ซีพีเอฟจับมือกรมปศุสัตว์สมาคมผู้เลี้ยงสุกรตั้งศูนย์ฯ สกัดอหิวาต์แอฟริกาลามเข้าชายแดนเชียงแสน เล็งผุดอีก 10 จุดทั่วไทย

กรมปศุสัตว์จับมือซีพีเอฟ-สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ตั้งศูนย์ฯ สกัดอหิวาต์แอฟริกา ลามข้ามชายแดนเชียงแสน หลังพบระบาดใกล้ไทยทุกขณะ หวั่นกระทบอุตสาหกรรมปศุสัตว์แสนล้าน พร้อมเล็งเปิดเพิ่มอีก 10 จุดทั่วไทย

นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เป็นประธานรับมอบศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ ที่ด่านกักสัตว์เชียงราย สาขาเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ติดแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์กับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ร่วมกับคุณสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมฯ และคุณวิรัตน์ ตันหยง ตัวแทนบริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สนับสนุนงบก่อสร้าง 1.8 ล้านบาท เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการนำเข้าและส่งออกกับต่างประเทศในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) ในต่างประเทศอย่างหนัก หลังจากที่ดำเนินการตั้งศูนย์ฯ ที่หนองคาย นครพนม สระแก้ว และมุกดาหาร มาก่อนแล้ว

นายสัตวแพทย์ สรวิศกล่าวว่า หลังการพบการระบาดของโรคที่จีน-มองโกเลียครั้งแรกเมื่อ 3 ส.ค. 2561 ขณะนี้ไทยเราก็สกัดกั้นได้เกือบครบ 1 ปีแล้วยังไม่พบโรค แต่จากสถานการณ์ในประเทศรอบด้าน รวมทั้งล่าสุดก็พบการระบาดใน สปป.ลาวแล้ว ทำให้ไทยยังคงมีความเสี่ยง เพราะมีการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งผู้คนเดินทางข้ามแดนกันอย่างต่อเนื่อง และจากการตรวจไปแล้วนับ 100 ครั้ง ก็พบเชื้อและสกัดได้ทันถึง 30 ครั้ง ซึ่งถือว่าสูง

ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจึงได้ร่วมกันตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวขึ้น ซึ่งจะมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อรถบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ทุกลำ/คันที่ขนส่งสินค้าเข้าและออก และหลังจากนี้ภาครัฐมีแผนจะก่อสร้างศูนย์ฯ ในลักษณะเดียวกันในทุกจุดที่มีความจำเป็น โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสร้างอีก 10 จุดเพื่อสกัดกั้นโรคทั่วเขตแดนไทยให้ได้

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ จัดทำคู่มือการป้องกัน รวมทั้งมีคำสั่งกรมศุสัตว์ ให้ทุกจังหวัดตั้งคณะทำงาน โดยมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ปศุสัตว์จังหวัดฯ เป็นเลขานุการ รวมทั้งรุกเข้าไปร่วมมือกับ สปป.ลาว เพื่อตัดตอนไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทย และหากเกิดกรณีระบาดเร่งด่วนเข้าถึงประเทศไทยก็ได้มีแผนฉุกเฉินที่ได้นำเสนอต่อรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว

“ชายแดนเชียงรายมีการส่งออกสุกรเฉลี่ยวันละ 30-50 ตัว เดือนละกว่า 8,000-12,000 ตัว และเป็นพื้นที่เสี่ยงเพราะมีการขนส่งทั้งทางบกและทางเรือ ซึ่งทางบกก็ตั้งศูนย์ฯ ตรวจสอบแล้ว ส่วนทางเรือแม่น้ำโขงก็ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เข้าไปตรวจสอบเรือสินค้า คนเรือ ฉีดยาฆ่าเชื้อบนเรือ ตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อป้องกันให้ถึงที่สุดเพราะโรคนี้ไม่มีวัคซีนรักษาหากเข้ามาได้จะเสียหายหนัก”

คุณสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า โรคนี้ระบาดเร็วมาก ครั้งแรกพบที่มองโกเลียเมื่อ 1 ปีก่อน แค่ 4 เดือนก็ระบาดถึงจีนตอนใต้ทั้งหมดทั้งๆ ที่มีระยะทางห่างกันร่วม 6,000 กิโลเมตร และอีก 2 เดือนต่อมาก็ระบาดที่เวียดนามซึ่งห่างออกไปกว่า 2,400 กิโลเมตรครบทั้ง 63 จังหวัดของเวียดนาม และต่อมาก็เข้าสู่กัมพูชา

ล่าสุดในเดือน มิ.ย.ก็พบที่แขวงสาละวัน สปป.ลาว ซึ่งใกล้ประเทศไทยเข้ามาทุกที พวกเราจึงต้องสกัดให้ถึงที่สุดไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อธุรกิจที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท เพราะนอกจากตัวสุกรแล้วยังเกี่ยวเนื่องไปถึงธุรกิจพืชและอาหารสัตว์ด้วย ดังนั้นนอกจากศูนย์ฯ ที่มีการส่งออกจำนวน 5 แห่งนี้แล้ว ก็จะร่วมกับกรมปศุสัตว์สร้างที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นจุดขนส่งสินค้าที่สำคัญอีกจุดด้วย และน่ายินดีที่ได้ทราบว่าทางกรมปศุสัตว์ก็จะไปสร้างเองอีกหลายจุด

สำหรับชายแดนด้าน จ.เชียงราย มีเพียงการส่งออกสินค้าประเภทสุกรและอื่นๆ ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่มีการนำเข้าสินค้าประเภทเดียวกันนี้ และในช่วงที่โรคอหิวาต์แอฟริการะบาดหนัก พบว่าตลาดจีนมีความต้องการสินค้าสุกรจากไทยมาก

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์