เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าร่วมการหารือระดับโลกเรื่อง Circular Economy ที่สิงคโปร์

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตัวแทนเครือฯเข้าร่วมการประชุม Responsible Business Forum จัดโดย Global Initiatives ที่สิงคโปร์ การประชุมครั้งนี้ชื่อ Circular 2030: Towards Zero Waste. Next Generation Leaders. Circular Economy Jobs of the Future. โดยมุ่งเน้นการหาลู่ทางความร่วมมือว่าด้วยเรื่อง Circular Economy หรือการใช้ทรัพยากรหรือผลิตภัณฑ์ให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อลดวัฒนธรรมในการใช้ครั้งเดียวทิ้ง (take-make-waste culture) หรือเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (linear economy) ที่ผลิตภัณฑ์กลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว และปรับเปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจแบบวงกลม (circular economy) เพื่อส่งเสริมให้มีการนำกลับมาใช้ใหม่หรือแปรสภาพให้คุ้มค่ามากที่สุด

ทั้งนี้เนื้อหาการหารือในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าหมายที่ 6 ว่าด้วยการจัดการน้ำและสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 8 ว่าด้วยการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 11 ว่าด้วยเมืองและถิ่นฐานมนุษย์ที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 12 ว่าด้วยการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 15 ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก

ในโอกาสนี้คุณนพปฎล ได้เข้าร่วมการเสวนาเพื่อเปิดการประชุม (Opening Plenary) ในหัวข้อ Circularity 2030: The circular economy as an accelerator for the SDGs โดยกล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจในการส่งเสริม Circular Economy ในการผลิตสินค้าเกษตรอาหาร คือ พยายามผลิตสินค้าในที่เดียวแบบครบวงจร จนผลิตภัณฑ์นั้นมีมูลค่ามากที่สุด จึงค่อยขนส่งเพื่อนำไปเพิ่มมูลค่าหรือจำหน่ายต่อไป พร้อมยกตัวอย่างระบบการผลิตแบบครบวงจรภายในที่ตั้งของโครงการเลี้ยงไก่ไข่ 3 ล้านตัว ของเครือฯที่เมืองผิงกู่ ประเทศจีน ช่วยลดผลกระทบจากกระบวนการผลิตได้ อาทิ การลดจำนวนถุงพลาสติกที่บรรจุทั้งวัตถุดิบและอาหารสัตว์ การลดขั้นตอนการขนส่งวัตถุดิบ ซึ่งนำไปสู่การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เครือฯ ได้พยายามขยายผล (scale) รูปแบบการผลิตดังกล่าวไปยังอุตสาหกรรมอื่นด้วย อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางพาราหรือนมผงสำหรับเด็ก

คุณนพปฎลยังได้กบ่าวถึงผู้นำขององค์กรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเรื่อง Circular Economy ในองค์กร ทั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้บริหารระดับสูง ขณะเดียวกัน องค์กรจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และสนับสนุนการทำรายงาน เพื่อสร้างความโปร่งใสและประโยชน์ในการติดตามผล

คุณนพปฎลยังกล่าวอีกว่ากฎระเบียบบางอย่างกลายเป็นอุปสรรคในการส่งเสริม Circular Economy อาทิ กฎหมายผังเมืองอาจเป็นอุปสรรคในการรวมโรงงานทั้งหมดภายใต้ Value Chain อยู่ในที่เดียวกัน หากกฎระเบียบเหล่านี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขก็อาจช่วยให้ทุกคนดำเนินการได้สอดคล้องกัน

คุณนพปฎลกล่าวอีกว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคต้องอาศัยความเข้าใจวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ ด้วย โดยยกตัวอย่างการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกของ 7-11ในประเทศไทย ว่าสามารถสร้างการยอมรับของผู้บริโภคได้สำเร็จภายหลังจากเปิดโอกาสให้ลูกค้าเป็นผู้ปฏิเสธการรับถุงเองและยังมีส่วนสนับสนุนการทำประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้น

Cr:Pr CPG