ซีพีรีเทลลิงค์กับการนำตู้เวนดิ้งแมชชีนสู่วงการค้าปลีกไทย

ต้องบอกว่า เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หรือ Vending Machine อาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วสำหรับคนไทย เพราะมีให้เห็นอยู่มากมาย ซึ่งเจ้าตู้ที่ว่านี้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งช่องทางขาย โดยมักจะนำหน่ายในพื้นที่ปิด เช่น โรงงาน โรงเรียน สถานที่ที่คนไม่สามารถออกไปซื้อสินค้าข้างนอกได้

แต่ทุกวันนี้มีคนที่สนใจจะทำธุรกิจค้าปลีกกันมาก แต่มักจะติดข้อจำกัดสำคัญด้านเงินลงทุน ราคาที่ดินที่สูงและการขาดแคลนแรงงานที่จะขายของและเฝ้าร้าน ดังนั้นตู้จำหน่ายสินค้าจะเข้ามาตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการจะค้าขายดังกล่าว

วันนี้มีผู้เล่นรายใหญ่ๆ สนใจตลาดนี้กันอย่างมากมาย ทั้ง “สหพัฒน์” ผู้มาก่อนใครในตลาดนี้ “เครือกระทิงแดง” ที่ทำมาแล้วนับ 10 ปี และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาก็มีอีกหนึ่งผู้เล่นรายใหญ่ กระโดดเข้ามาชิงชัยอีกหนึ่งราย นั้นคือCP โดยลุยผ่าน “CP Retailink” ซึ่งเป็นธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้กับธุรกิจค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ

ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ดูแล CP Retailink เล่าให้ ฟังว่า ทางเครือฯสนใจ Vending Machine มาสักระยะหนึ่ง แต่เริ่มศึกษาอย่างจริงจังเมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน และวางตู้จริงๆ ได้ราว 6 เดือน

เหตุที่สนใจเพราะมองว่าเป็นช่องวางทางการตลาด เนื่องจากพบว่าบางครั้งเจอทำเลดีมากมีผู้บริโภคอยู่เยอะเป็น Prime Area แต่มีพื้นที่ 10 ตารางเมตร ซึ่งเปิด 7-Eleven เปิดไม่ได้ เพราะต้องการพื้นที่ 80 – 100 ตารางเมตร ซึ่งวันนี้ Vending Machin ถือว่ามาถูกที่ถูกเวลา

ไม่ใช่แค่มาพร้อมค่าเช่าที่ดินแพงขึ้น ค่าแรงแพงพร้อมหายาก แต่ตัวตู้มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะการจ่ายเงินที่ไม่ได้จำกัดเป็นเหรียญหรือธนบัตร หากจ่ายได้ทั้งบัตรเครดิต E-Wallet หรือ QR Code โดยตู้ที่ CP ทำขึ้นซึ่งนำเทคโนโลยีมาจากอิตาลี ผลิตที่จีน

เบื้องต้นได้ทดลองวางตู้ไปแล้ว 120 ตู้ทั่วประเทศ ในทำเลทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล อาคารสำนักงานต่างๆโดยมีทั้งหมด 5 โมเดลได้แก่ ตู้ 7-Eleven ขายสินค้าทั่วไป, Duck Land จะเป็นอาหารที่เกี่ยวกับเป็ดทั้งหมด เช่นข้าว บะหมี่ ราคา, Farm Mee ขายอาหารเพื่อสุขภาพ, Araebtia ขายกาแฟ ทั้งกาแฟมวลชนหรือ All Café และ Bear Box เป็นของใช้ทั่วไป การวางจะขึ้นอยู่กับทำเลบางแห่งจะมี 1 ตู้ หรือบางแห่งจะมี3 ตู้

Key Success ที่ทำให้อยู่ในธุรกิจได้นานและอยู่เหนือคู่แข่งคือ “การเติมสินค้า” นริศ บอกว่า หลายค่ายไม่สำเร็จเพราะเติมสินค้าอาทิตย์ละครั้ง แต่ความเป็นจริงควรจะ 1-2 วันต่อครั้ง อย่างตู้ที่ขายอาหารสดจะเติมวันละ3 ครั้ง

หรืออย่างตู้ 7-Eleven จะวางรอบรัศมีสาขาไม่เกิน 500 เมตร เนื่องจากได้วางให้สาขาทำหน้าที่เป็นคลังสินค้าย่อยๆ โดยพนักงานจำทำหน้าที่เติมสินค้า ซึ่งช่วยประหยัดค่าขนส่งไปในตัว

“เพื่ออุดเรื่องการเติมสินค้าตู้ที่ CP ทำขึ้นจะมีระบบ AI ที่สามารถแจ้งเตือนได้เมื่อสินค้าจะหมด พร้อมกับเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคได้ว่า สินค้ากลุ่มไหนที่ขายดี และขายดีช่วงไหน ซึ่งสามารถนำไปประเมินและปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมของผู้บริโภคได้”

ปัจจุบันแต่ละตู้มียอดขายราว 2,000 บาทต่อวัน แต่ CP ตั้งเป้ายอดขายวันละ 3,000 บาท ซึ่งหากทำได้ตามนี้จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี อย่างไรก็ตามขณะนี้ตู้ทั้งหมดยังเป็นของ CP อยู่ ด้วยต้องการ “เล่นจริงเจ็บจริง” ดูก่อน

แต่ในอนาคตวางแผนจะเปิดให้ขายเป็นแฟรนไชส์ในราคายกตู้ 300,000 บาท หรือ 15,000 บาทต่อเดือน โดยจะเริ่มให้สิทธิ์พนักงานในเครือก่อน ค่อนขยายไปสู่คนทั่วไปที่สนใจ

ที่มา Positioning