน งานที่สองเป็นการสัมมนาว่าด้วยเรื่องของขยะอาหารหรือ Food waste ที่จัดโดยห้างโลตัสกับหอการค้า

ผมคิดว่าทั้ง2งานมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันที่อยากชวนชาวซีพีได้หันมามองเรื่องนี้กัน งานแรกเป็นการรวมตัวกันของบรรดาภาคธุรกิจที่มีสำนักงานอยู่บนถนนรัชดาภิเษก ซึ่งงานนี้ผมถือว่าเป็นโอกาสดีของซีพีแลนด์และทรูที่ได้นำเอากิจกรรม โครงการที่ทั้งทรูและซีพีแลนด์ทำเกี่ยวกับเรื่องของขยะ การมีส่วนช่วยเรื่องของภาวะโลกร้อน

ถนนรัชดาฯเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มาอาศัย มาทำงาน มากิน มาใช้ชีวิตร่วมกันแล้วก็มีส่วนต่อการก่อให้เกิดขยะหลายรูปแบบทั้งขยะพลาสติก ขยะอิเลคทรอนิกส์ ขยะจากอาหารที่เหลือทิ้ง รวมทั้งการใช้พลังงานอีกมากมาย แต่เมื่อได้ฟังตัวแทนจากภาคเอกชนรวม 14 องค์กรทำให้คนที่มาร่วมงานต่างมีความหวังกับการแก้ปัญหาขยะ เพราะทั้ง 14 องค์กร ซึ่งรวมถึงทรู ซีพีแลนด์ต่างก็มีกิจกรรม การจัดการกับปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในอาคาร

ความสำเร็จของถนนรัชดาฯอาจจะกลายมาเป็นต้นแบบให้กับถนนอีกหลายสายในเมืองอย่างกรุงเทพและถ้าทุกถนนจัดการกับปัญหาขยะด้วยกัน กรุงเทพก็คงน่าอยู่ เพราะจากสถิติที่น่าห่วงคือวันหนึ่งๆคนกรุงเทพสร้างขยะถึง10,000ตัน ขณะที่กทม.สามารถจัดการขยะได้เพียง500 ตัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมจึงเกิดภูเขาขยะขึ้นมา

ต้องขอบคุณทางชาวทรูและซีพีแลนด์ที่ช่วยเป็นหน้าเป็นตาให้ซีพี ให้คนภายนอกรับรู้ว่า ซีพีไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องของการจัดการขยะ คนซีพีมีจิตสำนึกและช่วยกันหาทางแก้ปัญหาขยะ ซึ่งผมคิดว่าถ้าทุกถนนมีคนมาเป็นตัวตั้งตัวตีและให้เอากิจกรรมการจัดการขยะมาแชร์ มาแลกเปลี่ยนกันจะทำให้เกิดสัญญาประชาคม เกิดพลังร่วมกันที่จะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองได้ คำว่าขยะล่องหนก็จะหมดไป เพราะแต่คน แต่ละหน่วยงานแต่ละชุมชนช่วยกัน

ผมคิดว่างานแรกสร้างสรรค์ เป็นบวกและทำให้เห็นความร่วมมือกัน เห็นการลงมือทำกันอย่างจริงจัง ทำอย่างไรให้เรื่องดีๆแบบนี้ถูกเผยแพร่กระจายออกไปให้มาก

ส่วนอีกงานซึ่งเป็นเรื่องใหญ่คือเรื่องของขยะอาหารซึ่งผมคิดว่าสังคมเริ่มตระหนักเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร จนเกิดปัญหาขยะเหลือทิ้งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลายคนไม่ทราบว่าขยะอาหารนั้นนำไปสู่การเกิดก๊าซมีเทนที่ก่อผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน

เช่นเดียวกันหากเราไม่ช่วยกันจัดการกับขยะอาหารมันก็จะก่อปัญหาแบบเดียวกับขยะพลาสติก ขยะอิเลคทรอนิกส์ แต่น่าเสียดายเรื่องนี้มีเพียงห้างโลตัสรายเดียวที่ขับเคลื่อนเรื่องขยะอาหาร ขณะที่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของคนยุโรปถึงขนาดมีการออกกฏหมายจัดการกับขยะอาหาร ขณะที่บ้านเรายังมีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย ในส่วนของเครือซีพีเองที่เห็นก็มีเพียงซีพีแรมที่ออกมาจับเรื่องนี้ แต่ก็เป็นกิจกรรมที่เน้นการรณรงค์ส่งเสริมชักชวนให้คนหนุ่มสาวตามมหาวิทยาลัยมาทำคลิปประกวดเพื่อชวนคนไทยให้คำนึงถึงการทานอาหารที่เหลือทิ้ง

ในฐานะที่ซีพีเราเป็นส่วนสำคัญของการผลิตอาหาร การจำหน่ายอาหาร แน่นอนว่าเราอาจมีส่วนต่อปัญหาขยะอาหาร ซึ่งผมก็อยากจะฝากชาวซีพีที่เกี่ยวข้องเพิ่มน้ำหนักในเรื่องการจัดการขยะอาหาร เช่นเดียวกับขยะรูปแบบอื่นๆ
ครับทั้ง 2 งาน 2 เรื่อง 2 เหตุการณ์ที่ผมเล่ามาสะท้อนให้เห็นว่าสังคมกำลังตื่นตัว ให้ความสนใจและหาทางที่จะแก้ปัญหา

ผมคิดว่าเครือฯเป็นองค์กรใหญ่ที่สังคมคาดหวังว่าเราจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับปัญหาขยะมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราพยายามทำอาจกลายเป็นเรื่องเสียหายย้อนกลับมาหาเรา อย่างกรณีที่NGO บอกว่าเราเป็น1ใน5อันดับต้นที่ก่อปัญหาขยะ

ผมอยากจะเสนอว่าโครงการพอใจวันเดียว โครงการด้านสังคม ผลงานนวัตกรรมที่พวกเรากำลังทำกันอยู่น่าจะให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการแก้ปัญหาขยะให้เป็นเรื่องสำคัญ เปลี่ยนวิกฤตขยะมาเป็นโอกาส สร้างธุรกิจจากขยะ การคิดนวัตกรรมจัดการกับขยะ ทั้งการใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลกนะครับ