ตลอดปี 2024 การปรับตัวเรื่อง “คน” ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงขององค์กรยุคใหม่ แล้วควรทำอย่างไร?

โลกผ่านช่วงโควิดมา แต่ก็เจอกับวิกฤตของระบบนิเวศวิทยา ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น กฎระเบียบของโลกใหม่ การทดลองอาวุธ ปัญหาสงครามความขัดแย้ง ทุกประเทศได้รับผลกระทบเรื่องนี้ทั้งหมด สิ่งที่คนไทยได้รับโดยอาจไม่รู้ตัว อาทิ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การไม่แน่นอนในอาชีพการงาน ความยั่งยืนของธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ที่เข้ามาแทนที่ จำนวนแรงงานน้อยลง คุณภาพแรงงานก็น้อยลงด้วย ทั้งหมดคือปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ที่ปรึกษาบริหารด้านพัฒนาภาวะผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล บอกว่า เราได้ยินคำว่า Great Resignation หรือการลาออกครั้งยิ่งใหญ่ เชื่อว่าจะเกิดการลาออกครั้งใหญ่ในตลาดแรงงานทั่วโลก แต่ในเอเชียกลับได้รับผลกระทบนี้ไม่มาก และประเทศไทยก็แทบไม่ได้รับผลกระทบนี้เลย มีผลการสำรวจพบว่า แรงงานไทยมีความพึงพอใจในงานอยู่ที่ระดับเฉลี่ยมากกว่า 70% แปลว่ายังทำงานกันได้ อาจจะมีบางสาขาเท่านั้นที่เกิด เช่น Healthcare ที่งานหนักและผลตอบแทนยังหาจุดลงตัวไม่ได้

สิ่งที่ผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลห้ามมองข้ามเด็ดขาด คือ การบริหารคน ที่ต้องปรับตามสถานการณ์ให้ทัน หลายองค์กรรู้ว่า คน คือปัจจัยสำคัญในองค์กรแต่กลับละเลยที่จะวางแผนเรื่องนี้ให้เหมาะสม เรื่องแรกที่กำลังเกิดขึ้นคือ Generation Shift การเข้าสู่ตลาดแรงงานของกลุ่มเจน Z ซึ่งเท่ากับกลุ่มเจน B ที่กำลังถอยออกไปจากตลาด การจัดการคนต่างวัย ต่างความคิด ต่างวิธีการทำงาน จะทำอย่างไร ความท้าทายคือจะจัดการกับ Mind Set คนในองค์กรอย่างไร

อีกเรื่องคือ Skill Set ที่พูดถึงกันมากแต่ลงมือทำจริงน้อย World Economics Forum บอกว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าอย่างน้อย 50% ของพนักงานทั่วโลก จำเป็นต้อง Upskill Reskill กันใหม่ทั้งหมด และแรงงานไทยก็อยู่ที่ 50-60% แน่ๆ และต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการกระบวนการ Upskill Reskill องค์กรเตรียมพร้อมหรือยัง?

เทรนด์บริหาร HR สำหรับองค์กรยุคปัจจุบัน

งานทรัพยากรบุคคลต้องบริหารแบบพร้อมเปลี่ยนแปลงเสมอ โดยมี 2 ส่วนสำคัญ คือ

ต้องมี Visionary คาดการณ์อนาคตและตีความได้หลากหลาย จาก Havard Business Reviews และ Forbes มองตรงกันว่า HR ต้องมี Visionary

ต้องมี Inclusive พร้อมบริหารแรงงานที่แตกต่างกัน ความต้องการหลากหลาย แรงงานระดับล่างคนไทยไม่ทำ แรงงานระดับสูงคนไทยก็ทำไม่ได้ (มีอยู่ 13% ของแรงงานทั้งหมดเรียกว่าเป็นคนกลางๆ หรือ Average 

เป็นสถานการณ์แรงงานไทยตอนนี้ที่ไม่ใช่แรงงานราคาถูกแบบเดิมแล้ว (เพราะใช้ต่างด้าวแต่แรงงานระดับกลางที่เยอะๆ จะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีและ AI ได้มากที่สุด แรงงานไทยต้องเตรียมรับมือกับสิ่งนี้ นี่คือโจทย์ขององค์กรปัจจุบัน และเป็นโจทย์ให้แรงงานด้วยว่าจะพัฒนาตัวเองอย่างไร ให้อยู่รอดจากการถูกแทนที่โดย AI

แผนการศึกษาเพื่อพัฒนาคน สิ่งที่ไทยไม่มี!

พิจารณาประเทศไทยในเวลานี้ เป็นประเทศที่ไม่มีทิศทางเศรษฐกิจ ไม่มีแผนการพัฒนาคนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ต่างคนต่างไป คิดกันเองคาดการณ์กันเอง และจะกลายเป็นปัญหาตั้งแต่ปัจจุบันไปจนอีกหลายปีข้าหน้า ถ้ารัฐบาลยังไม่รีบกำหนดแนวทางที่ชัดเจน

ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ ปี 1960 เคยเป็นประเทศที่จนที่สุดในโลก ไทยดีกว่าเยอะมาก แต่ไทยไม่มีแผนการศึกษา พัฒนาคนให้ตรงกับทิศทางเศรษฐกิจ ต้องใช้เวลา 7-8 ปี ในการพัฒนาทักษะคน ดังนั้นต้องมีแผน แผนพัฒนาประเทศต้องเชื่อมกับแผนพัฒนาสร้างคน ขณะที่เกาหลีใต้มีแผนชัดเจนที่จะพัฒนาด้านอินเทอร์เน็ต KPOP KSeries และพัฒนาคนออกมารองรับแผนนี้ ทุกวันนี้เกาหลีใต้ คือหนึ่งในประเทศที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนที่สุด และผลักดันคนของตัวเองไปอยู่แถวหน้าของเวทีโลก

ส่วนต่อมาองค์กรต้องใช้ Data และ AI มาบริหารแรงงานรุ่นใหม่ ต้องรู้ว่าแรงงานจบใหม่มีจำนวนเท่าไร แรงงานที่เราต้องการมีจำนวนเท่าไร และอยู่ที่ไหนบ้างของโลกใบนี้ ไม่ได้มองแค่แรงงานไทยเท่านั้น จะดึงมาร่วมงานได้อย่างไร หรือเรื่อง Training ต้องใช้เวลาเท่าไร ใช้โปรแกรมอะไร ในการฝึกอบรมทักษะ เดิมเรียนหน้าจอเหมือนกันหมด แต่ต่อไปจะเรียนแบบ Personalize เลือกทักษะที่จำเป็นกับบางคน ไม่ได้เรียนเหมือนกันหมด 

แต่สุดท้าย ก็ต้องไม่ลืมความ Humanize การคอนเนคระหว่างคน เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรเดียวกัน ผู้นำทุกระดับต้องได้รับการฝึกบริหาร Virtual Team ให้ได้ ผู้บริหารต้องเก่งเทคโนโลยี เชื่อมคนออนไลน์ต้องเก่งด้วย

ศิริยุพา บอกว่า ตอนนี้จะหามือดีด้าน HR หาได้ยาก องค์กรไทยใช้ AI กับการตลาด Marketing แต่หาคนที่ใช้กับ HR มีน้อย อาจจะมี HR Analytics เป็นการวิเคราะห์สถิติ มองความต้องการในปัจจุบัน คาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้น

ในมุมแรงงาน ทักษะสำคัญมีอะไรบ้าง

  1. Adaptability ความสามารถในการปรับตัว
  2. Critical Thinking คิดเป็นระบบ แก้ปัญหาได้
  3. Collaboration ความสามารถในการทำงานร่วมกัน
  4. Tech Savvy เข้าใจเทคโนโลยีได้
  5. Digital Literacy ใช้งานและเท่าทันดิจิทัล

ท้าทายกระบวนการสร้างคน พัฒนาคน เตรียมคนของไทย ทักษะนี้ได้รับการสอนหรือไม่ ก็คือ ไม่มีการสอนในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย แปลว่าต้องปรับระบบการศึกษาใหม่ ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้ แต่ต้องเรียนเพื่อเอาไปทำ คนไม่นิยมเรียนโทแล้ว แต่เรียนทักษะที่ตรงกับความต้องการเสริมเลย เพื่อให้ใช้งานได้เลย ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้ แต่เรียนเพื่อปฏิบัติ 

แรงงานไทยมีทักษะเหล่านี้ “น้อย” ต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยใหม่

HR เตรียมคนให้พร้อมกับอนาคตที่คาดการณ์ไม่ได้

  1. ให้ดู Potential ของคน ไม่ได้ดูแค่การเรียนการศึกษาเท่านั้น ให้ดูการทำกิจกรรม ที่นำมาใช้ในงานได้
  2. ให้ Feed Back พนักงาน ปีละ 2-3 ครั้งไม่ทัน บริษัทระดับโลก feed back ตลอดเวลา ทุกวัน ช่วยสร้างกระบวนการคิด มี cirtical thinking
  3. ปรับ Leadership Skill ทั้งองค์กร หัวหน้างานทุกระดับเป็นตัวสกัดดาวรุ่ง แทนที่ลูกน้องจะได้เรียนรู้และเติบโต กลายเป็นตัวสกัด หัวหน้างานติดกับการประชุม และการทำงานบ้าๆ บอๆ และให้ feed back ไม่เป็น ถ้าที่ทำงานฝึกหัวหน้างานไม่เป็น พนักงานก็ดึงศักยภาพออกมาไม่ได้
  4. ต้องมี Multi Skill มีทักษะที่หลากหลาย เพื่อให้คิดได้รอบด้าน ทำงานได้ ขายงานเป็น
  5. Mind Set ต้องเปลี่ยน ต้องกล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะเปลี่ยน 

ปิดท้ายว่า การสร้างคนให้รู้จักคิด คิดเป็น พึ่งพาตัวเองได้ ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ต้องมี Data Literacy ต้องรู้วิธีหาข้อมูล รวบรวมข้อมูลเป็น สรุปข้อมูลนั้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่การศึกษาไทยยังขาด และองค์กรต้องดิ้นรนพัฒนาสิ่งเหล่านี้เอง

ที่มา Brand Inside