นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอใน EEC สะท้อนความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรชั้นนำของโลก

เปิดภาพนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมฯ WHA ใน EEC

นายกฯ ตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชมรถยนต์ต้นแบบ EV ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จ.ชลบุรี พร้อมรับข้อเสนอพัฒนา EEC 6 ข้อ พร้อมดัน EV ต่อเนื่อง ย้ำอีก 2 เดือนจะมาติดตามความก้าวหน้า EEC อีกครั้ง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ณ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE2) อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจเยี่ยมด้วย โดยคณะผู้บริหารบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำเยี่ยมชมและบรรยายสรุปเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

นายกรัฐมนตรีและคณะรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม WHA ESIES2 ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนอุตสาหกรรม มีที่ตั้งห่างจากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและศรีราชา 25 กิโลเมตร อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่เหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มยานยนต์ โลหะภัณฑ์ พลาสติกและโพลิเมอร์ เป็นต้น และมีโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า รวมทั้งบริการออกแบบและพัฒนาโรงงานสำเร็จรูปสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า นับได้ว่าปัจจุบันมียอดจำหน่ายอย่างก้าวกระโดด โดยมีปัจจัยสำคัญจากรถยนต์มีคุณสมบัติที่สูงขึ้น วิ่งได้ระยะทางไกลมากขึ้น และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นับเป็นพื้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในอาเซียน ทั้งในด้านคมนาคม แรงงาน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของนักลงทุน

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมฯ WHA ใน EEC

รวมทั้งนายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 และมีการขยายการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งการผลิตรถยนต์สันดาปภายในและเครื่องยนต์ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ Hybrid EV, Plug-in Hybrid EV และ Battery EV และแบตเตอรี่ และการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า โดยการลงทุนทั้งในส่วนการผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่และการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวมทั้งสิ้น 6 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 14,760 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดโรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ HASCO-CP BATTERY SHOP

“เศรษฐา” ลงพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดรับ 6 ข้อเสนอ “WHA” พัฒนา “EEC”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟัง 6 ข้อเสนอ เพื่อพิจารณาเพื่อช่วยสนับสนุน การประกอบธุรกิจ และพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใน EEC ได้แก่

  1. การกำหนดสัดส่วนการใช้ประโยชน์ ที่ดินสำหรับพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 10 ถึง 15 ในผังเมืองรวมชุมชน ใน EEC ให้สามารถจัดสรรที่ดิน เพื่ออุตสาหกรรม ภายใต้ พรบ.กนอ. ได้
  2. ปรับปรุงขั้นตอนและลดระยะเวลาในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) บนมาตรฐานการพิจารณาที่รัดกุมเช่นเดิม
  3. การปรับระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสาธารณะประโยชน์ ตาม พรบ.กนอ. ให้มีความกระชับมากขึ้น
  4. การจัดสรรน้ำดิบให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงในอนาคต
  5. การเพิ่มแนวทางให้ผู้พัฒนานิคมสามารถจัดหาพลังงานหมุนเวียน 100% ให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ ได้มากขึ้น
  6. ขอให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขา EEC ผู้ว่า กนอ. สมาคมนิคมอุตสาหกรรม และผู้พัฒนานิคม เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยกำหนดแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริม สนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้พัฒนานิคมและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมใน EEC ในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ อาทิ ดูแลเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำนิคมอุตสาหกรรม การจัดการระบบน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และ Renewable Energy

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าข้อเสนอทั้ง 6 ข้อที่เสนอมานั้นสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนรถยนต์ EV เพราะสอดคล้องกับทิศทางโลกที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน พร้อมทั้งเป็นการสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) โดยจะให้เงินอุดหนุนแก่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นที่น่าพอใจของนักลงทุนต่างประเทศทุกคน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีข้อเสนอดังนี้

  1.  ขอให้เร่งการผลิตรถไฟฟ้าโดยเร็วเพื่อให้ไทยไปสู่ Carbon Neutrality ให้ได้
  2.  พัฒนาห่วงโซ่ของการผลิต supply chain ทั้งหมด
  3. เรื่องแบตเตอรี่ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ดังนั้นเรื่องการ reuse และรีไซเคิลแบตเตอรี่ และการทำลาย ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้ต่อยอดรัฐบาลที่แล้ว ในเรื่องของการที่ผลักดันให้รถ EV เข้ามาเปิดในประเทศไทย โดยรัฐบาลนี้ก็จะทำต่อและขยายผลต่อไป และจากการที่ได้เดินทางไปต่างประเทศก็ได้มีการพูดคุยกับทางภาคเอกชนและรัฐบาล เพื่อให้ต่างประเทศมีความเข้าใจว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศ ไม่มีเวลาไหนที่ดีเท่าเวลานี้อีกแล้ว ที่จะให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในที่นี่

สำหรับข้อเสนอในข้อที่ 6 เรื่องการตั้งคณะอนุกรรมการนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงที่เดินทางโดยรถไฟมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับฟังปัญหาต่าง ๆ ทำให้พบค้นพบปัญหาที่เกิดขึ้นหลายประเด็น แต่ปัญหาก็แฝงด้วยศักยภาพหากสามารถแก้ไขปัญหาได้ จะเป็นการ Unlock ทรัพย์สินของประเทศชาติ ให้เพิ่มมูลค่าสูงขึ้นอย่างมโหฬาร ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า EEC เป็น Concept และเศรษฐกิจที่ดี และมีองค์กรที่แข็งแกร่ง ทั้งบีโอไอ  และ EEC โดยเลขาบีโอไอและเลขา EEC ก็เป็นคนที่มีความสามารถ และตั้งใจจริงในการที่จะพัฒนาประเทศให้สูงไปสู่อีกระดับหนึ่งได้ อย่างไรก็ตาม การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวตามที่ WHA เสนอนั้น เราไม่ต้องการให้เป็นคณะกรรมการคณะใหญ่ เพราะเวลาเชิญประชุมก็จะเสียเวลาเป็นเดือน วันนี้นายกรัฐมนตรีจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น คือ East look of doing Business in EEC ซึ่งฝ่ายสื่อสารจะไปพิจารณาชื่อที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน รวมทั้งมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม  มี 2 เลขา และอธิบดีกรมการขนส่งทางราง  ส่วนข้อเสนอในข้ออื่น ๆ ของ WHA ทั้งปัญหาเรื่อง EIA  ผังเมือง ตลอดจนเรื่องของรางน้ำและท่อน้ำต่าง ๆ นั้น รัฐบาลตระหนักดีและจะพยายามช่วยเหลือให้เร็วกว่า 5 ปี รวมไปถึงเรื่องของน้ำ รัฐบาลนี้ก็ให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งภาคเกษตรกรรมถือเป็นภาคใหญ่ของประเทศไทย จึงไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องน้ำระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำและการเตรียมแหล่งน้ำนั้นยืนยันว่ามีน้ำเพียงพอในการพัฒนาแหล่งอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่าอีก 2 เดือนจะมาติดตามความก้าวหน้าของ EEC อีกครั้ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชมรถยนต์ต้นแบบไฟฟ้าพร้อมเซ็นชื่อบนรถยนต์ต้นแบบดังกล่าวและ แบตเตอรี่ ด้วย

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมฯ WHA ใน EEC

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมฯ WHA ใน EEC

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมฯ WHA ใน EEC

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมฯ WHA ใน EEC

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมฯ WHA ใน EEC