ธุรกิจสุดเจ๋ง “ขยะดอกไม้” สู่ “ธุรกิจธูปหอม” ลดขยะแปดล้านตันในอินเดีย

นอกจากเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเครื่องเทศนานาชนิดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ “อินเดีย” มีการใช้ในชีวิตประจำวันมากไม่แพ้กันก็คือ “ดอกไม้” โดยมีรายงานว่า เฉพาะในเมืองไฮเดอราบัด มีดอกไม้ที่กลายเป็นขยะถูกทิ้งอยู่ตามศาสนสถาน วัด และมัสยิดให้ต้องรับผิดชอบจัดเก็บมากกว่าวันละ 1,000 ตัน

ตามความเชื่อของชาวอินเดีย ดอกไม้ที่ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และไม่สามารถทิ้งรวมกับขยะอื่น ๆ ได้ มันจึงถูกนำไปทิ้งในแหล่งน้ำเป็นหลัก ข้อมูลจาก UN Climate Change ระบุว่า ในแต่ละปี แม่น้ำคงคาต้องรองรับขยะดอกไม้เหล่านี้มากกว่า 8 ล้านตัน (ไม่มีตัวเลขการทิ้งขยะดอกไม้ลงในแหล่งน้ำอื่น ๆ) ด้วยเหตุนี้ อินเดียจึงมีปัญหาด้านการระบายน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงยาฆ่าแมลงที่อยู่ในดอกไม้ก็ยังเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำด้วย

ขยะดอกไม้ อินเดีย

ขยะดอกไม้จากพิธีกรรมต่าง ๆ ในกัลกัตตา อินเดีย (ปี 2019)

ส่วนเมืองที่ไม่มีแหล่งน้ำมากนัก พบว่าการทิ้งขยะดอกไม้เหล่านี้จะอยู่ตามท้องถนน หรือตามมุมต่าง ๆ แทน ซึ่งก็สร้างความลำบากในการจัดการเช่นกัน

อินเดียแก้ปัญหา “ดอกไม้ขยะ” ล้นเมืองอย่างไร

แต่คนอินเดียกำลังหาทางแก้ปัญหานี้ โดยเป็นความพยายามของกลุ่มผู้ประกอบการด้านสังคม (social entrepreneurs) ที่เก็บดอกไม้ใช้แล้วมาทำความสะอาด และเปลี่ยนมันเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน เช่น ปุ๋ยหมักออร์แกนิก สบู่ เทียน ธูปหอม และสีย้อมธรรมชาติ

holy waste founder

Vivek และ Minal Dalmia ผู้ก่อตั้ง บริษัท Oorvi เจ้าของแบรนด์ Holy Waste

หนึ่งในแบรนด์ที่ทำเรื่องดังกล่าวคือ Holy Waste ของบริษัท Oorvi ซึ่งก่อตั้งโดย Vivek และ Minal Dalmia เมื่อปี 2018 พวกเขานำดอกไม้ใช้แล้วของไฮเดอราบัดมาผลิตเป็นธูปหอม เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากคลิปวิดีโอออนไลน์คลิปหนึ่ง

ปัจจุบัน พวกเขาสามารถแปรรูปขยะดอกไม้ได้มากถึง 800 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และสามารถจ้างงานชาวอินเดียได้ถึง 10 คน โดยพนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้ (ทางบริษัทจะส่งเครื่องจักร – วัตถุดิบไปให้ที่บ้าน และให้พวกเธอเลือกเวลาทำงานได้ตามสะดวก โดยวัตถุดิบขนาด 6 – 7 กิโลกรัมจะสามารถผลิตธูปได้ 4,000 ดอก)

holy waste ธูป

ธูปที่ผลิตจากดอกไม้ใช้แล้วในพิธีกรรมต่าง ๆ ของ Holy Waste

ศึกษาวิจัย สร้าง”ดอกไม้” ให้เป็น “หนัง”

นอกจากนั้นก็มีบริษัทชื่อ Phool (ภาษาอินเดียแปลว่าดอกไม้) ที่เก็บขยะดอกไม้ในแม่น้ำคงคามาแปรรูปเช่นกัน โดยทางทีมจะเก็บดอกไม้ในแม่น้ำคงคาทุกเช้า และแยกขยะพลาสติก ฯลฯ ออกจากดอกไม้ก่อนจะนำไปทำความสะอาด จากนั้นจึงนำไปตากแดดจนแห้งและบดให้เป็นผง แล้วก็นำมาม้วนเป็นธูปหอม ส่วนดอกไม้ที่เน่าแล้วก็จะนำไปทำปุ๋ย

แต่นอกจากผลิตสินค้าจากขยะดอกไม้แล้ว ทาง Phool ยังศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาวัสดุชนิดใหม่ ๆ จากดอกไม้ด้วย โดย Nachiket Kuntla หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ Phool เป็นผู้แรกที่สังเกตเห็นการเจริญเติบโตของเส้นใยบาง ๆ บนดอกไม้เก่า เมื่อผ่านการบำบัด สารนั้นให้ความรู้สึกเหมือนหนัง Kuntla เลยเรียกมันว่า Fleather

fleather phool

รองเท้าต้นแบบที่ Phool พัฒนาขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาเส้นใยที่พบบนดอกไม้

แม้ว่า Phool จะบอกว่าเป็นการค้นพบโดยบังเอิญ แต่ก็มีรายงานว่า Phool เริ่มทำการผลิตรองเท้า กระเป๋าสตางค์ และกระเป๋าสะพายข้างจากวัสดุดังกล่าวกันแล้ว

นอกจากช่วยลดขยะที่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว แนวทางเหล่านี้ยังช่วยให้ผู้หญิงอินเดียมีรายได้และสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างที่ Phool ที่มีการจ้างพนักงานเกือบ 200 คนและทั้งหมดเป็นผู้หญิง หรือในส่วนของ Oorvi ก็จ้างงานผู้หญิงอินเดียให้มีรายได้เช่นกัน ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้อาจยังแก้ปัญหาในภาพใหญ่ได้ไม่มากนัก แต่ก็จะเห็นได้ว่า การสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อสังคมก็กำลังทำให้อินเดียลดปัญหาขยะ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ไม่มากก็น้อย

ที่มา brandbuffet