ผู้ว่า ธปท.ระบุทิศทางดอกเบี้ยไทยต้องดูบริบทในประเทศ แต่ปรับขึ้นช้าไปก็ไม่ดี

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จำเป็นต้องขึ้นกับบริบทของประเทศเป็นสำคัญ และคงไม่ใช่การปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตามทิศทางของธนาคารกลางประเทศหลักๆ เนื่องจากบริบทของไทย แตกต่างจากประเทศอื่นๆ เงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มขึ้นมาจากฝั่งอุปสงค์เป็นหลัก ไม่ใช่จากฝั่งอุปทาน

“การขึ้นดอกเบี้ยต้องดูบริบทของเรา เพราะเราต่างจากชาวบ้าน เงินเฟ้อเราที่พุ่งขึ้นมาจากฝั่งอุปสงค์ ไม่ได้มากเท่าฝั่งอุปทาน ในบริบทปัจจุบันการขึ้นดอกเบี้ยควรเป็นแบบเรา ไม่ควรต้องตามต่างชาติ เฟดขึ้นดอกเบี้ย ก็ไม่จำเป็นว่าเราต้องขึ้นตาม เราต้องดูบริบทของเรา จริงที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย แล้วเราไม่ขึ้น อาจกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของเราไม่มีปัญหา เงินทุนเคลื่อนย้ายก็ไม่ได้ไหลออก ตอนนี้ net ยังไหลเข้า สิ่งที่เราต้องดู คือเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพทางการเงิน”

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

อย่างไรก็ดี มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะต้องไม่ขึ้นช้าจนเกินไป เพราะถ้าขึ้นช้าเกินไปจะไม่ดี นโยบายการเงิน หรือนโยบายดอกเบี้ย เทียบเคียงแล้ว เหมือนการเหยียบคันเร่งกับการแตะเบรค ที่ผ่านมา ไทยใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนมาก และเป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อเทียบกับภูมิภาคแล้ว ดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำสุดในภูมิภาค ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงติดอันดับในภูมิภาค

“การผ่อนคลายนโยบายการเงินของเรา ก็เหมาะกับสิ่งที่เราเจอ คือเราโดนผลกระทบจากโควิดค่อนข้างมาก เมื่อมองไปข้างหน้า ความจำเป็นตรงนี้น้อยลง คือไม่ใช่การเหยียบเบรค แต่เป็นการถอนคันเร่ง เหตุผลที่บอกว่าทำช้าไปไม่ดี เพราะถ้าปล่อยไว้นานเกินไป ปล่อยให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด ตอนนี้จะมาถอนคันเร่งอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว ต้องเหยียบเบรค และถ้ายิ่งคอยนาน ก็ต้องเหยียบเบรคแรงขึ้น ถ้าขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป โอกาสที่จะต้องขึ้นมากขึ้น ก็จะตามมา ซึ่งเป็นอะไรที่เราไม่อยากเห็น ดังนั้น แนวทางการปรับดอกเบี้ย ต้องทำอย่าช้าเกินไป เพื่อจะไม่ต้องทำแรงเกินไป”

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนหลายเรื่อง ทั้งสถานการณ์ระบาดจากโรคโควิด-19, ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และในอนาคตยังอาจมีสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้อีก ดังนั้น การตอบรับที่เหมาะสม คือ ความจำเป็นที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจของประเทศ

“มันมี shock หลายอย่างที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น มิหนำซ้ำ เกิดแล้วผลเป็นอย่างไร ก็ดูค่อนข้างยาก เรากำลัง move ไปจากโลกของความเสี่ยง ไปสู่โลกของความไม่แน่นอน หรือจาก risk ไปสู่ uncertainty เราอาจจะชินกับการบริหารความเสี่ยง แต่ตอนนี้ แนวโน้มเป็นเรื่องของ uncertainty แล้วมันจะเป็น shock ประเภทไหน จะมีอะไรบ้างที่จะมา และผลจะเป็นอย่างไร next shock คืออะไร ซึ่งผมก็ไม่ทราบ แต่ช่วงหลังๆ ความเสี่ยงทางด้าน geopolitics มีโอกาสสูงขึ้นกว่าเดิม”

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

ทั้งนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจของประเทศเล็กๆ อย่างไทย มี 5 ด้านสำคัญ คือ 1.เสถียรภาพด้านต่างประเทศ ซึ่ง 2.เสถียรภาพการคลัง 3.เสถียรภาพการเงิน 4.เสถียรภาพราคา และ 5.กลไกหรือกระบวนการดำเนินนโยบายที่ดี

1. เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากหนี้ต่างประเทศระยะสั้นไม่สูงมาก ในขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 2-3 เท่า

2. เสถียรภาพการคลัง หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60%กว่าๆ จากเดิมที่ระดับ 40% เนื่องจากไทยต้องเผชิญกับปัญหาโควิด ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังในการอัดฉีดเงินเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งหากไม่ใช้มาตรการทางการคลังมาช่วย อาจได้เห็นเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาจากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.6% อาจต้องติดลบไปถึง 4% ซึ่งการใช้มาตรการทางการคลังเข้ามาช่วย แม้ก่อให้เกิดหนี้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง

3. เสถียรภาพการเงิน โดยพิจารณาจากมิติของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ สภาพคล่องในระบบที่มีค่อนข้างสูง ตลอดจนการกันเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับสูง จึงไม่น่ามีความเป็นห่วงแต่อย่างใด แต่ในมิติที่น่าห่วง คือ ภาคครัวเรือนที่ยังมีความอ่อนแอ จากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และเร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 90% ต่อจีดีพีในช่วงโควิด

4. เสถียรภาพด้านราคา ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของไทยขึ้นไปสูงกว่ากรอบนโยบายการเงินระยะปานกลาง ที่ตั้งไว้ 1-3% และคาดว่าจะขึ้นไปสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/65 ก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวลง และทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ทางการต้องให้ความสำคัญ และการชั่งน้ำหนักของความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ จะเน้นไปที่การให้น้ำหนักกับความเสี่ยงของเงินเฟ้อมากขึ้น กว่าในเรื่องความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

5. กลไกหรือกระบวนการดำเนินนโยบายที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นตัวที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ นโยบายต่างๆ ที่คลอดออกมา อาจจะเหมาะกับสถานการณ์ แต่ก็ต้องมีความมั่นใจว่าจะมีกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมกับบริบทต่างๆ ซึ่งหมายถึงมีกลไกการสร้างนโยบายที่เหมาะสมและปรับเปลี่ยนไปตามบริบทได้ และสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องมีการประเมินผลนโยบายจากข้อมูลที่ถูกต้องว่าผลจากนโยบายที่ออกมาเป็นอย่างไร และที่สำคัญที่มาของนโยบายจะต้องโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ และสามารถสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะชนได้

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ยังออกมาดีอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยแล้วเกินกว่า 1 ล้านคน และทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 6 ล้านคน ขณะที่ผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานมีจำนวนลดลงกว่าที่คาด โดยเหลือ 2.5 ล้านคน จาก 3 ล้านคน ดังนั้น จึงเชื่อว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปฟื้นตัวได้ในระดับก่อนโควิด อาจจะเป็นปลายปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้า และคนอาจจะมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง หรือยังไม่เทียบเท่ากับที่เคยเป็น แต่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวนั้น มีน้อยลง

“เศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าประเทศอื่น ทำให้การฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง”

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าโอกาสจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศมีน้อยมาก ดังนั้นโจทย์ใหญ่ตอนนี้ คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด ภายใต้การทำนโยบายแบบสมดุล ซึ่งขณะนี้ได้ให้น้ำหนักไปที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เพราะถ้าท่องเที่ยวไม่ฟื้น เศรษฐกิจจะกลับมาในภาพเดิมเป็นไปได้ยาก แต่สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว เพราะหลังจากเปิดประเทศก็จะช่วยให้การท่องเที่ยวเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์