นวัตกรรมทรูดังไกลระดับโลก “โครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า” คว้าเหรียญทองจาก Silicon Valley International Invention Festival สหรัฐอเมริกา

กลุ่มทรู โดย ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ (กลาง) หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนร่วมภาคภูมิใจกับทีมนวัตกรกลุ่มทรู ที่สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่น จนสามารถสร้างชื่อให้แก่ประเทศไทยไปถึงระดับสากล

ล่าสุด ผลงาน โครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant Smart Early Warning) ได้รับเหรียญทอง จาก Silicon Valley International Invention Festival งานแสดงสิ่งประดิษฐ์และผลงานนวัตกรรมระดับโลก ณ สหรัฐอเมริกา จัดโดย International Federation of Inventors’ Associations (IFIA) และ Geneva’s Exhibition and Congress Center (PALEXPO) ประเทศสหรัฐอเมริกา

Elephant Smart Early Warning มีจุดเด่นที่ทำให้การเฝ้าระวังช้างป่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และยังไม่ทำให้ช้างได้รับอันตรายจากระบบการเฝ้าระวังดังกล่าวอีกด้วย โดยได้ผสานศักยภาพเทคโนโลยีสื่อสาร ระบบ IoT กับการทำงานของหน่วยลาดตระเวน กรมอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเจ้าหน้าที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล( WWF) ซึ่งระบบดังกล่าวประกอบด้วย ระบบคลาวด์, แอปพลิเคชั่น Smart Adventure, กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติพร้อมซิมจากทรูมูฟ เอช 25 ชุด, เสาสัญญาณ 2 จุด, สมาร์ทโฟน True Smart Adventure 16 เครื่อง พร้อมแอร์ไทม์, อาคารศูนย์ปฏิบัติการพร้อมระบบคอมพิวเตอร์ และกรมธรรม์คุ้มครองอุบัติเหตุให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการผลักดันช้างป่ากว่า 70 คน พร้อมจะนำไปขยายผลในอีกหลายพื้นที่ของประเทศ จุดประกายให้เกิดการอนุรักษ์ป่า เพื่อให้ช้างอยู่ร่วมกับคนอย่างสันติต่อไป

ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีความเฉลียวฉลาด ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย และในรัชกาลที่ 2 เราเคยใช้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือก นอกจากจะใช้เป็นพาหนะและเครื่องทุ่นแรงในการขนส่งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมแล้ว ช้างยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศและมีประโยชน์มหาศาลต่อชีวิตสัตว์ป่า เช่น เป็นสัตว์บุกเบิกนำเส้นทาง ใช้งาขุดเจาะโป่งดินให้สัตว์อื่นมีแหล่งน้ำใช้ มูลช้างช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืชไปเติบโตงอกงามทั่วป่า เป็นต้น ปัจจุบันมีช้างป่าราว 3,500-4,000 เชือก กินอาหารเฉลี่ยวันละ 200 กิโลกรัม ต้องเผชิญกับเรื่องที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารลดลง จึงเริ่มออกมาหากินพืชไร่ชาวบ้านจนเกิดความเสียหาย กลายเป็นเรื่องราวขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง

คลิกชมข่าวโครงการ https://youtu.be/h-_CK3JGw70

Cr:Pr True