พาณิชย์ฯ เผยกรณีศึกษา 1 เดือนผ่านไป สงครามอิสราเอล-ฮามาสกระทบเศรษฐกิจโลกและไทยแค่ไหน

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานี้เรื่องที่ทั้งโลกต่างจับตามองคือ สงครามระหว่างอิสราเอลฮามาสที่ยังยกระดับความรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง แต่สถานการณ์นี้จะผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างไร

ทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 1 เดือน

เมื่อ 7 ต.ค. 2566 สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสชาวปาเลสไตน์ได้เริ่มต้นขึ้นถือเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของทั้ง 2 ฝ่ายในรอบ 50 ปี โดยเริ่มจากปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มฮามาสในชื่อ Al Aqsa Flood ทำการยิงขีปนาวุธโจมตีเป้าหมายทางทหารของอิสราเอล และส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปโจมตีหลายเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอลจนทำให้อิสราเอลประกาศเข้าสู่ภาวะสงคราม และเริ่มปฏิบัติการโจมตีตอบโต้อย่างรุนแรงในพื้นที่ฉนวนกาซา

ทั้งนี้ สงครามดังกล่าวดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ขณะที่ปฏิบัติการของอิสราเอลกลับยกระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยปัจจุบันอยู่ในขั้นที่ 2 ซึ่งเน้นปฏิบัติการภาคพื้นดิน เพื่อกวาดล้างฐานที่มั่นของกลุ่มฮามาส ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตมหาศาลนำไปสู่การแสดงท่าทีต่อต้านของนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาหรับที่สะท้อนความเปราะบางของความสัมพันธ์ของประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสงครามครั้งนี้อาจลุกลามบานปลายไปเป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาค เพราะในเวลาเดียวกันนี้ ก็ปะทะกันบริเวณพรมแดนอิสราเอลที่ติดกับซีเรียและเลบานอนจากลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนโดยอิหร่านด้วย ซึ่งหากสงครามลุกลามบานปลายจริงก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน เพราะบริเวณพื้นที่ความขัดแย้งนี้ใกล้กับแหล่งพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเส้นทางการขนส่งที่สำคัญของโลก

ผลกระทบสงครามระหว่างอิสราเอลฮามาสช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ต่อทั่วโลกและไทย

ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สงครามระหว่างอิสราเอลฮามาสถือว่ายังไม่ขยายวงกว้างและจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่จากความไม่แน่นอนนี้ยังนับเป็นความเสี่ยงใหม่ของเศรษฐกิจโลกที่ต้อวติดตามในระยะยาว

ในภาพรวมพบว่าสงครามอิสราเอล-ฮามาสไม่ได้ส่งผลกระทบรวดเร็วและรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกเหมือนกับสงครารัสเซียยูเครนที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน เป็นเพราะอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ได้มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก โดยจนถึงขณะนี้ผลกระทบของความขัดแย้งต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกยังมีจำกัด

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 6% ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร โลหะส่วนใหญ่ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจากการประเมินของธนาคารโลก  หากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะนี้ ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

กรณีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในทางตรงค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก

  • การค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยกับอิสราเอลและระหว่างไทยกับปาเลสไตน์ รวมกันอยู่ในระดับต่ำ เพียงประมาณ 0.2% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทย
  • การขนส่งสินค้าเข้า-ออกจากอิสราเอลก็ยังไม่กระทบมาก เนื่องจากท่าเรือส่วนใหญ่ของอิสราเอลยังเปิดดำเนินการตามปกติ
  • การท่องเที่ยวมีสัดส่วนราว 1% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดรวม
  • ด้านการลงทุนก็ไม่มีการลงทุนโดยตรงจากทั้ง 2 ประเทศคู่ขัดแย้ง

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมต่อการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน (ปัจจัยสำคัญต่อเงินเฟ้อ) ณ ขณะนี้ ก็ยังไม่เห็นผลกระทบดังกล่าวชัดเจนเช่นกัน เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงแรกของสงครามนั้นยังต่ำกว่าระดับสูงสุดในเดือน ก.ย. 66 รวมทั้งค่าเงินบาทก็ผันผวนและอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐและทองคำ เนื่องจากปัจจัยด้านจิตวิทยาที่กังวลผลกระทบของสงครามเท่านั้น ดังนั้น จากการประเมินทิศทางสงครามและผลกระทบในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจึงน่าจะเชื่อได้ว่า กรณีที่การสู้รบยังดำเนินต่อไปแบบจำกัดวงอยู่ในฉนวนกาซาและบริเวณพรมแดนอิสราเอลกับซีเรียและเลบานอนนั้น ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ หรือส่งผลกระทบสืบเนื่องจนสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมมากนัก

หลังจากนี้สถานการณ์จะเป็นอย่างไร?

สถานการณ์ที่ส่งสัญญาณยืดเยื้อ ทำให้หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างกังวลถึงกระทบในระยะต่อไป กรณีที่พันธมิตรของทั้งสองฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดย Bloomberg Economics  ประเมินฉากทัศน์ของสงครามในครั้งนี้ออกเป็น 3 กรณี ได้แก่

  1. สงครามจำกัดวง (Confine war) การสู้รบจำกัดอยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ความกังวลต่อตลาดโลก อาจทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเล็กน้อยประมาณ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจโลกจะน้อยมาก (GDP โลกลดลงเพียง 0.1%)
  2. สงครามตัวแทน (Proxy war) ความขัดแย้งลุกลามไปยังประเทศข้างเคียง คือซีเรียและเลบานอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนโดยอิหร่าน ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มฮามาส ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในหลายประเทศในภูมิภาค กรณีนี้อาจทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือ 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้เติบโตลดลง 0.3% และทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.2%
  3. สงครามทางตรง (Direct war) สงครามโดยตรงระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน (ร่วมด้วยชาติอาหรับอื่นๆ อาจมีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันในภูมิภาค การปิดช่องแคบฮอร์มุซของอิหร่าน ซึ่งเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญ และอาจเกิดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ ที่สนับสนุนอิสราเอล กับจีนและรัสเซียที่พยายามสร้างความสัมพันธ์กับอิหร่าน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือสูงถึงระดับ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตลดลง 1% และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 1.2%

ขณะที่ทางสนค. มองว่าจากสงครามในครั้งนี้อาจยืดเยื้อ โดยน่าจะคาบเกี่ยวในกรณีสงครามจำกัดวงและกรณีสงครามตัวแทน แต่มีโอกาสน้อยที่จะยกระดับความรุนแรงไปจนถึงกรณีที่เกิดสงครามโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแต่ละประเทศต่างก็อยู่ในภาวะอ่อนแอจากวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำให้ไม่น่าจะต้องการเข้าสู่ภาวะสงคราม นอกจากนี้ ท่าทีของสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปที่แม้จะสนับสนุนอิสราเอลในการโจมตีฮามาสเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ก็พยายามหารือผู้นำหลายชาติอาหรับที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง และให้ความสำคัญกับการคุ้มครอง

พลเรือนชาวปาเลสไตน์ขณะเดียวกันท่าทีของประเทศตะวันออกกลางในกลุ่มประเทศ OPEC ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันหลักของโลก ก็ไม่ได้มีแนวโน้มออกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันไป

ยังประเทศที่สนับสนุนอิสราเอลเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสงครามอาหรับ-อิสราเอล หรือสงครามยมคิปปูร์ในปี ค.ศ. 1973

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อไทยและต้องติดตามในระยะต่อไป

ระเด็นที่ยังน่าเป็นห่วง คือ ประเด็นด้านแรงงาน เพราะอิสราเอลเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 (รองจากไต้หวัน) โดยแรงงานจำนวนกว่า 26,000 คน  ที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลอาจได้รับผลกระทบจากสงครามและว่างงานลงอย่างฉับพลัน

ประเด็นนี้ภาครัฐอาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือรองรับที่เหมาะสม นอกจากนี้ หากสงครามยกระดับรุนแรงในพื้นที่อิสราเอล หรือประเทศรอบๆ อิสราเอล จนทำให้ภาคการผลิต การขนส่งเกิดการหยุดชะงัก และนำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้การส่งออกสินค้าบางรายการที่มีอิสราเอลเป็นตลาดส่งออกสำคัญส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบอยู่บ้าง เช่น เครื่องประดับ (เพชร) ไฟเบอร์บอร์ด ทูน่ากระป๋อง และรถยนต์รถยนต์นั่ง รวมทั้งสินค้านำเข้าอย่าง เพชร และปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ที่ไทยนำเข้าจำนวนมากจากอิสราเอล

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องเริ่มมองหาตลาดส่งออกหรือแหล่งนำเข้าอื่นๆ ทดแทนให้มากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และหากสงครามขยายวงไปสู่ระดับภูมิภาค ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมน่าจะรุนแรงพอสมควร เพราะกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นทั้งตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ และเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญของไทยหลายรายการ ดังนั้นจึงต้องติดตามพัฒนาการของสงครามอย่างใกล้ชิด เพราะความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วเศรษฐกิจการค้าโลกให้ขยายวงกว้างขึ้น จะเป็นการซ้ำเติมภาวะเปราะบางและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกในระยะข้างหน้าด้วย

หมายเหตุ

ในช่วงภาวะสงครามต่างๆ บางช่วงได้ไทยประโยชน์เช่น

  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยได้รับผลประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐฯ จากจีนมาไทย และการส่งออกสินค้าทดแทนเข้าไปในตลาดคู่ขัดแย้ง
  • กรณีเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่สร้างความไม่ไม่มั่นคงทางด้านอาหารทั่วโลกก็ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์จากความต้องการซื้อสินค้าเกษตรและอาหาร

ที่มา – สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า