งานวิจัยชี้ เงินเฟ้อไทยไม่อ่อนไหวต่อปัจจัยมหภาค แนะนโยบายการเงินมองข้ามความผันผวนในระยะสั้น และให้น้ำหนักเป้าหมายระยะกลาง

งานวิจัยสถาบันป๋วยฯ ชี้ไทยไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย เหตุเงินเฟ้อไม่อ่อนไหวไปกับวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยด้านอุปทาน แนะการดำเนินนโยบายการเงินควรมองผ่าน (Look through) ความผันผวนในระยะสั้น และให้ความสำคัญกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะกลาง

นุวัต หนูขวัญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยผลการศึกษาเงินเฟ้อไทยในเชิงลึก ผ่านข้อมูลราคาสินค้าและบริการในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าเงินเฟ้อไทยไม่ค่อยอ่อนไหวไปกับปัจจัยมหภาค เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ แต่ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยเฉพาะสินค้า โดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้แบ่งปัจจัยขับเคลื่อนเงินเฟ้อออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ปัจจัยร่วม หรือปัจจัยมหภาค ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายการเงิน เป็นต้น และ 2. ปัจจัยเฉพาะ ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการแต่ละประเภทเท่านั้น เช่น โรคระบาดในสุกร การขึ้นภาษีบุหรี่ หมวดพลังงาน เป็นต้น

โดยผลการวิจัยพบว่า บทบาทของปัจจัยร่วมต่อเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมาลดน้อยลงมาก ในขณะที่ปัจจัยเฉพาะสินค้ามีความสำคัญมากขึ้น โดยสามารถอธิบายความผันผวนของเงินเฟ้อไทยได้สูงถึง 85% ส่วนใหญ่แล้วมาจากปัจจัยเฉพาะที่กระทบสินค้าในหมวดพลังงาน เช่น น้ำมันขายปลีกในประเทศ ซึ่งสะท้อนสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงของไทย ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีความผันผวนสูง จึงอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อไทยเป็นปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก

“ความผันผวนของเงินเฟ้อในประเทศไทยมาจากปัจจัยร่วมน้อยลงมาก โดยอธิบายได้เพียง 15% ในขณะที่ปัจจัยเฉพาะสามารถอธิบายความผันผวนของเงินเฟ้อไทยได้ถึง 85%” นุวัตระบุ

นุวัติกล่าวอีกว่า การที่เงินเฟ้อไทยเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ทำให้ผู้ดำเนินนโยบายการเงินควรมองผ่าน (Look through) ความผันผวนระยะสั้นเหล่านี้ และให้ความสำคัญกับการปรับตัวของเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะปานกลางเป็นสำคัญ

“เงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะ ในท้ายที่สุดเงินเฟ้อจะสามารถคลี่คลายไปเองได้ โดยนโยบายที่น่าจะเหมาะสมในการเข้ามาจัดการอาจเป็นมาตรการของภาครัฐ ที่จะสามารถแก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ดีกว่า อย่างไรก็ดี ในบางบริบทหากปัจจัยเฉพาะมีความรุนแรงและยืดเยื้อขึ้น ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องเข้าดูแลเพื่อยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน” นุวัติกล่าว

นอกจากนี้ นุวัติยังเปิดเผยผลการติดตามเงินเฟ้อคาดการณ์ของไทย ซึ่งคำนวณจากหลายเครื่องชี้วัด เช่น ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ (Professional Economic Focaster) ที่มีต่อเงินเฟ้อในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า โดยพบว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางถึงยาวของไทยยังคงอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ที่มา THE STANDARD