The Green Future Index 2021 ดัชนีอนาคตสีเขียวกับการจัดอันดับเศรษฐกิจ 76 ประเทศจากความก้าวหน้าและความมุ่งมั่นที่มีต่อการผลิตคาร์บอนต่ำในอนาคต

The Green Future Index ดัชนีอนาคตสีเขียว คือ โครงการวิจัยของสถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) ซึ่งได้วิจัยและวิเคราะห์ระดับทุติยภูมิในเชิงลึก พร้อมทั้งสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสีเขียว และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนการลดคาร์บอน

โดยเป็นการวัดระดับในประดับประเทศจำนวน 76 แห่งที่กำลังก้าวเข้าไปสู่อนาคตสีเขียวด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พัฒนาพลังงานสะอาด สร้างสรรค์นวัตกรรมในภาคส่วนสีเขียว และการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลในประเทศดังกล่าวมีการดำเนินนโยบายด้านสภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพ

นับตั้งแต่ข้อตกลงปารีสมีผลบังคับใช้ในปี 2559 กว่า 120 ประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาอย่างแข็งขันเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Carbon)  แต่จนถึงปัจจุบันดูเหมือนว่า ความคืบหน้ายังคงเป็นไปด้วยความล่าช้า ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินไหว ไฟป่า พายุ และน้ำท่วม ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 140 พันล้านดอลลาร์

ประเด็นที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้ก็คือ การที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะของโรคระบาดโควิด-19 ด้านหนึ่งทำให้เกิดความตระหนักเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพและที่อยู่อาศัยกับสภาพอากาศ สุขภาพของมนุษย์และความเจริญรุ่งเรืองของโลก  อีกด้านหนึ่งก็ได้สร้างสถานการณ์เฉพาะตัวที่ทำให้รัฐบาลสามารถมุ่งเน้นไปที่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และอุตสาหกรรม

ภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเด็นด้านสภาพแวดล้อมกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง ประการแรกแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมของมนุษย์สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้อย่างมาก จากการวิเคราะห์การผลิตไฟฟ้า การเดินทางทางอากาศ และข้อมูลการใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 พบว่าการปล่อย CO2 ทั่วโลกลดลงถึง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019

ประการที่สอง ผู้กำหนดนโยบายตระหนักถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะสามารถนำไปสู่การปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม และโครงการที่จะสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้

ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนี ซึ่งเป็น “ผู้นำด้านการพัฒนาประเทศสีเขียว” ของโลกกำลังสร้างการกระตุ้นการฟื้นฟูในประเทศด้วยการเปลี่ยนผ่านการขนส่ง การสร้างขีดความสามารถด้านพลังงานหมุนเวียน และโครงการอื่น ๆ ที่จะทำหน้าที่เป็นรากฐานสำคัญในการทำให้ยุโรปเป็นทวีปที่ปลอดคาร์บอนแห่งแรกในโลก

ทั้งนี้ Green Future Index เป็นการเปรียบเทียบความก้าวหน้าและความมุ่งมั่นที่ประเทศต่างๆ ต้องการมุ่งสู่การเป็นผู้นำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งได้มีการพิจารณาจากหลากหลายประเด็น ดังนี้

  1. การปล่อยคาร์บอน : ผลรวมของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดรวมถึงระดับการเปลี่ยนแปลงของการปล่อยก๊าซในการขนส่ง อุตสาหกรรม และการเกษตร
  2. การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน : การมีส่วนร่วมและอัตราการเติบโตของแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า พลังงานจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และการขนส่งมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยมลพิษทั่วโลกมากกว่า 70% ดังนั้น การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการลดการปล่อยคาร์บอน
  3. สังคมสีเขียว : ตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าสุทธิ การพัฒนาอาคารสีเขียว การรีไซเคิล และการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติประมาณการว่า การลดการบริโภคเนื้อสัตว์สามารถหลีกเลี่ยง CO2 ได้ถึง 8 พันล้านตันต่อปีภายในปี 2050 ซึ่งในปัจจุบันหมวดอาหารมังสวิรัติกำลังเป็นที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทำให้เกิดความหวังว่าในอนาคตหมวดอาหารที่ทำจากพืชจะถูกนำมาใช้มากขึ้นไปอีกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซ CO2
  4. นวัตกรรมสะอาด : จำนวนสิทธิบัตรสีเขียว, การลงทุนพลังงานสะอาดข้ามพรมแดน, การลงทุนด้านเทคโนโลยีอาหาร
  5. นโยบายด้านสภาพอากาศ : ความมุ่งมั่นของนโยบายที่มีต่อเป้าหมายด้านสภาพอากาศ โครงการการเงินคาร์บอน การเกษตรแบบยั่งยืน และการใช้มาตรการกระตุ้นโควิดเพื่อการฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากตาราง จะเห็นได้ว่า ยุโรปมีดัชนี 15 ประเทศจาก 20 อันดับแรก

อันดับแรกคือ ไอซ์แลนด์ ซึ่งตั้งเป้าที่จะปล่อยคาร์บอนให้เป็นกลางภายในปี 2040 ไอซ์แลนด์ได้กลายเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการผลิตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนในเดือนธันวาคม 2020 ส่วนเดนมาร์ก (ที่ 2) กลายเป็นผู้ผลิตไฮโดรคาร์บอนรายใหญ่ที่สุดในยุโรปเพื่อหยุดการออกใบอนุญาตสำรวจน้ำมันและก๊าซใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเลิกกิจการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2050

นอกจากนนี้ ยังมัประเทศนอกยุโรปที่อยู่ใน 20 อันดับแรก ได้แก่ คอสตาริกา (อันดับที่ 7) และนิวซีแลนด์ (อันดับที่ 8) ทั้งสองมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญในด้านพลังงานหมุนเวียน และมีโครงการชั้นนำระดับโลกสำหรับการลดการปลดปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมและการเกษตร

สำหรับในภูมิภาคอื่น ๆ อาทิ แคนาดา (14) สิงคโปร์ (16) และ อุรุกวัย (20) มีกลยุทธ์สำหรับการลดคาร์บอน การเปลี่ยนแหล่งพลังงาน และการริเริ่มที่นำโดยรัฐบาลเพื่อส่งเสริมการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แผนแม่บท Zero Waste ของสิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงการลดของเสียที่ส่งไปยังพื้นที่แห่งเดียวของประเทศด้วย

ส่วนประเทศที่ถูกจัดอับดับช่วง 21-40 ช่วงสีเขียวอ่อน เริ่มที่ อินเดีย (21) แม้จะมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง แต่ก็ยังใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วและได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึง ประเทศไทย (29) ก็จัดอยู่ในหมวดหมู่ของประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่การพัฒนาพื้นที่สีเขียวในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ดี

นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 40) ได้มีการลดการปล่อยมลพิษในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และรับผิดชอบสิทธิบัตรสีเขียวเกือบหนึ่งในห้าของโลก และกำลังอยู่ในช่วงของการพยายามเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเกษตรกรรมที่ใช้คาร์บอนสูง

ดัชนีที่อยู่ในหมดสีแดงอ่อน คือ “สภาพอากาศที่ล้าหลัง” ซึ่งก็คือ ประเทศที่การพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า ได้แก่ แอฟริกาใต้ (47) เวียดนาม (49) และอินโดนีเซีย (57) ซึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังได้รับความกดดันและต้องเผชิญกับวาระการลดคาร์บอน

และ กลุ่มสุดท้ายหรือกลุ่มสีแดง คือประเทศ “ผู้งดเว้นจากการพัฒนาสภาพอากาศ” ได้แก่ ประเทศปิโตรสเตท หรือประเทศที่ทำอุสาหกรรมน้ำมันซึ่งยากต่อการพัฒนาให้เป็นประเทศสีเขียว หรือการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และกาตาร์

การทำวิจัย The Green Future Index เป็นการเน้นย้ำให้แต่ละประเทศต้องพัฒนาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมลดคาร์บอน และการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ทั้ง ในด้านการขนส่ง การเกษตร วัฒนธรรมอาหาร และบรรทัดฐานทางสังคม รวมทั้งยังจะเห็นการพัฒนาเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน และครอบคลุมสำหรับการประเมินความพยายามในการจัดเก็บคาร์บอนอย่างคุ้มค่า เพื่อจูงใจเกษตรกร คนตัดไม้ หรือผู้ปล่อยก๊าซรายอื่น ๆ ในการกักเก็บคาร์บอน

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ละประเทศต้องแบ่งปันเทคโนโลยีและทฤษฎีการปฏิบัติที่ดี นอกจากนี้ จำนวนการลงทุนข้ามพรมแดนในโครงการพลังงานหมุนเวียนยังพิสูจน์ให้เห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจซึ่งเกิดจากความพยายามระดับนานาชาติ แม้แต่ในประเทศที่มีสภาพอากาศที่ล้าหลัง อย่างเช่น อียิปต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะต้องดำเนินต่อไปตามวาระด้านสิทธิมนุษยชนอย่างถูกต้องและครอบคลุม รวมถึงการสร้างงานและอาชีพที่มีคุณภาพสูง และยังส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ แทนที่จะปิดกิจการเก่า ผู้กำหนดนโยบายต้องส่งเสริมงานใหม่และอุตสาหกรรมใหม่ในลักษณะที่รับผิดชอบต่อสังคม เช่น การปรับสมดุล และการขนส่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร หรือการแทนที่งานโค่นต้นไม้ด้วยการสำรวจทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ในอนาคตได้