พูดคุยกับคณะกรรมการวิชาการงานมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021 ตอนที่ 2 พร้อมแนะมุมคิดปลุกพลังไอเดียนวัตกรรุ่นใหม่ เน้นย้ำต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้สอดคล้องกับ 3 ประโยชน์ของเครือซีพี

เผยจุดเด่นผลงานนวัตกรรมที่เข้าคัดเลือกในงานมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021 จากคณะกรรมการวิชาการฯ พร้อมแนะมุมคิดปลุกพลังไอเดียนวัตกรรุ่นใหม่ เน้นย้ำต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้สอดคล้องกับ 3 ประโยชน์ของเครือซีพี

หลังจากที่ We are CP ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 5 ตัวแทนจากคณะกรรมการวิชาการมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021 ได้แก่ คุณก้อย-ศราวดี ตั้งศุภนิมิตชัย คุณจิ๊บ-อุไรวรรณ อุดมสินค้า คุณจิ๋ว-วีระศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย คุณโหน่ง-วราวุธ เยาวิวัฒน์ และคุณเษม-เกษม ตั้งทรงศักดิ์ ที่ได้มาบอกเล่าภาพรวมการเฟ้นหาผลงานนวัตกรรมกันอย่างอย่างเข้มข้นในตอนที่ 1 ไปแล้วนั้น สามารถติดตามได้จาก (https://www.wearecp.com/inno090763/)

ในตอนที่ 2 นี้ คณะกรรมการทั้ง 5 ท่าน ได้มาร่วมแชร์ “จุดเด่นของผลงานนวัตกรรม” ที่เข้าคัดเลือกในปีนี้ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากพนักงานในกลุ่มธุรกิจของเครือฯ ในและต่างประเทศ เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในงานมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021 ซึ่งถือเป็นวาระพิเศษที่เครือเจริญโภคภัณฑ์จะดำเนินกิจการครบรอบ 100 ปี นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ขององค์กรธุรกิจชั้นนำที่ผูกพันเติบโตเคียงคู่กับสังคมไทยในทุกมิติ และนั่นทำให้การพิจารณาคัดเลือกผลงานนวัตกรรมครั้งนี้ คณะกรรมการทุกท่านจึงต้องพิถีพิถันคัดเลือกผลงานที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสามารถตอบโจทย์ในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามทิศทางการดำเนินงานของเครือฯ

โดยการพิจารณาคัดเลือกผลงานนวัตกรรมในปีนี้ที่ส่งเข้ามากว่า 2,068 ผลงาน แยกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยี ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จุดเด่นของผลงานส่วนใหญ่ที่ส่งเข้ามาเป็นที่น่าชื่นชมจากคณะกรรมการฯ ที่ได้คัดกรองผลงาน โดยหนึ่งในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ คุณโหน่ง-วราวุธ ได้ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า ผลงานวัตกรรมด้านเศรษฐกิจในปีนี้ที่ส่งเข้ามาถึง 524 ผลงาน พบว่า บางผลงานที่ส่งเข้ามามีประสิทธิภาพ เห็นผลเป็นรูปธรรม สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ และยังต่อยอดหรือขยายผลในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคตได้

ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นผลงานนวัตกรรมที่สามารถเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน แต่ในครั้งนี้ นวัตกรสามารถปรับปรุง พัฒนานวัตกรรมที่สามารถขยายผลหรือแก้ปัญหาในกระบวนการหรือไลน์การทำงานทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นจุดเน้นสำคัญอย่างมากในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาในส่วนของสายงาน และขยายผลแก้ปัญหาให้กับบริษัทได้ เป็นการมองประโยชน์ขององค์กรเป็นสำคัญซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาสินค้า และการบริการขึ้นมาใหม่ตามความต้องการของตลาดผู้บริโภค ถือเป็นผลลัพธ์ในทางเศรษฐกิจที่สามารถตอบโจทย์ทั้งในมิติขององค์กร สังคม และประเทศชาติ สอดคล้องกับปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือฯ

ในด้านของผลงานนวัตกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คุณเษม-เกษม แสดงทัศนะว่า ผลงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมีความน่าสนใจที่นวัตกรสามารถมองโจทย์ แก้ปัญหาในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้างมากขึ้น โดยพยายามสร้างสรรค์นวัตกรรมที่นำไปสู่ความยั่งยืนตามทิศทางการดำเนินงานของเครือฯ เช่น การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการทำประมงให้เกิดความยั่งยืน การสร้างรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการทำวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น รวมทั้งการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ปัญหาทางสังคม หลายผลงานสามารถเป็นต้นแบบหรือขยายผลตอบได้

นอกจากนี้คุณเษม ยังได้มีโอกาสตรวจผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งจากการพิจารณาพบว่า ผลงานด้านเทคโนโลยีมีความโดดเด่นน่าสนใจและยังตอบโจทย์ใหญ่ของเครือฯ ของสังคมในเรื่องของการลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตหรือการทำงาน การอนุรักษ์พลังงานด้วยการใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่กำลังเป็นกระแสของการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการปรับใช้เทคโนโลยี เพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจะช่วย ทรานฟอร์มองค์กรเข้าสู่ 4.0

ปิดท้ายด้วย คณะกรรมการฯ ได้มาบอกเล่ามุมมองความคิดให้ “นวัตกรรุ่นใหม่” เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงานมหกรรมนวัตกรรมบัวบานไว้อย่างน่าสนใจ โดยจะต้องเตรียมตัวตั้งแต่การเขียนนำเสนอผลงานจะต้องมีความกระชับ ได้ใจความสำคัญ และมีรายละเอียดของผลงานให้คณะกรรมการเข้าใจและเห็นภาพมากที่สุดจากข้อมูลการนำเสนอผลงานที่ส่งเข้ามา โดย คุณจิ๊บ-อุไรวรรณ และคุณจิ๋ว-วีระศักดิ์ ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกผลงานมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันว่า ผู้ที่จะส่งผลงานเข้าร่วมการคัดเลือกจะต้องเตรียมตัว หาความรู้และตัวอย่างผลงานอ้างอิงผลงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจมุมมองการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมมากขึ้น ในขณะเดียวกันนวัตกรต้องเตรียมตัวในการการนำเสนอผลงานนวัตกรต้องทำความเข้าใจผลงานของตนเป็นอย่างดีและพร้อมที่จะเปิดรับฟังและนำข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการไปปรับปรุงให้ผลงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ จุดร่วมกันของทัศนะจากคณะกรรมการฯ คือ นวัตกรต้องคิด “สร้างสรรค์สิ่งใหม่และสอดคล้องกับ 3 ประโยชน์ของเครือฯ” คุณก้อย-ศราวดี หนึ่งในคณะกรรมการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้ขยายประเด็นดังกล่าวว่า นวัตกรรุ่นใหม่จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใหม่ ที่ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ธุรกิจ แต่ต้องมีประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติด้วย มหกรรมนวัตกรรมบัวบานปีนี้ถือเป็นย่างก้าวสำคัญสู่ศตวรรษใหม่ของเครือซีพี นับเป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง นวัตกรรมจึงจะต้องสร้างปัญญา เพิ่มคุณค่า และสามารถทำได้จริง