เงินเฟ้อไทย มี.ค. 2566 สูงขึ้น 2.83% ราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยหลัก

สนค.เผยตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือนมีนาคม 2566 สูงขึ้น 2.83% แต่ถือว่าสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 15 เดือน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันและสินค้าอาหารที่ชะลอตัวเกือบทุกกลุ่ม พร้อมคาดการณ์เงินเฟ้อใหม่ปี 2566 อยู่ที่ 2.2% จากเดิม 2.5%

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนมีนาคม 2566 เท่ากับ 107.76 ส่งผลเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 2.83% โดยสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน กลับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 แต่อย่างไรก็ดี ยังอยู่ในกรอบที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้

นายวิชานัน นิวาตจินดา
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

สาเหตุสำคัญที่กระทบเงินเฟ้อ มาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอาหารที่ราคาชะลอตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทั้งไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สำหรับเฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2566 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 3.88%

กระทรวงพาณิชย์

อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2566 ที่สูงขึ้น 2.83% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ตามราคาสินค้าทั้งในหมวดอาหาร และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.22% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้น 5.74% สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ผักและผลไม้ (มะนาว กะหล่ำปลี แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง)ตามปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดน้อย ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มชะลอตัว ข้าวสาร ตามโปรโมชั่น ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) และน้ำอัดลม เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ยังสูงกว่าเดือนมีนาคม 2565 ประกอบกับความต้องการมีอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารเช้า) ปรับขึ้นเล็กน้อย สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยหอม ทุเรียน น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.22% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้น 2.47% สินค้าที่ราคายังคงสูงขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก

สองแถว เครื่องบิน) น้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภท (น้ำมันดีเซล ก๊าซยานพาหนะ (LPG)) ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และสิ่งที่เกี่ยวกับความสะอาด (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า)

นอกจากนี้ ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่าทำเล็บ) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการราคาลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้า

ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มในภาพรวมชะลอตัวค่อนข้างมาก อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) เสื้อผ้าบุรุษ หน้ากากอนามัย โฟมล้างหน้า ที่เขียนคิ้ว ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และค่าทัศนาจรในประเทศ

เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 1.75% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้น 1.93% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง 0.27% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ลดลง 0.53%  สินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสัตว์ (เนื้อสุกร ไก่สด)

ผักและผลไม้สด (แตงกวา ผักกาดขาว ผักบุ้ง กล้วยหอม มะม่วง องุ่น) เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งน้ำมันพืช ปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม และอาหารโทร.สั่ง (delivery)

และสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.08% ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบทุกประเภท หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เสื้อบุรุษ/สตรี) เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น น้ำยาล้างห้องน้ำ สบู่ถูตัว โฟมล้างหน้า น้ำหอม และผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว

นายวิชานันกล่าวอีกว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่เกิน 3% เนื่องจากราคาสินค้าสำคัญหลายรายการ

มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การส่งออกของไทยที่ชะลอตัว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะส่งผลให้กำลังซื้อของภาคธุรกิจและประชาชนลดลง ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ระดับสูง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนอยู่ระดับสูง นอกจากนี้ เศรษฐกิจของไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาว และการหาเสียงของพรรคการเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น และจะส่งผลต่ออุปสงค์โดยรวม ราคาสินค้าและบริการ ตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

“เรามีการคาดการณ์ว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 อัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5% จะส่งผลให้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 อัตราเงินเฟ้อจะไม่ถึง 3% และจะอยู่ในระดับไม่เกิน 2.5% และไตรมาส 3 และ 4 เงินเฟ้อของไทยจะอยู่ในระดับ 1%”

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน จากเดิมอยู่ระหว่าง 2.0-3.0% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2.5% ปรับคาดการณ์มาอยู่เป็นระหว่าง 1.7-2.7% โดยมีค่ากลาง 2.2% และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง คาดว่าจะอยู่ในช่วงปลายไตรมาส 2

ภายใต้สมมุติฐานจากเดิมที่ประเมินไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 และได้ปรับสมมุติฐานใหม่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 จากการขยายตัวเศรษฐกิจที่มองไว้ขยายตัว 3-4% ปรับมาอยู่ที่ 2.7-3.7% น้ำมันดิบดูไบจากเดิมอยู่ในกรอบ 85-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับใหม่มาอยู่ที่ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนจากเดิม 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปรับมาเป็น 32.5-34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

เงินเฟ้อไทย

เงินเฟ้อไทย

เงินเฟ้อไทย

เงินเฟ้อไทย

เงินเฟ้อไทย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ