EEC ฟื้น 3 ปีหลังโควิด ธุรกิจใหม่พาเหรดลงทุน 3 จังหวัด

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : Eastern Economic Corridor (EEC) ที่ประกอบไปด้วยเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลผลักดันในการดึงดูดการลงทุนอย่างมาก และมีเป้าหมายว่าพื้นที่ดังกล่าวนี้จะเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น

ด้วยผลพวงจากการขับเคลื่อนนโยบายอีอีซีใน 4 ปีที่ผ่านมา น่าจะทำให้เกิดการขยายการจัดตั้งธุรกิจใน 3 จังหวัดตามไปด้วย แต่ทว่าสถานการณ์กลับพลิกผันกลับมาเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ “โควิด-19” เสียก่อนทำให้การลงทุนชะลอตัวลง (ตาราง)

โควิดทุบยอดตั้งธุรกิจใหม่

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า หากเทียบช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และก่อนเกิดสถานการณ์โควิด พบว่ายอดการเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่ EEC 11 เดือนแรกของปี 2563 มีผู้ประกอบการ นักลงทุนเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 5,745 ราย ทุนจดทะเบียน 16,574 ล้านบาท

เมื่อดูการจดทะเบียนทั้งปี 2563 อยู่ที่ 6,104 ราย มีทุนจดทะเบียน 17,533 ล้านบาท เทียบกับตอนที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 มีจำนวน 6,885 ราย ทุนจดทะเบียน 25,381 ล้านบาท เมื่อดูการจดทะเบียนทั้งปี 2562 อยู่ที่ 7,254 ราย มีทุนจดทะเบียน 26,972 ล้านบาท

ซึ่งจะเห็นว่าก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การจดทะเบียนตั้งธุรกิจในพื้นที่ EEC มีการเติบโตทั้งผู้ประกอบการและมูลค่าการจดทะเบียน แต่เมื่อมีโควิดเข้ามา ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุน ช็อกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่เคยเจอกับสถานการณ์นี้มาก่อน และยังไม่รู้จะมีการรับมืออย่างไร ส่งผลให้หลายประเทศต้องหันไปติดตามและวางแผนการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การลงทุนธุรกิจชะลอตัวไปบ้าง

แต่เมื่อปัจจุบันทุกคนได้เรียนรู้และผ่านประสบการณ์ของโควิด-19 มาบ้างแล้ว ทำให้พร้อมที่จะรับมือและแผนการที่จะทำธุรกิจชะลอไว้ก็เริ่มเดินหน้ากันมากขึ้น

ปี’65 นักลงทุนฟื้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสถานการณ์ในช่วง 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2565 มีผู้ประกอบการและนักลงทุนเข้าไปจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ในเขต EEC รวม 7,619 ราย ทุนจดทะเบียน 32,730.51 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 จำนวน 6,279 ราย เติบโตเพิ่มขึ้นคิดเป็น 21.34% และมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 18,180.81 ล้านบาท คิดเป็น 80.03% โดย 73.12% เป็นการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในจังหวัดชลบุรี 5,571 ราย

สะท้อนว่าภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลายขึ้น ทำให้หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการและกระตุ้นเศรษฐกิจ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่ EEC ได้กลับมาเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามาก

รอลุ้นเลขาฯอีอีซี

หลังจากนี้ ต้องรอลุ้นการตั้งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาฯ EEC) คนใหม่ ที่จะมาแทน นายคณิศ แสงสุพรรณ ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ได้พิจารณาวาระลับผลการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหาที่ได้เสนอชื่อ “นายจุฬา สุขมานพ” ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม มาเป็นแม่ทัพคนใหม่ในการขับเคลื่อนอีอีซี

แนวโน้มปี’66

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมได้วิเคราะห์การจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ที่สำคัญนั้น เช่น ภาคการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกมีมูลค่า 8,325,090.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.67% จากปี 2564 ประกอบกับสถานการณ์ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง

ทศพล ทังสุบุตร
ทศพล ทังสุบุตร

เนื่องจากความกังวลทางด้านสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสถานการณ์เงินเฟ้อ และการขับเคลื่อนแผนการลงทุนระยะที่ 2 ของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้คาดการณ์ว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในพื้นที่ EEC ทั้งปี 2565 อยู่ที่ 7,800-8,000 ราย และในปี 2566 ปัจจัยต่าง ๆ นี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญหากยังคงเดินหน้าต่อ ไม่มีผลกระทบอื่นที่เข้ามากดดัน เชื่อว่าการจดทะเบียนธุรกิจยังมีการเติบโตต่อเนื่อง

นิติบุคคลรอด 8 หมื่นราย

สำหรับสถานะการประกอบธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีนิติบุคคลที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 จำนวน 80,501 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1,568,365.98 ล้านบาท แบ่งเป็น จ.ชลบุรี 58,192 ราย (คิดเป็น 72.29%) จ.ระยอง 15,452 ราย (คิดเป็น 19.19%) และ จ.ฉะเชิงเทรา 6,857 ราย (คิดเป็น 8.52%)

ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ คิดเป็น 60.65% รองลงมาคือการขายส่งขายปลีก คิดเป็น 24.57% และการผลิต คิดเป็น 14.70%

โดยธุรกิจที่ยังดำเนินกิจการอยู่ที่มีจำนวนสูงสุด 3 อันดับ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ การผลิต (1) ธุรกิจกลึงกัดไสโลหะ 654 ราย มีรายได้ 12,058.24 ล้านบาท (2) ธุรกิจติดตั้งเครื่องจักรอุตสาหกรรมและอุปกรณ์ 418 ราย มีรายได้ 7,284.24 ล้านบาท และ (3) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ 494 ราย มีรายได้ 710,526.97 ล้านบาท

ขายส่ง/ปลีก (1) ธุรกิจขายส่งเครื่องจักรอื่น ๆ 1,160 ราย มีรายได้ 22,795.12 ล้านบาท (2) ธุรกิจขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม 890 ราย มีรายได้ 15,084.38 ล้านบาท และ (3) ธุรกิจขายปลีกวัสดุก่อสร้าง 746 ราย มีรายได้ 35,567.69 ล้านบาท บริการ (1) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 10,742 ราย มีรายได้ 45,678.56 ล้านบาท (2) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 3,067 ราย มีรายได้ 48,721.27 ล้านบาท และ (3) ธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคารและร้านอาหาร 1,183 ราย มีรายได้ 3,667.12 ล้านบาท

การจัดตั้งธุรกิจ EEC

ญี่ปุ่นแชมป์ลงทุน

ทั้งนี้ จากการเข้ามาลงทุน มีการถือหุ้นของต่างชาติในนิติบุคคลไทยคิดเป็น 55.05% ของทุนทั้งหมด โดยสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 45.71% รองลงมาคือจีน มีสัดส่วนคิดเป็น 13.84% และสิงคโปร์มีสัดส่วนคิดเป็น 5.60% โดยมีการลงทุนในจังหวัดระยองสูงสุด คิดเป็น 51.85%

เมื่อสำรวจลงไปพบว่านักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในอีอีซี อันดับแรก คือ นักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่น ประเภทลงทุนแบ่งเป็น 1.การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ สำหรับยานยนต์ มูลค่า 79,718.05 ล้านบาท 2. ผลิตอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม มูลค่า 38,387.31 ล้านบาท 3.ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่า 31,797.31 ล้านบาท

รองลงมาเป็นนักลงทุนสัญชาติจีน ในประเภทการลงทุน 1.ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่า 18,364.40 ล้านบาท 2.ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ สาหรับยานยนต์ มูลค่า 10,811.00 ล้านบาท 3.การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า มูลค่า 10,440.14 ล้านบาท และสัญชาติสิงคโปร์ ในประเภทธุรกิจ คือ 1.ผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มูลค่า 10,691.38 ล้านบาท 2.ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่า 6,920.98 ล้านบาท 3.ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ มูลค่า 3,208.08 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามองว่าแม้จะมีปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ แต่ยังมองเห็นอนาคตการเข้ามาลงทุนที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องจับตานโยบายใหม่ EEC ว่าจะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้มากน้อยเพียงใด

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ