IEA มองวิกฤตพลังงานยังเลวร้ายลงได้อีก ชี้การเร่งเข้าหาพลังงานสะอาดจะเป็นทางรอด

อุปทานของพลังงานที่ขาดแคลน ส่งผลให้ราคาไฟฟ้าและน้ำมันพุ่งขึ้นมาก่อนหน้านี้ อาจจะแย่ลงไปอีกจากการประเมินขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

Fatih Birol ผู้อำนวยการของ IEA กล่าวว่า “โลกของเราไม่เคยเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานครั้งใหญ่ ที่มีทั้งปัญหาฝังรากลึกและซับซ้อนอย่างมาก ทำให้เราอาจจะยังไม่ได้เผชิญกับจุดแย่สุดของวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งจะกระทบต่อทุกประเทศในโลก”

ระบบพลังงานของโลกเผชิญกับความยุ่งเหยิง หลังจากที่รัสเซียบุกรุกเข้าไปในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาที่พุ่งขึ้นส่งผลให้ต้นทุนแก๊ส พลังงานความร้อนในบ้าน และต้นทุนไฟฟ้าของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ยังถูกกดดันจากเรื่องของเงินเฟ้อ จนนำไปสู่การประท้วงที่รุนแรงในแอฟริกาและศรีลังกา

เหมือนอย่างวิกฤตน้ำมันในยุค 1970 เร่งให้รัฐบาลต่างๆ หันมาสนใจการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น และในครั้งนี้เราก็ได้เห็นทั่วโลกเร่งปรับตัวเข้าสู่พลังงานสะอาด แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่ดูแลด้านอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันจะยังต้องเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะในยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ

“ฤดูหนาวที่จะมาเยือนปลายปีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากสำหรับยุโรป นี่เป็นความกังวลหลัก และอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง”

ขณะที่ Jennifer Granholm รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ กล่าวว่า การคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรกดดันให้ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ต้องมองหาแหล่งส่งออกใหม่ และหาทางลดการพึ่งพิงรายได้จากน้ำมัน

“การวิ่งไปสู่พลังงานจะเป็นแผนที่ยอดเยี่ยมของพวกเรา เราต้องการและจำเป็นต้องไปสู่จุดนั้น”

ขณะที่จีนพัฒนาเทคโนโลยีและห่วงโซ่อุปทานของตัวเองอย่างก้าวกระโดด และมันอาจทำให้เราอ่อนแอลง หากเราไม่พยายามที่จะพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง

จีนควบคุมห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 80% ของทั้งโลก และจะเพิ่มขึ้นเป็น 95% ในปี 2025 อิงข้อมูลจาก IEA โดยจีนควบคุมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับลิเทียมไอออนได้เกือบหมด และเป็นผู้ผลิตพลังงานลมรายใหญ่ รวมทั้งกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนสะอาด

ด้าน Martin Green อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย University of New South Wales กล่าวว่า “การสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานของพลังงานสะอาด จะช่วยให้เราสามารถปกป้องผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งถัดไป เราไม่สามารถรีรอได้อีกแล้ว”

 

อ้างอิง:

ที่มา THE STANDARD