พาณิชย์เผย ส่งออกเดือน มี.ค. หดตัว​ 4.2% ติดลบ 6 เดือนติดต่อกัน แต่ยังคงเป้าเติบโตปีนี้ที่ 1-2% หลังเริ่มเห็นสัญญาณบวก

ภาพโดย Pexels จาก Pixabay

กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคมหดตัว​ 4.2% ติดลบเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน แม้มีมูลค่าสูงสุดในรอบ 12 เดือน ยังคงเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ที่ 1-2%

สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การส่งออกไทยมีมูลค่ารวมที่ 27,654.4 ล้านดอลลาร์ (942,939 ล้านบาท) หดตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของไทยติดลบเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไทยในไตรมาสแรกหดตัว 4.5%

อย่างไรก็ดี หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ออกไป การส่งออกในเดือนมีนาคมจะสามารถขยายตัวได้ที่ 0.01% โดยมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยการส่งออกในรอบ 5 ปีที่ 23,904.9 ล้านดอลลาร์ และยังมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 12 เดือน

นอกจากนี้เดือนมีนาคมมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐของไทยยังพลิกกลับมาเกินดุลที่ 2,718.8 ล้านดอลลาร์ จากการที่การนำเข้ามีมูลค่าที่ 24,935 ล้านดอลลาร์ หดตัว 7.1% ซึ่งเป็นการพลิกกลับมาเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน

“ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายคาดว่าตัวเลขส่งออกในเดือนมีนาคมของเราจะติดลบเป็นตัวเลขสองหลัก แต่ปรากฏว่าเราติดลบแค่ 4.2% ดีกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก” สินิตย์ระบุ

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกในเดือนมีนาคมมีทิศทางที่ดีขึ้นคือ สินค้าเกษตรที่มีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้การส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนมีการเติบโตสูง

ขณะที่สินค้าในหมวดอุตสาหกรรม แม้ว่าภาพรวมจะยังเติบโตติดลบ แต่ไส้ในในหลายรายการก็สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้

โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการ มีสัญญาณที่ดีจากการกลับมาเป็นบวกในตลาดที่มีสัดส่วนสำคัญต่อการส่งออกของไทย เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย อีกทั้งยังกลับมาเกินดุลการค้าในรอบ 12 เดือน

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากภาวะเงินเฟ้อ ที่แม้จะผ่อนคลายลง แต่ยังคงทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้การเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมายังคงส่งผลกระทบต่อภาคธนาคาร ภาคธุรกิจ และกำลังซื้อของประชาชน

ขณะที่การย่อตัวลงของราคาน้ำมันตามอุปสงค์ตลาดโลกที่ชะลอตัว ได้ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัวลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยขยายตัวได้ 4.2%YoY โดยเป็นการขยายตัวทั้งหมวดสินค้าเกษตรที่ 1.2% และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ 7.1% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ข้าว, ผลไม้สดแช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง, ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, เครื่องดื่ม และไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพาราหดตัวถึง 41.1% อาหารสัตว์เลี้ยงหดตัว 25.0% ผลไม้กระป๋องและแปรรูปหดตัว 17.8%

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าหดตัว 5.9%YoY โดยมีสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ

อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวได้ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด, เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รวมทั้งหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ

สินิตย์กล่าวอีกว่า การส่งออกของไทยไปยังตลาดสำคัญในเดือนมีนาคมส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น โดยหดตัวน้อยลงในหลายตลาด เช่น จีน อาเซียน (5) และ CLMV

และมีบางตลาดสำคัญเริ่มกลับมาขยายตัว เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมถึงรัสเซียและกลุ่ม CIS ซึ่งสะท้อนว่าอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น แม้ว่าจะยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว

“กระทรวงพาณิชย์ยังคงเชื่อว่า การส่งออกในปีนี้จะยังขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 1-2% แต่ยอมรับว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายและค่อนข้างท้าทาย เพราะการจะไปถึงเป้าดังกล่าว การส่งออกในแต่ละเดือนจะต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.45 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ตัวเองของเดือนมีนาคมที่ออกมาสูงถึง 2.7 หมื่นล้าน ก็ทำให้เรามีความหวัง” รมช.พาณิชย์ กล่าว

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในมุมมองของภาคเอกชน ตัวเลขการส่งออกในเดือนมีนาคมที่ออกมาถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ตัวเลขส่งออกติดลบสูงกว่าไทย เช่น เวียดนามติดลบ 14.4%, ไต้หวันติดลบ 19.1%, อินเดียติดลบ 13.9% และญี่ปุ่นติดลบ 7.5%

“สินค้าส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นชัดเจนคือ ผลไม้ เพราะระบบโลจิสติกส์ในปีนี้ไม่มีปัญหาแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ที่การส่งผลไม้ไปจีนปีนี้จะโตถึง 20% การที่เราทำได้ดีกว่าในอีกหลายประเทศ หมายความว่าเราต้องวิ่งต่อ อย่าหยุด ซึ่งภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์จะมีการหารือร่วมกัน เพื่อผลักดันการส่งออกไทยให้ได้มากที่สุด” ชัยชาญกล่าว

ชัยชาญยังระบุด้วยว่า ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงนี้ถือเป็นระดับที่ภาคเอกชนพึงพอใจ เพราะเป็นตัวเลขที่ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไป และทำให้สินค้าไทยยังแข่งขันได้

สำหรับในระยะข้างหน้าก็ยังเชื่อว่า ค่าเงินบาทจะยังเคลื่อนไหวในกรอบ 33-35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเอื้อต่อการส่งออกเช่นกัน