ก.อุตฯ เร่งเครื่องพัฒนารถ EV พร้อมดันใช้มาตรฐานยูโร 6 เร็วขึ้นยกระดับส่งออก

ภาพโดย Mikes-Photography จาก Pixabay

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าควบคู่ไปกับผลักดันการใช้มาตรฐานยูโร 6 ในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เร็วขึ้น สอดรับกับเทรนด์ตลาดโลก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฝุ่น PM 2.5 พร้อมก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ชี้หากประเทศไทยไม่เร่งปรับตัวอย่างจริงจังอาจสูญเสียโอกาสในการเป็นฐานการผลิต 10 อันดับแรกในตลาดโลกและอันดับ 1 ในอาเซียนได้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับผลักดันยานยนต์ที่มีมาตรฐานการปล่อยมลพิษตามมาตรฐานยูโร 6 (EURO 6) ให้เร็วขึ้น เพื่อยกระดับการส่งออกและการผลิตตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ซึ่งประเทศชั้นนำส่วนใหญ่ในตลาดโลกได้ปรับตัวใช้มาตรฐานยูโร 6 แล้ว เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และ จีน

ดังนั้น อก. จึงมีนโยบายเร่งผลักดันอุตสาหกรรมให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์สมัยใหม่ที่สอดรับกับเทรนด์ตลาดโลก และเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ลดอัตราการเจ็บป่วย ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตลอดจนเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเจตนารมณ์ที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งสอดรับกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ที่มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพการผลิตให้เป็นมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกได้อย่างยั่งยืน

“การก้าวข้ามการพัฒนามาตรฐานการปล่อยมลพิษจากยูโร 4 ไปสู่ยูโร 6 ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในหลากหลายมิติ ทั้งการสร้างความเชื่อมั่น การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและพลังงานสะอาด ช่วยสนับสนุนการจ้างงานภายในประเทศ สร้างแต้มต่อในการเป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกรถยนต์ในภูมิภาค ซึ่งหากประเทศไทยไม่เร่งปรับตัวอย่างจริงจังอาจสูญเสียโอกาสในการเป็นฐานการผลิต 10 อันดับแรกในตลาดโลก และอันดับ 1 ในอาเซียนได้ ดังเช่นเวียดนามที่มีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า VINFAST รวมทั้งประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุนในประเทศ และพยายามแย่งชิงโอกาสในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในภูมิภาค หากประเทศไทยไม่ปรับตัว อาจสูญเสียตลาดส่งออกรถยนต์ที่มีการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษที่สูงกว่า และในระยะยาวอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตยานยนต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ประมาณ 650,000 คน” นายสุริยะ กล่าว

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ประเทศไทยควรเร่งส่งเสริมการพัฒนาทั้งรถยนต์ไฟฟ้าควบคู่ไปกับรถยนต์มาตรฐานยูโร 6 เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ตลาดโลก โดยตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์มาตรฐานยูโร 6 มีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลที่หลายประเทศให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่สะอาด และลดมลพิษ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์สมัยใหม่ ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ลดการปล่อยมลพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค จำเป็นต้องผลักดันนโยบาย เพื่อดึงดูดบริษัทชั้นนำในการผลิตรถยนต์ระดับโลกเข้ามาลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น การผลักดันมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ทั้งจากค่ายรถยนต์สัญชาติยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน

โดยคาดว่าจากนี้ไปอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 คนต่อปี ภายในปี 2573 ขณะเดียวกัน การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์สมัยใหม่ ยังเป็นการต่อยอดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ จะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัว และอุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์มาตรฐานยูโร 6 ภายในประเทศ และส่งออก มีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยรถยนต์มาตรฐานยูโร 6 มีการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ และส่งออกประมาณ 40,000 คัน/ปี และในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เป็นหลัก ใน 10 เดือนแรกของปี 2565 มียอดการจดทะเบียนรถ BEV ประมาณ 15,423 คัน และคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมียอดการใช้รถ BEV เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 คัน ซึ่งเป็นผลจากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล เอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์