เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นวัตถุดิบ ข่าวดีในวงการอุตสาหกรรม

การรีไซเคิลพลาสติกที่ทำได้น้อยเมื่อเทียบกับปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดกำลังจะกลายเป็นอดีต เพราะวงการอุตสาหกรรมพลาสติกมีข่าวดีที่คิดค้นการรีไซเคิลเชิงสารเคมีขึ้นใหม่โดยที่สามารถรีไซเคิลพลาสติกได้ทุกชนิดถึงแม้จะมีการปนเปื้อนก็ตาม

วิธีการนี้ก็คือ การแยกพลาสติกออกเป็นส่วนประกอบทางเคมี โดยสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง และนำมาสร้างพลาสติกขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งเป็นการแปลงโครงสร้างทางเคมีของวัสดุโดยใช้ความร้อน

อธิบายง่ายๆ ก็คือการนำขวดเครื่องดื่มพลาสติกไปล้าง หั่นเป็นชิ้น และบรรจุเป็นก้อน จากนั้นจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการไพโรไลซิส คือการย่อยสลายโมเลกุลด้วยความร้อนในบรรยากาศที่ปราศจากออกซิเจน เพื่อผลิตออกมาเป็นของเหลวคล้ายน้ำมัน ก่อนจะถูกนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

ล่าสุดในสหราชอาณาจักรได้พัฒนาเครื่องไพโรไลซิสที่เปลี่ยนพลาสติกที่รีไซเคิลยาก เช่น ฟิล์ม ถุง และพลาสติกลามิเนตให้เป็นวัตถุดิบไฮโดรคาร์บอนเหลวที่สามารถนำมาใช้ผลิตพลาสติกคุณภาพใหม่ได้อีกครั้ง ภายใต้เครื่องหมายการค้า Plaxx® ซึ่งโรงงานรีไซเคิลเชิงเคมีตั้งอยู่ที่เมืองเพิร์ธ ประเทศสกอตแลนด์

นอกจากนี้ประเทศอื่นในยุโรปก็มีแผนจะสร้างโรงงานรีไซเคิลในลักษณะนี้ขึ้น เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกที่รีไซเคิลยากให้เป็นสารที่เรียกว่า ‘TAKOIL’ ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการนำไปใช้ทำพลาสติกเกรดอาหารได้

บริษัท Mura Technology จากสหราชอาณาจักรได้เริ่มก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลเชิงสารคมีเชิงพาณิชย์ขึ้นแห่งแรกของโลกโดยสามารถรีไซเคิลพลาสติกได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกผสม พลาสติกสี พลาสติกของคอมโพสิตทั้งหมด สามารถสลายตัวในทุกขั้นตอน แม้แต่พลาสติกที่ปนเปื้อนเศษอาหารหรือของเสียประเภทอื่นๆ ก็นำมารีไซเคิลได้ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาเป็นอุสรรคในการรีไซเคิล

เทคนิคไฮโดรเทอร์มอลของ Mura เป็นการรีไซเคิลวัตถุดิบที่ใช้น้ำภายในห้องเครื่องปฏิกรณ์เพื่อกระจายความร้อนจนถึงอุณหภูมิสุดขั้ว และน้ำจะกลายเป็นของไหลวิกฤตยิ่งยวด (Supercritical) ที่ไม่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นก๊าซ หรือของเหลว

โรงงาน Teesside ของ Mura ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2022 ตั้งเป้าหมายที่จะจัดการขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ก่อนหน้านี้มารีไซเคิลให้ได้จำนวน 80,000 ตันต่อปี และวางแผนตั้งโรงงานในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา ภายในปี 2025 รวมทั้งในประเทศอื่นๆ ด้วย วางเป้ารีไซเคิลพลาสติกทั่วโลกให้ได้ 1 ล้านตันต่อปี

ชารอน จอร์จ อาจารย์อาวุโสด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยคีล บอกว่าการพัฒนาของ Mura เป็นการรีไซเคิลแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง

แต่อย่างไรก็ตาม ตามรายงานของ Global Alliance for Incinerator Alternatives (Gaia) 2020 กลุ่มองค์กรและบุคคลที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อลดของเสียและมลภาวะ โจมตีว่าการรีไซเคิลเชิงสารเคมีเป็นมลพิษ ใช้พลังงานมาก และไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาพลาสติกในระดับที่โลกต้องการ

“องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมกำลังจับตาดูวิธีการรีไซเคิลที่เกิดขึ้นใหม่อย่างใกล้ชิด” พอลลา ชิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุที่ยั่งยืนขององค์กรอนุรักษ์ WWF กล่าว “เทคโนโลยีเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาสำหรับปัญหาขยะพลาสติก เราควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรเพื่อลดของเสียผ่านระบบการนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งการรีไซเคิลให้เป็นผู้กอบกู้”

ด้าน Mura โต้แย้งว่าโรงงานของเขาจะเติมเต็มช่องว่างที่จำเป็น และจะแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกและการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น

“การรีไซเคิลพลาสติกเหลือใช้ให้เป็นวัตถุดิบที่เทียบเท่าวัตถุดิบบริสุทธิ์ จะช่วยให้เราสามารถผลิตพลาสติกรีไซเคิล 100% โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง สามารถแยกการผลิตพลาสติกใหม่ออกจากทรัพยากรเชื้อเพลิงใหม่ และนำพลาสติกเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ” สตีฟ มาฮอน หัวหน้าผู้บริหารของ Mura กล่าว

พลาสติกส่วนใหญ่ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำมาผลิตขวดและบรรจุภัณฑ์อื่นๆ แต่บางครั้งพลาสติกประเภทนี้ก็ถูกนำไปรวมที่หลุมฝังกลบ เพราะความสับสนในการคัดแยกขยะ หรือเกิดจากการปนเปื้อนของพลาสติกเหล่านั้นจนไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

เช่น เปื้อนเศษอาหาร จึงมีความพยายามรีไซเคิลเชิงสารเคมีเพื่อทำให้พลาสติกเหล่านั้นกลายเป็นน้ำมัน และสามารถนำมาใช้ผลิตพลาสติกได้ใหม่อีกครั้ง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากระบวนการรีไซเคิลแบบไม่มีสิ้นสุด

ฝ่ายสนับสนุนการรีไซเคิลเชิงสารเคมีอธิบายเพิ่มเติมว่า หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้การรีไซเคิลเชิงสารเคมีล้มเหลวคือเรื่องการเงิน เช่นโรงงาน Thermoselect ในเยอรมนีซึ่งสูญเสียมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโรงงานรีไซเคิลเชิงเคมีต่างๆ อีกหลายบริษัทที่ประสบภาวะล้มละลาย

ปัญหาด้านการเงินไม่ได้จำกัดอยู่แค่ การรีไซเคิลเชิงสารเคมีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรีไซเคิลพลาสติกทุกประเภท โดย ซาร่า วิงสแตนด์ ผู้จัดการโครงการ New Plastics Economy Project ของมูลนิธิ Ellen MacArthur กล่าวว่า การรวบรวม คัดแยก และรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์มีราคาสูงกว่าการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัตถุดิบบริสุทธิ์ด้วยซ้ำ

“สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ Mura คือสามารถค้นพบคุณค่าในพลาสติกที่ปกติแล้วไม่สามารถรีไซเคิลได้ในเชิงเศรษฐกิจ” เทเลอร์ ยูเคิร์ต นักวิจัยจาก Cambridge Creative Circular Plastics Centre มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีความสามารถในการรีไซเคิลพลาสติกทุกประเภทเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ก็ไม่น่าจะทำให้มลภาวะจากพลาสติกหมดไป ตราบที่พลาสติกยังคงถูกทิ้งในหลุมฝังกลบและหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

โดยในทุกปีมีการผลิตพลาสติกมากกว่า 380 ล้านตันทั่วโลก หรือประมาณน้ำหนักเท่ากับวาฬสีน้ำเงิน 2,700,000 ตัว มีเพียงแค่ 16% ของขยะพลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิลทำพลาสติกใหม่ ในขณะที่อีก 40% จะถูกส่งนำไปฝังกลบ 25% ถูกเผาและ 19% ขาดการจัดการหรือที่ถูกทิ้งไว้ในธรรมชาติ (1)

ที่มา https://www.facebook.com/igreenstory/

อ้างอิง : May 12, 2021. “The world’s first ‘infinite’ plastic.” BBC

(1)September 21, 2018, “No time to waste: What plastics recycling could offer.” McKinsey & Company

เครดิตภาพ: Alamy