14 ประเทศห้ามส่งออกอาหาร ดร. สุวิทย์ เตือนไทยรับมือวิกฤต

ภาพโดย Nile จาก Pixabay

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” เตือนวิกฤตอาหารโลก Global Food Crisis หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน สถาบัน Peterson Institute for International Economics เผย 14 ประเทศที่มีนโยบายห้ามส่งออกอาหาร มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหารเฉพาะตัว “Food Protectionism”

เฟซบุ๊ก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุถึงสถานการณ์วิกฤตอาหารโลกที่กำลังรุนแรงขึ้น โดยได้รวบรวมจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อาทิ สถาบัน Peterson Institute for International Economics หรือ PIIE ที่ระบุว่า ปัจจุบันมีประเทศที่มีนโยบายห้ามส่งออกอาหาร 14 ประเทศ ได้แก่

1.อาร์เจนตินา ห้ามส่งออก น้ำมันถั่วเหลือง, กากถั่วเหลือง สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565และอาร์เจนตินา ยังเป็นผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก จำกัดการส่งออกเนื้อวัว ยาวจนถึงปี 2566

2.แอลจีเรีย ห้ามส่งออกพาสต้า, เมล็ดข้าวสาลี, น้ำมันพืช, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565

3.อียิปต์ ห้ามส่งออกน้ำมันพืช, ข้าวโพด สิ้นสุดวันที่ 12 มิถุนายน 2565 และข้าวสาลี, แป้งสาลี, น้ำมันพืช, ถั่วเลนทิล, พาสต้า, ถั่ว สิ้นสุดวันที่ 10 มิถุนายน 2565

4.อินโดนีเซีย ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม, น้ำมันปาล์มจากเมล็ดปาล์ม สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565

5.อิหร่าน ห้ามส่งออก มันฝรั่ง, มะเขือม่วง, มะเขือเทศ, หัวหอม สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565

6.คาซัคสถาน ห้ามส่งออก ข้าวสาลี, แป้งสาลี สิ้นสุดวันที่ 15 มิถุนายน. 2565

7.โคโซโว ห้ามส่งออก ข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้งสาลี, น้ำมันพืช, เกลือ, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565

8.ตุรกี ห้ามส่งออก เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนย, น้ำมันประกอบอาหาร สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565

9.ยูเครน ห้ามส่งออก ข้าวสาลี, ข้าวโอ๊ต, ข้างฟ่าง, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565

10.รัสเซีย ห้ามส่งออก น้ำตาล, เมล็ดทานตะวัน สิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2565 และข้าวสาลี, แป้งเมสลิน, ข้าวไรย์, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโพด สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565

11.เซอร์เบีย ห้ามส่งออกข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้งสาลี, น้ำมันพืช สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565

12.ตูนิเซีย ห้ามส่งออกผัก, ผลไม้ สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565

13.คูเวต ห้ามส่งออกผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่, ธัญพืช, น้ำมันพืช สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565

14.อินเดีย ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี

โดย ดร.สุวิทย์ ระบุว่า ปัญหาปากท้อง ถือเป็นปัญหาต้น ๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพของชีวิตประชากร วิกฤตราคาอาหารแพงถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทั่วทั้งโลกต่างเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล ที่ส่อให้เห็นถึงวิกฤตราคาอาหารแพงทั่วโลก โดยจากรายงาน FAO ระบุว่าดัชนีราคาอาหาร (Food Price Index) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงรายเดือนของสินค้า อาหารและโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดทั่วโลก ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำตาล มีค่าเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 133.7 จากระดับ 134.9 เทียบกับเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเดือนที่ 4 ที่ดัชนีเพิ่มสูงขึ้น และยังเป็นระดับที่พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี

ซึ่งหากพิจารณารวมทั้งปี 2564 แล้วดัชนีที่ว่าจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 125.7 เพิ่มขึ้น 28.1% เทียบกับปี 2563 และถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่แตะระดับ 131.9 ในปี 2554 หรือ 10 ปีก่อน

โดยราคาในกลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากนม เป็นกลุ่มที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด ตามมาด้วยน้ำตาล ในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์และน้ำมันพืชในเดือนพฤศจิกายนลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

ในส่วนของปี 2565 FAO เผยว่าดัชนีราคาอาหารในเดือนมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 13% จากเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน และราคาอาหารพุ่งขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายน 2565 ตามดัชนีราคาอาหารของ FAO

วิกฤตอาหารส่งผลต่อประชาคมโลกอย่างไร

ราคาอาหารที่แพงขึ้นนำมาสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร (Food Insecurity) เมื่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตพุ่งสูงขึ้น เช่น ข้าว ขนมปัง เนื้อสัตว์ นม ไข่ นั่นแปลว่าประชาชนต้องหักส่วนรายได้เพื่อมาใช้จ่ายในส่วนนี้มากขึ้น สำหรับประเทศที่ค่าครองชีพมีความสอดคล้องกัน อาจส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อยประปราย แต่ในประเทศรายได้น้อยนั้นได้รับผลกระทบอย่างมาก

เพราะการซื้ออาหารคิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด จากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ผู้คน 10 ล้านคนถูกผลักให้เข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกสำหรับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ เปอร์เซ็นต์

การที่ราคาอาหารสูงขึ้น แต่ประชาชนยังมีรายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหาร และนำไปสู่ปัญหาความอดอยากและขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

เฉพาะในประเทศเอเชียแปซิฟิก FAO ระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารแพงและการขาดแคลนอาหารมากถึง 1,800 ล้านคน และยังมีคนเป็นโรคขาดสารอาหารที่เรียกกันว่า โรคผอมแห้ง มากถึง 40 ล้านคน เพิ่มจาก 31 ล้านคนเมื่อปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ระบุว่า นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดวิกฤตที่เรียกว่า The Great (Food) Shortage หรือภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ของโลก

และในหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ความไม่มั่นคงด้านอาหารเป็นสาเหตุของความไม่สงบทางสังคมและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงในศรีลังกา ตูนิเซีย และเปรู

นอกจากนี้ในประเทศร่ำรวยก็เจอผลกระทบเช่นกัน เช่น ชาวอังกฤษเกือบ 10 ล้านคนลดการบริโภคอาหารในเดือนเมษายน และฝรั่งเศสวางแผนที่จะออกคูปองอาหารให้กับครัวเรือนที่ยากจนที่สุด และอัตราเงินเฟ้อที่นำโดยราคาอาหารและพลังงานเป็นปัญหาการหาเสียงทางการเมืองของสหรัฐที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของที่นั่งในรัฐสภา

ในส่วนของประเทศไทยคงเห็นได้ชัดเจน จากทั้งราคาหมูที่เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 180 บาท เป็น 250 บาท และแตะ 300 บาทไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ ส่วนไก่ ปลา ผักสด ก็แพงขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้ร้านค้าจำนวนมากต้องติดป้ายขอขึ้นราคาอาหารเนื่องจากวัตถุดิบแพงขึ้นจนไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่ราคาขายแบบเดิมได้ ยังไม่รวมแก๊สหุงต้ม LPG ค่าโดยสารรถสาธารณะ ค่าทางด่วน ที่ขยับขึ้นราคาตามในขณะที่รายได้ประชาชนยังคงเท่าเดิม

สาเหตุของวิกฤตอาหารโลก

1. ผลพวงจากสงครามรัสเซีย–ยูเครน

สาเหตุที่ราคาอาหารทั่วโลกแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดมาจากราคาวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาใช้ประกอบอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวสาลีในเดือนมีนาคม 2565 ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 31% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2564 หรือจะเป็นราคาข้าวโพดที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 32% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาวัตถุดิบทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น คือผลพวงจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากทั้งสองประเทศถือเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อนำไปประกอบอาหารรายใหญ่ของโลก อาทิ ข้าวสาลี คิดเป็น 30% ของตลาดโลก น้ำมันพืชจากเมล็ดดอกทานตะวัน คิดเป็น 80% ของตลาดโลก ข้าวโพด คิดเป็น 19% ของตลาดโลก

การสู้รบที่เกิดขึ้น ทำให้การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่าง ๆ เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด ไม่สามารถทำได้ ซึ่ง FAO ระบุว่า สงครามจะทำให้พื้นที่การเกษตรของยูเครน 20-30% ไม่ได้รับการเพาะปลูกหรือไม่ได้รับการเก็บเกี่ยวในฤดูกาล 2565 อีกทั้งการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปขายต่างแดนผ่านท่าเรือในทะเลดำต้องหยุดชะงักลง จากการถูกเรือรบของรัสเซียปิดล้อม

ดังนั้นหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากรัสเซียและยูเครน อาทิ มองโกเลีย อาเมเนีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย ปากีสถาน ตุรกี จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

ซึ่งบางประเทศ อย่างเช่น เลบานอน ถึงขั้นต้องร้องขอความช่วยเหลือเงินกู้จากธนาคารโลกกว่า 150 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,800 ล้านบาท เพื่อนำมาอุดหนุนค่าอาหาร โดยเฉพาะขนมปังและธัญพืช ให้แก่ประชากรในประเทศ

โดยโครงการอาหารโลก (World Food Programme) ระบุว่า หากสงครามยังดำเนินต่อไป อาจนำไปสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง ประเทศต่าง ๆ จะค่อย ๆ ขาดเสถียรภาพและการอพยพ นำไปสู่วิกฤตอื่น ๆ ต่อไปอีก

2. ราคาปุ๋ยแพง

ขณะนี้เกิดปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยทั่วโลก นอกจากสินค้าเกษตรแพงแล้ว ราคาปุ๋ยซึ่งเป็นวัตุดิบสำคัญในการเพาะปลูกก็แพงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากภาวะสงครามในรัสเซียซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการทำปุ๋ยรายใหญ่ อาทิ โพแทชและซัลเฟต ส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งปุ๋ยดังกล่าวไปยังต่างประเทศ

อีกทั้งด้วยราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาปุ๋ยต้องปรับขึ้นตาม เนื่องจากก๊าซเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตแอมโมเนียในปุ๋ย

3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศในหลายประเทศแปรปรวนอย่างหนัก ดังนั้นการเพาะปลูกพืชทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศจึงเกิดความเสียหาย

หากย้อนดูข้อมูลดัชนีราคาอาหารโลกจะพบว่า ดัชนีราคาอาหารโลกนั้นเริ่มมีทิศทางเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ก่อนจะมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว

ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ในเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความแห้งแล้ง น้ำท่วม และไฟไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อถือได้ อย่างเช่น แคลิฟอร์เนียและยุโรปตอนใต้

ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้จำนวนผลผลิตตกต่ำลง และมีบางประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว เช่น อินเดีย ที่เผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตข้าวสาลีในปีนี้ลดลง รวมถึงจีน ที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของจีนได้ออกมาเตือนว่า ผลผลิตข้าวสาลีในฤดูหนาวของประเทศจะย่ำแย่ เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวสาลีได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่

นอกจากผลกระทบทางการเกษตรแล้ว ยังมีเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายในท่าเรือสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่บัลติมอร์ ไปจนถึงทะเลดำ ส่งผลให้การส่งออกหยุดชะงัด นำไปสู่ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น

Enock Chikava ผู้อำนวยการชั่วคราวด้านการพัฒนาการเกษตรของมูลนิธิ Bill & Melinda Gates กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรุนแรง จนทำให้ผลกระทบจากวิกฤตยูเครนที่มีต่อราคาอาหารนั้นเป็นเพียงแค่ระดับอนุบาล และเขายังกล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เราเห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแมลงศัตรูพืช ภัยแล้ง หรือความร้อนที่เพิ่มขึ้น นั่นเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียง 1 องศาเซลเซียสเท่านั้น และหากอุณหภูมิของโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปเช่นนี้ จนถึง 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส จะนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ธนาคารโลกเตือน “วิกฤตอาหารโลก” ยืดเยื้อถึงปี 2566

นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลกได้ออกมากล่าวระหว่างการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิ 2565 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกเมื่อวันพุธ (20 เม.ย.) ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบกลุ่มคนยากไร้มากที่สุด พร้อมเตือนว่า วิกฤตการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารครั้งนี้จะครอบคลุมระยะเวลาหลายเดือนและอาจจะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2566

โดยธนาคารโลกได้ประกาศแผนรับมือวิกฤตความมมั่นคงด้านอาหารโลก โดยจะอัดฉีดงบประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่โครงการในปัจจุบันและโครงการใหม่ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะครอบคลุมด้านเกษตรกรรม, โภชนาการ, การคุ้มครองทางสังคม, น้ำ และการชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดช่วง 15 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ งบประมาณดังกล่าวจะยังครอบคลุมการส่งเสริมการผลิตอาหารและปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบอาหาร สนับสนุนด้านการค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ผลิตกลุ่มที่เปราะบาง

โดยธนาคารโลกจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการจัดตั้งโครงการใหม่ ๆ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 15 เดือนข้างหน้า เพื่อรับมือวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ พยายามร่วมกันเพื่อเพิ่มปริมาณพลังงานและผลผลิตปุ๋ย ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มอัตราการเพาะปลูกและปริมาณผลผลิต รวมถึงยกเลิกนโยบายระงับการส่งออกและนำเข้า

วิกฤตอาหารโลกนำมาสู่ “Food Protectionism” ในหลายประเทศ

สงครามรัสเซีย-ยูเครน จุดชนวนผลกระทบเศรษฐกิจโลกหลายด้าน โดยเฉพาะแนวโน้ม “วิกฤตอาหารโลก” ที่เขย่าความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก จากการที่ทั้งสองประเทศหยุดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เรปซีดออยล์ และน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสำรองอาหารและพลังงานไว้เพื่อความมั่นคงในประเทศ

ซึ่งสินค้าธัญพืชเหล่านั้นเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในการเลี้ยงสัตว์และผลิตอาหาร และกำลังกลายเป็นกระแสผลักดันให้ประเทศผู้ผลิตอาหารออกนโยบาย “ห้ามส่งออก” ในแบบเดียวกัน เพื่อรักษาสมดุลอาหารเพื่อเลี้ยงคนในประเทศ รวม 14 ประเทศดังกล่าว

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า บรรดาผู้ซื้อข้าวสาลีทั่วโลกได้แห่ไปซื้อข้าวสาลีจากอินเดีย หลังจากที่การส่งออกข้าวสาลีจากเมืองท่าแถบทะเลดำลดลงตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีตลอดจนผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีในอินเดียพุ่งสูงถึง 15-20% หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุ

เช่นเดียวกับราคาข้าวสาลีในตลาดโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี ซึ่งไม่เพียงแต่จะกระทบต่อปัจจัยต้นทุนราคาอาหาร การห้ามส่งออกข้าวสาลีของอินเดียยังคาดว่าจะกระทบต่อต้นราคาอาหารสัตว์ให้มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

เห็นได้ว่านโยบายปกป้องตัวเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารเฉพาะตัว (Food Protectionism) เริ่มแพร่หลายไปในหลายประเทศแม้ไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามก็ตาม เพราะต่างตระหนักถึงผลกระทบทางตรงต่อนโยบายบริหารประเทศช่วงต่อจากนี้ไป คือภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะประเทศที่นำเข้าอาหาร เช่น แอฟริกา

เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกอาหารจะไม่สามารถหาวัตถุดิบมาสนับสนุนการผลิตได้เต็มประสิทธิภาพ หรือ หาได้ก็มีต้นทุนสูงมากจนทำให้ต้องปรับราคาให้สูงขึ้นด้วย ราคาสินค้าสูงก็จะผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามหลีกเลี่ยง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ