นักวิจัยค้นพบว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้อย่างไร

ชาร์ลส์ สวอนตัน นักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบัน Francis Crick Institute ในสหราชอาณาจักร รายงานผลการวิจัยที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ ที่งานประชุมประจำปี European Society for Medical Oncology ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ค้นพบว่ามลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้อย่างไร

มลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยที่หลายคนเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเราไม่ทราบจริงๆ ว่ามลพิษนั้นก่อให้เกิดมะเร็งปอดโดยตรงหรือไม่ หรืออย่างไร

โดยทั่วไปแล้วมีความเชื่อที่ว่า การสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง และมลภาวะต่างๆ อาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของ DNA และกลายเป็นมะเร็งร้ายในท้ายที่สุด ซึ่งสวอนตันชี้ว่า งานวิจัยก่อนหน้านี้บ่งชี้ให้เห็นว่า การกลายพันธุ์ของ DNA สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และสารก่อมะเร็งส่วนใหญ่ในสิ่งแวดล้อมเองก็ไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ งานวิจัยของสวอนตันจึงนำเสนอรูปแบบวิธีการที่ต่างออกไป

โดยทีมวิจัยของ Francis Crick Institute ที่ร่วมมือกับ University College London วิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพของผู้คนมากกว่า 4.6 แสนคนในอังกฤษ เกาหลีใต้ และไต้หวัน พบว่า การสัมผัสกับอนุภาคของฝุ่นละอองหรือมลภาวะขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งมีขนาดน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร (ไมครอน) เพิ่มระดับความเสี่ยงของการกลายพันธ์ุในยีนตัวรับอย่าง EGFR

ในการศึกษาในห้องปฏิบัติการกับหนู ชี้ว่า อนุภาคดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยีน EGFR เช่นเดียวกันกับยีนอีกชนิดหนึ่งอย่างยีน KRAS ซึ่งทั้งสองยีนมีความเกี่ยวพันกับการเกิดโรคมะเร็งปอด

ก่อนที่ทีมวิจัยจะวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดของมนุษย์เกือบ 250 ตัวอย่าง ที่ไม่เคยสัมผัสกับสารก่อมะเร็งจากการสูบบุหรี่หรือมลพิษทางอากาศที่รุนแรงเลย แม้พวกเขาจะมีสุขภาพปอดที่ดีมาก แต่ก็พบว่าในจำนวนกลุ่มตัวอย่างนี้ พบการกลายพันธ์ุของยีน EGFR 18% และพบการกลายพันธ์ุของยีน KRAS มากถึง 33%

สวอนตันยังเผยอีกว่า ดูเหมือนว่าการกลายพันธ์ุเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุ แม้ว่าด้วยตัวยีนเองอาจจะไม่มีความสามารถมากพอในการกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง หากแต่เมื่อยีนดังกล่าวได้สัมผัสกับฝุ่นละอองหรือมลพิษทางอากาศ ก็จะยิ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองและการอักเสบขึ้นได้ ถ้าเซลล์นั้นเกิดการกลายพันธ์ุ ก็จะกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด

ขณะที่การทดลองอื่นในหนู นักวิจัยพบว่า แอนติบอดีสามารถปิดกั้นการทำงานของตัวกลางที่เรียกว่า ‘Interleukin 1 Beta’ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและหยุดโอกาสการเกิดมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สวอนตันหวังว่า งานวิจัยของพวกเขาในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการหาแนวทางป้องกันการเกิดโรคมะเร็งในระดับโมเลกุลได้ ซึ่งอาจนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นยาเม็ดป้องกันโรคมะเร็งได้ในอนาคต

สวอนตันมองว่า มลภาวะหรือมลพิษทางอากาศเป็นภัยร้ายที่แอบแฝงอยู่รอบตัวมนุษย์ จากงานวิจัยคาดการณ์ว่า สิ่งนี้เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของผู้คนมากกว่า 8 ล้านรายต่อปี เกือบจะเท่ากับจำนวนของผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในแต่ละปี ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งชี้ว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 เพียงสาเหตุเดียว นำไปสู่การเป็นมะเร็งปอดในผู้ป่วยกว่า 2.5 แสนรายต่อปี โดยอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล อาจถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลกอย่างจริงจังและเร่งด่วน

“คุณและผมอาจจะเลือกได้ว่าเราจะสูบบุหรี่หรือไม่สูบ แต่เราไม่สามารถเลือกอากาศที่เราหายใจได้

“อาจมีผู้คนที่กำลังมีปัญหาสุขภาพเนื่องจากมลพิษมากกว่าใบยาสูบถึง 5 เท่า คุณจะเห็นว่านี่คือประเด็นปัญหาสำคัญระดับโลก

“เราจะจัดการกับสิ่งนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างคุณภาพของสภาพภูมิอากาศและสุขภาพของมนุษย์”

 

อ้างอิง:

ที่มา THE STANDARD