“อรวรรณ โชติชื่น” หรือ ยุ่ง ผู้บริหาร ซีพีเอฟ กับงานปั้น “ลาดบัวขาวโมเดล” เป็นชุมชนเข้มแข็ง

จากกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืนของซีพีเอฟ “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่” เป็นต้นแบบที่หน่วยงานและเพื่อนพนักงานชาวซีพีเอฟสามารถนำไปใช้พัฒนาชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน

“อรวรรณ โชติชื่น” หรือคุณยุ่ง ผู้จัดการฝ่ายระบบสนับสนุน ธุรกิจไก่พ่อ-แม่พันธุ์ โคราช สายธุรกิจไก่เนื้อ ของซีพีเอฟ ถือเป็นตัวอย่างความสำเสร็จ แชร์ประสบการณ์ทำงานที่เธอได้เรียนรู้ จากที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับชุมชนบ้านดอนวัว ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พัฒนา”ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนวัว” เป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนบ้านดอนวัวและชุมชนอื่นๆ ขยายผลต่อยอดโครงการสู่การพัฒนาตนเองของชุมชน ด้วยการส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนให้กับสมาชิกของศูนย์ฯ และที่นี่ …. ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน “ลาดบัวขาวโมเดล ” ที่มีนักท่องเที่ยวสนใจเข้ามาเยี่ยมชมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทำงานเป็นทีม-เข้าถึงชุมชน
คุณยุ่ง ทำงานกับซีพีเอฟปีนี้เข้าสู่ปีที่ 15 แล้ว รับผิดชอบงานหลักในสายธุรกิจไก่มาโดยตลอด และได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้าน CSR เมื่อปี 2559 ประสบการณ์ 4 ปีที่ทำงานกับชุมชน ได้รับการปลูกฝังจากบริษัทฯและผู้บริหารมาโดยตลอดว่างาน CSR มีความสำคัญต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ต้องทำงานร่วมกับชุมชน เราจึงต้องเข้าใจความต้องการของชุมชน และช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรในการช่วยพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆให้กับชุมชน

ถึงแม้ว่าในช่วงเริ่มต้นที่เข้ามารับผิดชอบงานด้าน CSR จะไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำให้ชุมชนเปิดใจคุยกับเรา โดยเฉพาะคำถามที่ถูกถามมากที่สุด คือ ” ชุมชนได้อะไร ชาวบ้านได้อะไร จะทำได้จริงหรือ และยั่งยืนหรือไม่” บางปัญหาที่ต้องเจอก็เคยถึงกับท้อแท้ไม่อยากทำต่อ แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มชาวบ้านในชุมชนที่เห็นความตั้งใจของเราและให้กำลังใจเรา การสานเสวนากับชุมชนในช่วงแรกๆ ต้องอาศัยตัวช่วย เพราะการเข้าไปสอบถามกับชุมชนโดยตรงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร การหาแนวร่วมจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ด้วยคนในชุมชนบางส่วนเป็นพนักงานซีพีเอฟที่เกษียณ การเข้าหาผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ ก็ทำให้เราทำงานได้สะดวกขึ้น

คุณยุ่งบอกว่าสิ่งสำคัญ คือ การทำงานเป็นทีมเวิร์ค เพราะถ้าทีมงานมองเป้าหมายไม่ตรงกัน งานก็ไม่สำเร็จ จึงต้องมีการวางแผนการทำงานร่วมกัน แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน สรุปผลการทำงานทุกครั้งเพื่อหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

รู้ปัญหา อาสาร่วมแก้ไข
ด้วยวิถีของชุมชนบ้านดอนวัวส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำการเกษตร ทีมงานของ CPF สานเสวนากับชุมชน พบว่าปัญหาของเกษตรกรชุมชนบ้านดอนวัว ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะในนาข้าว ไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด ทำให้รายได้จากการขายข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ไม่พอกับรายจ่าย จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย เกษตรอำเภอ หมอดินประจำอำเภอ เข้าไปให้คำแนะนำในการปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชแบบผสมผสาน มีการถอดบทเรียนให้ความรู้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกศุนย์เรียนรู้ฯ และขยายผลสู่ชุมชน เช่น การปลูกข้าวแบบอินทรีย์โดยใช้แหนแดงในนาข้าวเพื่อคลุมไม่ให้หญ้าขึ้น การทำปุ๋ยหมักไตรโคเดอร์มา เพื่อป้องกันเชื้อรา การผสมอาหารโดยใช้หญ้าเนเปียร์ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารที่นำมาเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
วันนี้ คุณยุ่งบอกว่าภูมิใจเพราะสิ่งที่พวกเราตั้งใจทำ เห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว คือ สมาชิกของศูนย์ฯมีจำนวนเพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่่ดีขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีจำนวนผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรในชุมชนหันมาปลูกผักปลอดสาร ครัวเรือนสามารถลดรายจ่ายจากการลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปอาหาร เกษตรกรสามารถนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาวางจำหน่ายได้ที่ตลาดนัดชุมชน เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กล้วยอบน้ำผึ้ง แปรรูปกล้วยฉาบ ฯลฯ เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน

จากศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนวัว สู่เส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน “ลาดบัวขาวโมเดล” กว่าจะเกิดเป็นรูปเป็นร่างได้ก็ต้องทำความเข้าใจกับชุมชน เพราะชุมชนไม่ได้มองว่าในพื้นที่ของเค้าจะสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ จึงมีการสำรวจของดีในชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน พัฒนากิจกรรมต่างๆ เช่น ปั่นจักรยานชมธรรมชาติริมลำตะคอง ชมและชิมสวนลำใยปลอดสารพิษจำหน่ายหน้าสวน การสาธิตการสานชะลอม การทำจักรยานจิ่ว ทำระหัดวิดน้ำจำลอง ชวน ช็อป ชิม ผลิตภัณฑ์ของชุมชน ชาวบ้านเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน เป็นความภาคภูมิใจของเราชาวซีพีเอฟ ที่มีส่วนร่วมดูแลและพัฒนาชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

เพื่อนๆชาวซีพี ที่สนใจเยี่ยมชม “ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนวัว” และผู้ที่รักการท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ ลองมาท่องเที่ยวเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน “ลาดบัวขาวโมเดล” ซึ่งรายได้จะเข้าสู่กองทุนของชุมชน เพื่อนำไปพัฒนากิจกรรมต่างๆของชุมชนต่อไป

สำหรับโปรแกรมท่องเที่ยว 1 วัน ราคา 700 บาทต่อท่าน ส่วนโปรแกรมท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน ราคา 1,500-2,000 บาทต่อท่าน ประกอบด้วย กิจกรรมปั่นจักรยาน ชมฐานเรียนรู้ วิถีชุมชน เช่น สวนลำใย แปรรูปกล้วยเพิ่มรายได้ ปั่นชมธรรมชาติ ชมแปลงนาข้าวอินทรีย์ สาธิตการนวดผ่อนคลาย ล่องแพชมธรรมชาติ เป็นต้น ผู้สนใจติดต่อที่เบอร์ 081- 203-3317

สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF