เครือซีพีร่วมขับเคลื่อนการจัดการขยะในทะเลอย่างยั่งยืน ชูแนวคิด SEACOSystem ฟื้นฟูระบบนิเวศและเศรษฐกิจทางทะเล

ซีพีโชว์แนวคิด SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน เรื่องของการฟื้นฟูระบบนิเวศ และเศรษฐกิจทางทะเล บนเวที ระดับอาเซียน “SEA of Solutions” พร้อมนำเสนอตัวอย่างการลงพื้นที่ร่วมชุมชนประมง ใช้เทคโนโลยีรวมทั้งการวิจัยและพัฒนาช่วยจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญจาก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ UN Environment Programme และสำนักงานประสานงานทางทะเลภูมิภาคเอเชียตะวันออก The Coordinating Body on the Seas of East Asia (COBSEA) เข้าร่วมงาน SEA of Solutions โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหลากหลายประเทศกว่า 300 คนให้ความสนใจ ณ อาคารสหประชาชาติ

ทั้งนี้ ดร.อธิป เป็นตัวแทนเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าร่วมเสวนา หัวข้อ “Valuing waste: Business solutions” ร่วมกับตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย คุณสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส, คุณ Paola Cortese Country Director จาก Plastic Bank ประเทศอินโดนิเซีย และ คุณศิริพร ศรีอร่าม จาก IUCN Thailand โดยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานของภาคเอกชน กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม และองค์กรประชาสังคมที่ทำงานด้านการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

ดร. อธิป กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศขับเคลื่อนธุรกิจคู่ขนานกับความยั่งยืน โดยได้ประกาศแนวคิด SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน ในเรื่องของการฟื้นฟูระบบนิเวศ และเศรษฐกิจทางทะเล ซึ่งมีเรื่องของขยะพลาสติกในทะเลเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญ โดยเครือฯ ได้เข้าไปทำงานในชุมชนชาวประมง 22 แห่ง นำโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งนำเทคโนโลยีเข้าช่วยชุมชนชาวประมงจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อช่วยรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ เครือฯยังมุ่งเน้นขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบาย 5Rs เดินหน้านโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ลดและเลิกการใช้พลาสติก เพื่อสอดคล้องทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ใช้นโยบายด้านแพ็กเกจจิ้ง “5Rs” คือ การสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ผู้บริโภคลดการสร้างของเสีย (Re-educate), การลดใช้พลาสติก (Reduce), การรีไซเคิลพลาสติก (Recycle), การใช้วัสดุทดแทน (Replace) และการค้นคว้าวิจัยและนวัตกรรม (Reinvent) ซึ่งนโยบายดัวกล่าวเป็นกรอบและแนวทางให้ทุกบริษัทในเครือนำไปปฏิบัติตาม

ทั้งนี้ได้ ยกตัวอย่างการจัดการลดใช้พลาสติกของบริษัทต่างๆ ในเครือ เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศนโยบายลดการใช้พลาสติกตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อช่วยลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ โดยได้ปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ถุงไก่สด ให้เหลือพลาสติกเพียงชั้นเดียวแทนการใช้พลาสติกหลายชั้น ใช้ถาดอาหารชีวภาพที่ผลิตจากพืชที่ถย่อยสลายได้ทั้งหมดกับสินค้าหมูสดและไก่สดแช่เย็น รวมทั้งในการขนส่งก็ใช้กล่องกระดาษลูกฟูกแทนลังพลาสติก ส่วนธุรกิจสัตว์น้ำก็ได้นำรูปแบบแทงค์มาใช้ที่ฟาร์มสัตว์น้ำเพื่อทดแทนการใช้ถุงพลาสติกบรรจุลูกกุ้ง ช่วยลดพลาสติกได้นับพันตัน

ส่วนบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ 7-11 ผ่านโครงการเปลี่ยนเป็นเงินบริจาคเมื่อลูกค้าปฏิเสธการรับถุง และได้นำเงินส่วนหนึ่งไปสมทบทุนบริจาคให้โรงพยา บาล ใน77 จังหวัด และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เซเว่นฯ ตั้งเป้าเลิกแจกถุงพลาสติกในทุกสาขากว่าหมื่นแห่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครือฯ จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบ รวมทั้งสร้างการตระหนักรู้และแรงกระเพื่อมต่อประชาชนในการคำนึงถึงปัญหาจากขยะพลาสติก แต่เครือฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในระบบซัพพลายเชน สิ่งสำคัญคือ ผู้บริโภคที่ต้องตระหนักรู้และเลือกซื้อเฉพาะสินค้าจากองค์กรที่คำนึงถึงความยั่งยืน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมโลกก็จะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ภายในงานเสวนายังได้มีการนำเสนอแผนการจัดการขยะพลาสติก ผ่านกิจกรรมและแคมเปญต่างๆ อาทิ ผู้แทนจาก IUCN ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งทำงานร่วมกับภาคเอกชน กลุ่มประชาสังคม และชุมชนในการสร้างการตระหนักและเข้าใจเรื่องการแยกขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งมองว่าขยะบางรูปแบบมีคุณค่าพอที่จะนำมารีไซเคิลได้ โดยส่งเสริมการนำขยะมาสร้างรายได้ในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมทั้งนำวิธีการจัดการขยะพลาสติกและการจัดการขวดพลาสติกไปใช้ในชุมชนในแม่น้ำลำคลอง ที่จ.ตราด ระนอง และพังงา

นอกจากนี้ ผู้แทนจาก เทสโก้ โลตัส ได้นำเสนอแคมเปญและกิจกรรมต่างๆ โดยเล่าว่า ตลอดหลายปีมาได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและสร้างการตระหนักรู้แก่ทั้งพนักงานและผู้บริโภคโดยตรง พร้อมทั้งมีแคมเปญลดใช้ถุงพลาสติก พร้อมปรับรูปแบบและออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถย่อยสลายได้ โดยทำงานร่วมกับซัพพลายเชนทั้งระบบ ซึ่งสามารถลดการใช้พลาสติกได้มากถึง 400 ล้านตันต่อปี และพร้อมที่จะเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงสำคัญ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โลตัสทุกสาขาจะไม่ใช้ถุงพลาสติกเช่นเดียวกับเซเว่น-อีเลฟเว่น

ด้านผู้แทนจาก Plastic Bank, Indonesia ได้นำเสนอรูปแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืนในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) จัดตั้งธนาคารขยะพลาสติกโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน สามารถตรวจสอบความโปร่งใสการจัดการฝากขยะและตรวจสอบรายรับของชาวบ้านที่เป็นสมาชิก และได้คัดแยกขยะพลาสติกส่งให้ธนาคารขยะ โดยจะได้รับโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่นที่ลงทะเบียนไว้ โดยตั้งแต่เริ่มโครงการมาสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 359 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมเสวนามีความเห็นร่วมกันว่า หลังจากที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันผลักดันสร้างกิจกรรมลดขยะพลาสติก และลดการใช้พลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการจัดการขยะพลาสติก คือ การให้การศึกษา และสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคและประชาชนตระหนักและเห็นความความสำคัญของการลดการใช้พลาสติก เพราะยังมีประชาชนกว่าครึ่งที่ยังไม่เข้าใจ จึงต้องเร่งปรับเปลี่ยนกระบวนการความคิด หรือ Mindset เพื่อให้มีความเข้าใจและเกิดกระบวนการมีส่วนร่วม

อนึ่ง ภายในงาน Sea of Solutions เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมออกบูธภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการ SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน ชูนโยบาย 5Rs นโยบาย 5Rs ที่มุ่งเดินหน้าตามนโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ลดและเลิกการใช้พลาสติกเพื่อสอดคล้องทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของเครือฯ โดยนำเสนอการดำเนินงานตามนโยบายของกลุ่มบริษัทในเครือฯ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN)

ทั้งนี้งาน Sea of Solutions จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-14 พ.ย. เป็นงานประชุมสัมมนานานาชาติระดับอาเซียนที่มุ่งประสานความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาล สหประชาชาติ หน่วยงาน ภาคธุรกิจ และชุมชน ระดมความเห็นและแลกเปลี่ยนแนวคิดการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล การควบคุมมลพิษชายฝั่ง และการจัดการขยะพลาสติกในทะเล เป็นต้น