ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้ดอกเบี้ยใกล้ระดับเหมาะสม ยันมีรัฐบาลช้าไม่กระทบการทำนโยบายการเงิน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2566 หัวข้อ “ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทยและภาคใต้” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ถือว่าฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้ในบางช่วงข้อมูลเศรษฐกิจบางตัวจะออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด ส่วนแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 2/2566 ที่จะมีการประกาศเป็นทางการโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในเดือน ส.ค.นี้ อาจจะไม่ได้ออกมาสวยหรูนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่เติบโตได้ไม่ดีเท่าที่คาดไว้

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยหลักแล้ว มาจากพื้นฐานการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะอยู่ที่ 29 ล้านคน แม้ว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวจะชะลอลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้เข้ามาตามคาด แต่ภาพรวมก็ฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลง และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3%

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า จากบริบทเศรษฐกิจในปีนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้โจทย์ของนโยบายการเงินจึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย จากที่ก่อนหน้านี้ ธปท. ต้องปรับนโยบายการเงินเพื่อให้เข้าสู่สภาวะปกติ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า Smooth take off ซึ่งถือว่าทำได้ดีแล้ว เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อกลับมาลง ดังนั้น จึงทำให้โจทย์ของนโนบายการเงินในปัจจุบันต้องเปลี่ยนไปเป็น good landing โดยทำนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับภาพระยะปานกลางและระยะยาว

“จากเดิมที่ ธปท.บอกจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ล่าสุด เราถอดคำนี้ออกไปแล้ว เป็นการสะท้อนว่าเราเริ่มใกล้จุดสมดุลแล้ว จุดที่เหมือนกับคันเร่งอยู่ถูกที่ ไม่ได้เป็นการเหยียบเบรก แต่เป็นการถอนคันเร่งให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว อัตราเงินเฟ้อต้องอยู่ในกรอบยั่งยืนที่ 1-3% และต้องไม่ทำอะไรที่สร้างความเปราะบาง หรือความไม่สมดุลกับเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้เรากำลังเข้าใกล้จุดสมดุล ดอกเบี้ยอยู่ในจุดที่เหมาะสม เอื้อให้เศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ ส่วนจะถึงจุดเหมาะสมหรือยัง อยากให้รอให้ถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบต่อไป” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

พร้อมระบุว่า ธปท. เข้าใจดีว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ประชาชนมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำ เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีกว่า เพราะหากไม่ทำ และปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นไป ภาระต่อครัวเรือนจะหนักหนากว่าภาระจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ระวังและใส่ใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อครัวเรือน และติดตามการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งพบว่ามีการส่งผ่านประมาณ 50% เท่านั้น

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่มานาน แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่ก็ต้องบริหารจัดการ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไปจะสร้างความเปราะบาง และหากปล่อยไปจะกลายเป็นวิกฤติได้ ซึ่งเหตุผลที่คนเป็นหนี้ ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ไม่ค่อยโต ดังนั้นการแก้ไขจริง ๆ จะดูแค่ฝั่งหนี้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูฝั่งรายได้ควบคู่ไปด้วย

“เป้าหมาย เราอยากเห็นหนี้ครัวเรือนไทยไม่ควรเกิน 80% จากปัจจุบันอยู่ที่ 90.6% ต่อ GDP โดยขณะนี้ ธปท. ได้มีการออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. ยอมรับว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทผันผวนมากกว่าในอดีตพอสมควร ซึ่ง ธปท. เองไม่อยากเห็นความผันผวนขนาดนี้ ซึ่งความผันผวนดังกล่าวมาจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก และยังเจอประเด็นซ้ำเติมเรื่องค่าเงินหยวน เนื่องจากค่าเงินบาทมีความสัมพันธ์กับค่าเงินหยวนสูงสุดในภูมิภาค เพราะเศรษฐกิจไทยถูกมองว่าเป็นเศรษฐกิจที่ผูกพันกับจีนค่อนข้างมาก ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งยังมีปัจจัยเรื่องราคาทองคำ จึงทำให้คาเงินบาทผันผวนมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกบ้างในบางช่วง เพราะนักลงทุนมองปัจจัยการเมืองเป็นความเสี่ยงด้วย โดย ธปท. พยายามดูแลเรื่องเสถียรภาพค่าเงินเท่าที่ทำได้ ด้วยการเตรียมเครื่องมือต่าง ๆ ไว้รองรับ เพราะหลายปัจจัยก็อยู่เหนือการควบคุม

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ยังเป็นห่วงในปีนี้ คือ ภาคเกษตร เพราะประเทศไทยต้องพึ่งพาภาคเกษตรกรรมค่อนข้างมาก การเพาะปลูกยังกระจุกตัวอยู่ในพืชผลเพียงไม่กี่ชนิด อีกทั้งยังมีสถานการณ์เอลนีโญที่ค่อนข้างรุนแรง รวมทั้งยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีน ที่ประเมินค่อนข้างยาก ดังนั้นจึงยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้านั้น ยืนยันว่าไม่กระทบการทำนโยบายการเงิน โดย ธปท. ยังคงทำหน้าที่ต่อไป เพราะเหล่านี้เป็นเรื่องของโครงสร้าง ส่วนรัฐบาลจะเป็นใคร ถือเป็นเรื่องของเสถียรภาพ

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์