คุณศุภชัย เจียรวนนท์ CEO เครือซีพี ขึ้นเวที THAILAND 2020 เสนอแนะ 8 ยุทธศาสตร์ ทรานส์ฟอร์มไทย ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวในหัวข้อ Thailand 2020 โอกาส การค้า การลงทุน ซึ่งจัดขึ้นในงานสัมมนา THAILAND 2020 #ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ ที่โรงแรมแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก โดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 0.3% หรือขยายตัวเพียง 2.7% จาก 3.0% โดยเฉพาะสหรัฐลดลงมาก ขณะที่อินเดีย และจีนยังขยายตัว 6-7% ส่วนไทยจะขยายตัว 2.8% ซึ่งทุกประเทศต้องปรับตัว และใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเมกะเทรนด์ต่างๆ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอ หลายฝ่ายอาจจะมองว่าเป็นผลมาจากบาทแข็ง การส่งออกชะลอตัว และขีดความสามารถในการแข่งขันไทยจากการลงทุนน้อยลง ประกอบกับนักธุรกิจรายใหม่ต้องเผชิญความเสี่ยง ขณะที่ต่างประเทศมีธนาคารเพื่อการพัฒนา ส่งเสริมให้ธุรกิจมีศักยภาพ ระยะยาว นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงว่าไทยต้องทำหรือไม่ รวมถึงกองทุนเงินตราต่างประเทศที่ไทยต้องไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น ตัวอย่างการลงทุนต่างประเทศในอาเซียน ปี 2018 เติบโตต่อเนื่องเเละสูง เป็นอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ มูลค่าถึง 78,000 ล้านเหรียญฯ และตามด้วยประเทศที่น่าสนใจมากในขณะนี้ คือ เวียดนาม ขณะที่การลงทุนในไทยลดลง 7.5%

รวมไปถึงสงครามการค้า (เทรดวอร์) แน่นอนว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมไปถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นปีหน้า จึงทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับอาเซียน ซึ่งไทยได้ใช้โอกาสเวทีอาเซียน ซัมมิต ครั้งที่ผ่านมา เพื่อเจรจากรอบการค้าและกระตุ้นการลงทุนภูมิภาค

“อเมริการู้ดีว่า จีน และอินเดีย มีผลต่ออเมริกาเอง หากไม่เจรจาแนวโน้มจะเสียโอกาส 6-7% เพราะโลกเป็นหนึ่งเดียวไปแล้ว ซึ่งประเด็นสงครามการค้าผมมองว่าเป็นการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ ดังนั้น อเมริกายังคงใช้ระบบการศึกษา การวิจัย โครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็ง ที่สร้างมูลค่า ที่เป็นจุดแข็ง”

คุณศุภชัยได้เสนอ 8 ยุทธศาสตร์เปลี่ยนผ่านประเทศ ไทยต้องตอบโจทย์เศรษฐกิจและกระตุ้นการลงทุน ประกอบด้วย
1. Economic Zoning ต้องวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำถึงถึงพื้นที่โซนนิ่ง
2. Infranstructure ส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะชลประทาน ปัญหาท่วม แล้ง เป็นโอกาสในการลงทุน และมีความสำคัญไม่น้อยกว่าอีอีซี
3. Education Innovation hub มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี IOT ระบบ 5G และการลงทุน Smart ต่างๆ เช่น Smart city
4. AgricultureTransformation มุ่งพัฒนานำเทรนนวัตกรรมเกษตรและอาหารมาปรับใช้
5. SME Transformation โดยมีธนาคารช่วยในการบริหารความเสี่ยงและรัฐบาลส่งเสริมด้านเงินทุน
6. Tech Startup ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยให้มีการปรับระเบียบกฎหมายภาษี ซึ่ง 9 ใน 10 คนไทยจดทะเบียนที่สิงคโปร์ ให้ดึงกลับมา
7. EEC ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการควิกวินของรัฐบาล
8. Partnerships ให้มีผู้ลงทุนรายใหม่มากขึ้น

“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ชลประทาน สาธารณูปโภค จะก่อให้เกิดการลงทุนในประเทศ เกิดการกระตุ้นและขยายการลงทุนให้อิมแพ็กอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ชลประทาน สาธารณูปโภค จะก่อให้เกิดการลงทุนในประเทศ ไม่เพียงแต่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังรวมไปถึงความร่วมมือ Belt & Road Initistives ระบบขนส่ง รวมไปถึงความร่วมมือ Belt & Road Initistives ระบบขนส่งเชื่อมอาเซียนไปยังทั่วโลก”

ประกอบกับ จะสังเกตเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเมืองเริ่มเห็นภาพชัดในแง่เศรษฐกิจที่เรียกว่า Innovation cluster การเเข่งขันในประเทศสูงขึ้น โดยเฉพาะ Smart city ที่คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุน 1.5 ล้านล้านเหรียญฯ นั่นจึงเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่หลายประเทศต้องพัฒนาเมืองเก่า ควบคู่ไปกับเมืองใหม่ โดยมุ่งเน้นลงทุนนวัตกรรม รวมถึงเทรน สุขภาพ อาหาร เป็นโอกาสในการลงทุนด้านเกษตร เมื่อผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพทำอย่างไรให้อายุยืนขึ้น อนาคตจะเน้นวิจัยพัฒนาเพื่อลงทุนอาหารเพื่อสุขภาพและป้องกัน เชื่อม Data โดยที่ไทยต้องดึงจุดเเข็งขึ้นชื่อเรื่องความสมบูรณ์ด้านอาหารเกษตร ยกระดับให้เป็น Food tech

“การเปลี่ยนแปลงของโลก การทำธุรกิจในปัจจุบัน ต้องมีความตื่นรู้ ที่เรียกว่าตระหนัก ไม่ใช่ตระหนก โดยคำนึงสิ่งที่สำคัญว่า เราไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของโลกได้ เเต่ถ้าเราเปลี่ยนกรอบความคิดเดิมๆ เราจะสามารถกำหนดอนาคตของเราเองได้”คุณศุภชัยกล่าวฝากข้อคิดในตอนท้าย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ