Hot Spot ..ในพื้นที่กันดาร “ความเท่าเทียม” ในโลกออนไลน์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกของ Internet of Things มาถึงเร็วกว่าที่คิดหลายปี การต่อสู้กันของค่ายมือถือที่จะเป็นผู้นำเครือข่าย 5G ถือเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือดพอควร

คุณอดิศักดิ์ ประสงค์ทรัพย์ ผู้อำนวยการบริหารด้านโครงการเชิงยุทธศาสตร์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า ในพื้นที่ทุรกันดาร การติดตั้งเสาสัญญาณโดยใช้สายไฟเบอร์เป็นไปได้ยาก เช่น พื้นที่กลางหุบเขาสูง หรือเกาะกลางทะเล ไม่สามารถเดินสายไฟเบอร์ จึงต้องติดตั้งเสาสัญญาณในจุดหนึ่งและถ่ายทอดสัญญาณด้วยไมโครเวฟ ที่แม้มีข้อจำกัดเรื่องความเร็วของการรับส่งข้อมูลที่ไม่ได้ดีเท่าการลากสายไฟเบอร์ แต่อย่างน้อยก็ทำให้พื้นที่ที่เคยปิด สามารถเปิดรับการสื่อสารกับโลกภายนอกได้เหมือนที่อื่นๆ ซึ่งทีมงานจะมีการพิจารณาเป็นแต่ละพื้นที่ว่าควรใช้เทคโนโลยีอะไร และหากพื้นที่ไหนสามารถลงเป็น 5G ได้ก็จะนำเทคโนโลยี 5G ลงทันทีเพราะจะมีประสิทธิภาพทั้งความเร็วและความครอบคลุมดีกว่า
“โครงการนี้เราเริ่มนำร่องมา 3-4 ปีแล้ว มาถึงเวลานี้เราประมูลคลื่นที่ใช้งานกับระบบ 5G ได้แล้ว จึงเดินหน้าจริงจัง เพื่อต้องการเป็น First mover ในการสร้างความเท่าเทียมในการสื่อสาร ให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ที่ไม่เคยมีสัญญาณเข้าถึงมาก่อน ที่สำคัญท่านประธาน คุณศุภชัย เจียรวนนท์ มีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนมาก ว่าต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในประเทศให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ดีที่สุด”
คุณอดิศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า พื้นที่ที่มีการสำรวจเพื่อจัดทำโครงการนี้มีมากกว่าร้อยแห่ง โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ พื้นที่เชิงเขา ชายแดน และพื้นที่ทุรกันดารที่มีชุมชน โรงพยาบาล หรือ รพสต. โรงเรียน และมีชาวบ้านอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 200-300 หลังคาเรือน พื้นที่กลุ่มแรกนี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือตามดอยต่างๆ ในภาคตะวันตกบริเวณที่ติดชายแดน และภาคใต้บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง
อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่เคยมีสัญญาณมือถือไปถึงมาก่อน อาทิ ทะเล หมู่เกาะต่างๆ ดอย ถ้ำ น้ำตก และในป่าลึก ส่วนใหญ่เป็น unseen ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ สัญญาณเน็ตเวิร์กจากทรูจะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถอัปโหลดภาพและข้อมูลแบบเรียลไทม์ เป็นการกระตุ้นแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนในบริเวณดังกล่าวให้เติบโตขึ้นด้วย
“พื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าก็สามารถดำเนินการได้ มีชุมชนบนดอยในภาคเหนือหลายแห่งที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง อย่างเช่น บ้านนาเกียน ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ทรูเข้าไปติดตั้งสัญญาณฮอตสปอตแล้วโดยใช้โซลาร์เซลล์ การมีสัญญาณโทรศัพท์ที่นั่นช่วยให้ครูอาสาสมัครที่เข้าไปทำงาน สามารถติดต่อครอบครัวให้คลายกังวลลงได้ เมื่อมีคนเจ็บป่วยในหมู่บ้านก็สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากภายนอกได้ทันที นี่คือเจตนารมณ์ของทรู คือสร้างความเท่าเทียมให้ทุกคนสามารถสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ” คุณอดิศักดิ์บอก พร้อมกับเสริมว่า ปัจจุบัน เรามีพื้นที่ติดตั้งสัญญาณที่ใช้ระบบโซลาร์เซลล์มากกว่า 4,000 แห่ง

หลังจากติดตั้งสัญญาณฮอตสปอตแล้ว ทรูก็จะนำเทคโนโลยีต่างๆในเครือ ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าไปช่วยเสริมคุณภาพชีวิต ทั้งในเรื่องการศึกษา การพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบ การนำเทคโนโลยีเข้าไปเสริมสร้างการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ อาทิ การนำแพลตฟอร์มการเรียนการสอน VLEARN และทรูปลูกปัญญา เข้า ไปพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการนำอุปกรณ์เทคโนโลยีของ 5G เข้าไปช่วยพัฒนาการเรียนรู้และการประกอบอาชีพของคนในชุมชนต่างๆ ร่วมพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบ

เป็นอีกหนึ่งในแนวทางการพัฒนาตามนโยบายด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ใน 3 มิติ คือ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริง

Cr.ไทยรัฐ