รมว.คลัง ชี้ดอกเบี้ยขาขึ้นยังมีโอกาส เปิด 3 เทรนด์ประกอบธุรกิจในอนาคต

รมว.คลังเผยดอกเบี้ยขาขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ชี้ยังมีโอกาส รัฐพร้อมสนับสนุนภาคเอกชน เปิด 3 เทรนด์ประกอบธุรกิจในอนาคต “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ-สุขภาพ-เทคโนโลยี”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางลงทุนไทย วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น” ในงานสัมนา ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า

หัวข้อในงานสัมนาวันนี้บอกชัดเจนว่าดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็เพิ่งปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% แต่ก็ยังไม่มาก เพราะที่ผ่านมาก็มีสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอีก 0.50% แต่ก็ยังเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

อย่างไรก็ดี ดอกเบี้ยที่กำลังขึ้นอยู่ขณะนี้จริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ หากมองย้อนกลับไปก่อนโควิด ปี 2562 อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25% ขณะที่ปี 2563 ก็ปรับลดลง เพื่อผ่อนคลาย ให้กระทรวงการคลังใช้จ่ายเงินช่วงโควิด ผ่านการออกพ.ร.ก.กู้เงิน

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ กระทรวงการคลังเห็น 3 กลุ่มหลัก ที่อาจจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1. ประชาชน หากสถาบันการเงินปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ภาระก็จะเพิ่มขึ้น เพราะรายได้โตไม่ทันรายจ่าย ฉะนั้น มาตรการจากสถาบันการเงินที่ออกมา ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ก็จะช่วยประชาชน โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ช้าลง ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับเร็วขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินของรัฐก็จะคงอัตราดอกเบี้ยดูแลลูกค้านานที่สุดถึงปลายปี 2565

2.ภาคธุรกิจ และ 3. ภาครัฐ ยอมรับว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนที่เป็นหนี้ต่างประเทศภาระก็เพิ่มขึ้น แต่คงไม่เพิ่มขึ้นเร็ว โดยกระทรวงการคลังก็มีการปรับโครงสร้างหนี้ตลอดเวลา เพื่อขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น

นายอาคม กล่าวว่า แม้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น หากมองโอกาสก็ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกัน เช่น กระทรวงการคลังจะสนับสนุนในเรื่องมาตรการภาษี สำหรับทิศทางการลงทุนมนอนาคต ทั้งอีวี แบตเตอรี่ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยที่ผ่านมาก็ผ่อนปรนภาษีสรรพสามิต และศุลกากรให้ ขณะเดียวกันตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการเรื่องการสนับสนุนแบบเตอรี่

ขณะที่เอสเอ็มอีส่งออก อาจจะยังไม่รู้จักตลาดดีพอ รัฐบาลก็มี เอ็กซิมแบงก์ ช่วยในการให้ความรู้ และจัดสรรวงเงินสินเชื่อให้ รวมทั้งยังมีซอฟต์โลน ซึ่งขณะนี้ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ทิศทางดำเนินธุรกิจในอนาคตยังมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบาย BCG การระดมทุนช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นก็มีออปชั่น เช่น การออกหุ้นกู้ การระดมทุนของภาครัฐ ก็เป็นรูปแบบกรีนบอนด์

2. สุขภาพ เทรนด์ในอนาคตจะให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ และภาคัฐจะส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก และกลาง ในส่วนนี้ด้วย และ 3. เทคโนโลยี เป็นสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี จากการลงทุนอินฟราซักเจอร์ ซึ่งเป็นเทรนด์ในอนาคต

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ