โพลหอการค้า ชี้ Gen Y-Z กระหน่ำช้อปออนไลน์ คาดมูลค่าปีนี้แตะ 9 แสนลบ.

วชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ Digital Marketing และ Digital Economy แรงกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการสำรวจพฤติกรรมการรับรู้และทัศนคติของประชาชนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 1,227 ตัวอย่างทั่วประเทศ

ผลการสำรวจพบว่า มูลค่าการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม ปี 66 คาดจะอยู่ที่ 894,564 ล้านบาท จากจำนวนคนที่คาดจะซื้อทางออนไลน์ 50.2 ล้านคน โดยแต่ละคน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย1,485 บาท/ครั้ง/เดือน

สำหรับกลุ่มคนที่ซื้อสินค้าหรือบริการผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์มมากที่สุด คือ Gen Z อายุ 10-24 ปี สัดส่วนสูงถึง 92.0% ตามด้วยกลุ่ม Gen Y อายุ 25-39 ปี สัดส่วน 78.6%, กลุ่ม Gen X อายุ 40-54 ปี สัดส่วน 66.7% และกลุ่ม Baby Boomer อายุ 55-72 ปี สัดส่วน 24.4% สาเหตุที่เลือกซื้อของทางออนไลน์ เพราะมีสินค้าและบริการให้เลือกหลากหลาย ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม มีระบบป้องกันและรักษาข้อมูลของผู้ซื้อ มีโปรโมชันและส่งเสริมการขาย เป็นต้น

ส่วนความถี่ในการซื้อของออนไลน์ กลุ่ม GenY และ Z มักซื้อเป็นประจำทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะกดดูสินค้าไปเรื่อยๆ ชอบอะไรก็ซื้อ และซื้อของราคาไม่แพงมาก หลักร้อยบาท แต่กลุ่ม Gen X 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และกลุ่ม Baby Boomer มักนานๆ ครั้ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1,485 บาท/ครั้ง/เดือน โดยการชำระเงิน ทุก Gen นิยมชำระทางแอปฯ ของธนาคาร บริการชำระเงินออนไลน์ เช่น PayPal, Google Pay, ATM และเคาน์เตอร์ธนาคาร ส่วนกลุ่ม Baby Boomer ส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นเงินสดแบบเก็บเงินปลายทาง

เมื่อถามถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล พบว่า โดยเฉลี่ยคนไทยใช้ระยะเวลาในสื่อสังคมออนไลน์ 7 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบมากถึง 48.9% ระบุว่า มีความเสียหายจากภัยคุกคาม หรือการล่อลวงทางการเงินออนไลน์ ส่วนอีก 40.5% ระบุเสียหายปานกลางถึงน้อย และอีก 10.6% ไม่สร้างความเสียหายเลย

โดยแนวทางในการรับมือภัยคุกคามทางการเงินออนไลน์ คือ งดหรือหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่เสี่ยงต่อภัยคุกคามทางการเงิน เช่น กดลิงก์แปลกปลอม, ตรวจสอบข้อมูลละเอียดก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง รักษาข้อมูลส่วนตัว, ติดตามข่าวสาร เพื่อให้รู้เท่าทันกลโกง, ทำธุรกรรมการเงินผ่านออนไลน์เท่าที่จำเป็น

เมื่อถามถึงการติดตามข่าวสารทางการเมืองของประชาชน ส่วนใหญ่ใช้โซเชียลมีเดียในการติดตามข่าว ตามด้วยโทรทัศน์/วิทยุ, เว็บไซต์, หนังสือพิมพ์ และข้อความ SMS นอกจากนี้ คนทุกกลุ่ม บอกว่าข่าวสารพรรคการเมืองจากสื่อออนไลน์ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 13% ของ GDP ที่มีมูลค่าประมาณ 16 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นมูลค่าตลาดของดิจิทัล แพลตฟอร์มถึง 900,000 ล้านบาท ถือว่า มูลค่าตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังมีโอกาสเป็นสตาร์ หรือขยายตัวได้อีกมากในอนาคต เพียงแต่ปัจจุบัน นโยบายของรัฐในส่งเสริม และผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลยังไม่มากนัก ถ้ามีมากกว่านี้ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยโดดเด่นมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์