ปลุกพลัง “นวัตกรซีพี” ในงาน “มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021” คณะกรรมการวิชาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมแนะไอเดีย นวัตกรรมที่สร้าง “ผลลัพธ์” ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งห่วงโซ่อุปทาน

แม้จะอยู่ในช่วงกระแสของวิกฤตโควิด-19 แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส…ดังนั้นงาน “มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน เครือเจริญโภคภัณฑ์ 2021” หรือ CP Innovation Exposition 2021 ยังคงคึกคักและได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวซีพีอยางต่อเนื่อง โดยหลังจากขยายเวลาส่งผลงานนวัตกรรมไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับการที่หน่วยงานต่างๆในเครือซีพีต้องปรับเปลี่ยนแผนการปฏิบัติงานตามสถานการณ์ ปรากฎว่าบรรดานักนวัตกรในกลุ่มธุรกิจต่างๆในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศส่งผลงานเข้าร่วมพิจารณา 1,838 ผลงาน แยกเป็นผลงานจากประเทศไทย 881 ผลงาน จากประเทศจีน 815 ผลงานและจากประเทศอื่นๆ 142 ผลงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 เมษายน 2563)

We are CP ได้มีโอกาสสนทนากับหนึ่งในคณะกรรมการวิชาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม “คุณเปิ้ล” – ศาลิดา เสรเมธากุล ซึ่งปัจจุบันดูแลงานด้านนวัตกรรม และเครือข่าย บริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประสบการณ์และความมีส่วนร่วมด้านการส่งเสริมนวัตกรรม และที่น่าสนใจเธอคือ นักนวัตกรด้านสังคมรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์เคยส่งผลงานเข้าร่วมงานมหกรรมนวัตกรรมบัวบานมาแล้วถึง 3 ครั้ง

คุณศาลิดา กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสสำคัญของเหล่านวัตกรที่จะได้มีส่วนร่วมในการจัดงานมหกรรมนวัตกรรมบัวบานที่จะมีขึ้นในปีหน้า เนื่องจากเป็นวาระสำคัญที่เครือซีพีได้ก้าวย่างสู่ศตวรรษใหม่ครบรอบ 100 ปี ในฐานะองค์กรธุรกิจคู่สังคมไทย โดยที่ผ่านมาเครือซีพีได้สร้างสรรค์โครงการทางสังคมที่มีประโยชน์ต่อทั้งผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและประเทศชาติมากมาย ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เครือฯได้ให้ความสำคัญด้วยการปรับเปลี่ยนการประกวดผลงานที่เคยใช้ชื่อว่า “โครงการสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย” หรือ Social and Stakeholder มาเป็น “โครงการสังคมและสิ่งแวดล้อม” หรือ Social and Environmental ให้สอดคล้องกับบทบาทของเครือฯที่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม

คุณศาลิดา เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นนวัตกรของซีพีให้ฟังว่า ด้วยพื้นฐานที่ทำงานด้านวิจัยและพัฒนาด้านการตลาด และมีความสนใจเรื่องข้อมูล อีกทั้งเป็นคนที่ชอบคิดและมีมุมมองทดลองทำเรื่องแตกต่างจนได้มีโอกาสร่วมส่งผลงานมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน เครือเจริญโภคภัณฑ์ตั้งแต่ปี 2011 , 2013 และ 2015 โดยผลงานที่ดำเนินการร่มกับทีมงานส่วนใหญ่เน้นงานด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิต กระทั่งปี 2018 จึงได้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการวิชาการด้านสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กระทั่งคร้ังนี้ในโอกาสที่เครือเจริญโภคภัณฑ์จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 ในปี 2021 จึงได้รับโอกาสเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการวิชาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

“เป็นความภาคภูมิใจค่ะ…จากที่เราเองเป็นส่วนหนึ่งของพนักงานเครือฯ และได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้บริหารและเพื่อนพนักงานได้ไปร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศนี่คือความท้าทายของกรรมการนวัตกรรมด้านสังคมที่จะประเมินผลลัพธ์ทางสังคม หรือความคุ้มค่าทางสังคมเพื่อคัดเลือกนวัตกรรมให้ร่วมจัดแสดงหรือรับรางวัลให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจและที่สำคัญ คือ หลักการพัฒนาอยางยั่งยืน 3H – Heart Health Home”คุณศาลิดากล่าว

ในฐานะผู้มีบทบาททั้งเคยเป็นนวัตกรผู้ร่วมส่งผลงาน และล่าสุดกับการเป็นคณะกรรมการวิชาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คุณศาลิดา ฉายภาพถึงความคาดหวังของผลงานนวัตกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในปีนี้ รวมทั้งเกณฑ์คะแนนที่คณะกรรมการให้ความสำคัญว่า ครั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การให้คะแนนที่เข้มข้นขึ้น แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ความคิดสร้างสรรค์ 20 คะแนน การพัฒนาผลงาน 30 คะแนน และเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ “ผลลัพธ์ที่เน้นประโยชน์” มีคะแนนสูงถึง 50 คะแนน

ขณะเดียวกัน ความพิเศษคร้ังนี้ คือความเข้มข้นของการพิจารณาผลงาน ซึ่งประธานกรรมการวิชาการและรองประธานทั้ง 3 ท่าน มีความมุ่งมั่นและตระหนักที่จะยกระดับการดำเนินงานด้านวิชาการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นคณะกรรมการวิชาการด้านต่างๆจึงได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ อีกทั้งกรรมการทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบเพิ่มความเข้าใจให้ผ่านเกณฑ์ก่อนจึงจึงจะสามารถตรวจผลงานในระบบ www.cpinnoepo.net ได้

คุณศาลิดา ได้ยกตัวอย่างถึงผลงานนวัตกรรมบัวบานด้านสังคมที่มีความประทับใจ คือ “โครงการกาแฟช่วยชาติ” โดยบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ที่ได้รับรางวัลมหกรรมนวัตกรรมบัวบานเครือเจริญโภคภัณฑ์ 2019 หรือ Chairman Award โดยจุดเด่นของผลงานชิ้นนี้แตกต่างจากผลงานนวัตกรรมอื่น คือ ตัวผลงานนวัตกรรมอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ แต่สามารถสร้าง “ผลลัพธ์” ให้สังคมได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตามที่ผลงานได้อธิบายถึงกลไกที่มีบทบาทตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งการสร้างป่า สร้างงาน สร้างอาชีพ และปัจจุบันโครงการนี้ได้มีการขยายสาขาในอาคารและโครงการต่างๆ เช่น อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น เป็นต้น ซึ่งถือเป็นแนวทางผลงานนวัตกรรมที่เป็นต้นแบบของการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถพัฒนาได้ยั่งยืน

ในฐานะคณะกรรมการวิชาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คุณศาลิดา ได้ฝากถึงเพื่อนๆนวัตกรชาวซีพีด้วยว่า สำหรับเพื่อนพนักงานที่ต้องการโอกาสสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน ขอให้ลองฝึกตั้งคำถามกับงานที่ทำอยู่ ใช้ทักษะการคิดทำความเข้าใจ มองจุดที่เป็นปัญหา หรือ Pain Point ที่เผชิญอยู่ แล้วตั้งหลักมองหาโอกาสเพื่อคิดและหาทางออกจาก Pain Point นี้ เพื่อจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กรแห่งนวัตกรรมเครือเจริญโภคภัณฑ์สู่ศตวรรษใหม่ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่พวกเราร่วมกันแสดงถึงความภาคภูมิใจว่าครั้งหนึ่งในชีวิตที่เราได้ร่วมเฉลิมฉลองกับองค์กรที่มีอายุ 100 ปี ด้วยกัน

“วันนี้จากวิกฤตไวรัส COVID-19 ได้เห็นการออกมาช่วยสังคมของกลุ่มธุรกิจในเครือฯหลายด้าน ขอฝากเพื่อนนวัตกรได้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยที่ใส่ใจคุณภาพชีวิต สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อมั่นในพลังนักนวัตกรของชาวซีพีที่เป็นนักคิดและนักพัฒนาค่ะ”คุณศาลิดากล่าวในที่สุด

Cr:Pr CPG