กสิกรไทย คาดเศรษฐกิจจีนปี 2566 โตเข้าเป้า 5% จับตา 3 ความเสี่ยง

ประเทศจีนที่มีเศรษฐกิจยักษ์ของใหญ่โลกกลายเป็นที่จับตามองในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ ซึ่งไม่ว่าจีนจะเติบโตหรือชะลอตัว ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ

โดยในไตรมาส 3/2566 เศรษฐกิจจีนเติบโตสูงกว่าคาดการณ์ที่ 4.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เติบโตได้ที่ 5.2% YoY

แม้จะเติบโตกว่าที่คาดไว้ แต่ช่วงที่เหลือของปี 2566 เศรษฐกิจจีนยังเผชิญความเสี่ยงสำคัญหลายด้าน ได้แก่

  1. ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัวยังกดดันเศรษฐกิจ โดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีแนวโน้มเผชิญปัญหาการชำระหนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 แม้ทางการจีนจะออกมาตรการช่วยหนุนภาคอสังหาฯ ต่อเนื่อง (เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย, การผ่อนคลายมาตรการจำกัดการกู้ซื้อบ้าน)

จากมาตรกาสนับสนุนของทางการจีน ยังช่วยหนุนให้ตัวเลขยอดขายบ้านของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 100 รายใหญ่ของจีนปรับลดในอัตราที่ชะลอลงอยู่ที่ โดยเดือน ก.ย. อยู่ที่ ติดลบ 29.2%YoY (จาก ส.ค. 66 ที่ -33.9%YoY) แต่ตัวเลขภาคอสังหาฯ อื่นๆ ยังไม่ดีนัก เช่น

  • การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ม.ค.-ก.ย. 66 ที่ลดลงที่ 9.1% YoY
  • การสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ม.ค.-ก.ย. 66 ปรับลดลง 25.28%YoY

ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนว่าสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว ทั้งนี้ การหดตัวลงของยอดขายบ้านจะยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสภาพคล่องของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยในไตรมาส 4/2566 นี้ซึ่งจะมีพันธบัตรของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ 16 แห่งที่ยังไม่มีการผิดชำระหนี้อยู่ที่ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

  1. การใช้จ่ายภายในประเทศยังเติบโตได้ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด-19 ทั้งนี้ เนื่องจากมีการประเมินว่าความมั่งคั่งของชาวจีนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ราว 70% ของมูลค่าสินทรัพย์ของครัวเรือน ดังนั้นเมื่อระดับราคาบ้านปรับลดลง และเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสถานการณ์นี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายในระยะสั้น จึงทำให้ความเชื่อมั่นของครัวเรือนลดต่ำลง โดยสะท้อนจากตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 86.5 ซึ่งลดต่ำลงกว่าในช่วงต้นปี 2566 และต้นปี 2565 ที่อยู่ที่ 91.2 และ 121.5

ขณะเดียวกัน แม้ตัวเลขยอดค้าปลีกของจีนจะเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ระดับการเติบโตยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด Covid-19 โดย

  •  ในปี 2560 – 2562 ยอดค้าปลีกเฉลี่ยของจีนอยู่ที่ประมาณ 9.1%YoY ขณะที่ใน 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 6.8%YoY
  • ขณะที่การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดยาว 8 วัน (Golden week) ของจีนที่ 3 ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายภาครัฐ โดยจำนวนทริปอยู่ที่ 826 ล้านทริป (เป้าหมายอยู่ที่ 900 ล้านทริป) และรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 753.4 ล้านหยวน (เป้าหมายอยู่ที่ 782.5 ล้านหยวน)
  1. ด้านความเชื่อมโยงทางการค้าของจีนกับอิสราเอลค่อนข้างจำกัด โดยจีนส่งออกไปอิสราเอลอยู่ที่ 0.5% ของการส่งออกของจีนในปี 2566 และจีนนำเข้าจากอิสราเอลอยู่ที่ 0.3% ของการนำเข้าของจีนในปี 2566 อย่างไรก็ตาม อาจมีผลกระทบทางอ้อมผ่านทางระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เนื่องจากจีนมีการนำเข้าน้ำมันจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย และ อิรัก ทั้งนี้หากสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ได้ทวีความรุนแรงจากระดับปัจจุบันคาดว่าไม่น่าจะเกิดผลกระทบวงกว้างต่อเศรษฐกิจจีน

อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะเผชิญความเสี่ยงหลายประการ แต่คาดว่าทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจจีน ทั้งภาคการคลัง และมาตรการเพิ่มเติมในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะออกมาในรูปแบบการขยายเวลาการชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือการขยายพื้นที่ในการผ่อนคลายมาตรการในการซื้อบ้านหลังแรกอย่างที่เคยทำ เช่น การให้สินเชื่อพิเศษสำหรับการซื้อบ้านหลังแรกโดยไม่พิจารณาถึงประวัติสินเชื่อเดิม เป็นต้น

ในภาพรวมศูนยวิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจจีนปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ใกล้เคียงเป้าหมายของภาครัฐที่ 5% หากในไตรมาส 4/2566 ทางการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหนุนให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ในช่วง 4.3-4.6%

ทั้งนี้ ยังต้องจับตามองการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 โดยคาดว่าจะมีการเพิ่มเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณปี 2566 ทางการจีนกำลังทบทวนการขาดดุลงบประมาณปี 2566 เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ 3% ของ GDP โดยคาดว่าจะมีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมอยู่ที่ 1 ล้านล้านหยวน เพื่อนำมาสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Third Plenum of the 20th Party congress) ที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือน ต.ค.66

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย