ตามไปดู ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน

หลายคนคงอยากจะทราบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่เครือฯ ได้รับสิทธิ์ในการบริหารมีความคืบหน้ามากน้อยขนาดไหน ลองไปไล่เรียงกันดูค่ะ


เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 บริษัท เอเชีย เอรา วันจํากัด หรือ ซึ่งประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เซ็นสัญญาร่วมทุน (PPP) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 50 ปี

ความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ของการรถไฟฯ

  • ส่งมอบพื้นที่เฟสแรก “ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ครบ 100% ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีผู้บุกรุก 302 หลังคาเรือน (อาจจะล่าช้า หากมีการร้องเรียน แต่คาดว่าจะช้าสุดไม่เกินเดือนสิงหาคม 2564
  • ส่งมอบพื้นที่ระยะที่ 2 “ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ” ใช้เวลาดำเนินการอีก 2 ปี 3 เดือน มีผู้บุกรุก 267 หลังคาเรือน คาดว่าแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2566
  • ส่งมอบพื้นที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2564 และพร้อมให้บริการโดยไร้รอยต่ออย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มซีพีและพันธมิตรในเดือนตุลาคม 2564

คุณธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด คาดว่ารฟท.จะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2564 โดยอย่างช้าไม่เกินเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งยังคงเป็นไปตามสัญญา

การเวนคืนที่ดิน
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 รฟท. สรุปรายละเอียดการเวนคืนที่ดิน พบผู้ได้รับผลกระทบ 679 หลังคาเรือน พื้นที่ 923 ไร่ มีการกำหนดราคาชดเชยในราคาค่อนข้างสูงกว่าราคาประเมินประมาณ 3-6 เท่า คาดว่าจะเริ่มทยอยจ่ายค่าชดเชยได้ในเดือนมกราคม 2564

นอกจากนี้ มีการย้ายผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ จำนวน 302 หลังคาเรือน ซึ่งอยู่ระกว่างการเจรจา คาดว่าจะเรียบร้อยภายในเดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งจะมีการยกเลิกสัญญาเช่าจำนวน 213 สัญญา โดยจะดำเนินการยกเลิกสัญญาเช่าให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งการรื้อย้ายสาธารณูปโภคจำนวน 756 จุด หน่วยงานเจ้าของแต่ละระบบกำลังรื้อย้ายแล้ว คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564

การบริการงานรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์
กลุ่มซีพีได้เข้าสำรวจทรัพย์สินและระบบรถไฟฟ้า โดยตรวจสอบดังนี้

  • การตรวจสอบสถานะด้านเทคนิค
  • การเตรียมความพร้อมการเดินรถ
  • การปรับปรุงบริการให้ผู้โดยสาร
  • การปรับปรุงอาคารสถานี
  • การปรับระบบเพื่อรองรับการเดินรถ

ทั้งนี้ คาดว่า การเข้าไปดำเนินงานในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ อาจจะล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (FS) ที่จะเข้ามาดูแลโครงการฯ ไม่สามารถเข้ามาในประเทศไทยได้ ซึ่งตามกำหนดการรับมอบจะช้าสุดได้ไม่เกินเดือนตุลาคม 2564

การพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์
การพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบสถานีในเชิงพาณิชย์ ที่เราเรียกว่า TOD ในพื้นที่มักกะสัน 140 ไร่นั้น ได้มีการลงพื้นที่สำรวจเรียบร้อยแล้ว แต่ติดปัญหาการรื้อย้ายพวงรางของโรงงานซ่อมหัวรถจักรเก่า

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการปรับย้ายสถานี ซึ่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2563 ว่า การย้ายที่ตั้งสถานีเป็นสิทธิตามสัญญาของผู้ชนะการประมูล หากพื้นที่ใหม่มีประโยชน์มากกว่า แต่จะต้องได้รับการอนุมัติจาก รฟท. ก่อน

การดำเนินงานด้านความยั่งยืน
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้มีการตั้งคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ประกอบด้วยผู้ทรงวุฒิ 7 ท่าน ประกอบด้วย

  1. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  2. ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
  3. ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
  4. ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  5. ผศ.ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  6. คุณธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้า จังหวัดชลบุรี
  7. คุณต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 กลุ่มซีพีและพันธมิตรได้นำคณะที่ปรึกษาฯ สำรวจเส้นทางรถไฟกว่า 220 กม. เพื่อให้เห็นภาพรวมของโครงการฯ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าโครงการนี้เป็น “อภิมหาโปรเจค” จำนวนเงินลงทุนมหาศาลและพื้นที่ก่อสร้างมีผู้ได้รับผลกระทบตลอดแนวเส้นทางกว่า 220 กม. เป็นจำนวนมาก ซึ่งตามสัญญาในการก่อสร้างระบุไว้ว่า จะต้องไม่ทำให้การบริการเดินรถไฟในเส้นทางปกติหยุดชะงัก และที่สำคัญพื้นที่โครงการมีระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่อยู่ทั้งบนดินและใต้ดิน ที่มีความอันตรายและต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เช่น สายไฟแรงสูง ท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน เป็นต้น

ที่มาข้อมูล : จาก FB รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา
https://www.facebook.com/845843805608115/posts/1508069859385503/?extid=0&d=n