มูลนิธิปิดทองหลังพระ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมติดตามโครงการทุเรียนคุณภาพ เพื่อชีวิตเกษตรกรชายแดนใต้ที่ยั่งยืน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าพัฒนาพื้นที่จังหวัดยะลา และรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จากนั้นเดินทางไปยังตลาดรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการทุเรียนคุณภาพ ภายใต้การดำเนินการของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

ซึ่งมี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ รายงานความก้าวหน้าของโครงการ พร้อมกันนี้ นายกฯได้มอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช (Good Agricultural Practice : GAP) แก่ผู้แทนเกษตรกร โดยมี คุณขุนศรี ทองย้อย ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมให้การต้อนรับ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จังหวัดยะลา เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องทุเรียน การดำเนินโครงการทุเรียนคุณภาพในลักษณะ “ทำน้อยได้มาก” คือการใช้ทรัพยากรต้นทุเรียนที่เป็นทุนเดิม หันมาดูแล พัฒนาให้ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด และใช้ที่ดินส่วนที่เหลือมาทำกิจกรรมทางการเกษตร เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันเมื่อราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และให้ประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ไว้ด้วย เช่น เรื่องราคา ไม่ควรทำพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว และขอบคุณมูลนิธิปิดทองหลังพระที่เข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมมือในรูปแบบประชารัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะการทำทุเรียนคุณภาพ ตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำหน่าย เพื่อให้เกษตกรได้ดูแลแปลงทุเรียนแบบประณีต การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ และเชื่อมโยงกับตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ในส่วนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตลาดรับซื้อทุกผลผลิต 100% ทั้งในเเละต่างประเทศ นอกจากนั้นได้ให้การสนับสนุนนักวิชาการอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาปลูกทุเรียนให้มีคุณภาพอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามปริมาณความต้องกสารของตลาด เพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่อย่างมั่นคงและยั่งยืน

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนใต้ (โครงการทุเรียนคุณภาพ) เริ่มตั้งแต่ปี 2559 ประชากรที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยร่วมกับจังหวัดยะลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาทุเรียนให้มีคุณภาพ ซึ่งในปี 2562 ได้ขยายผลเป็น 664 ราย จำนวน 22,508 ต้น ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ คาดว่าจะมีผลผลิต ประมาณ 2,440.20 ตัน คาดการจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 160 ล้านบาท

Cr:PR CPG