สาธิต พีไอเอ็ม เจ๋ง! ครองที่ 1 ประเดิมรางวัล The Winner โครงการ Pitch@School Competition 2021 ระดับมัธยมศึกษา โชว์ผลงาน OpenMirai แพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาในงานสัปดาห์ผู้ประกอบการโลก GEW 2021 ประเทศไทย

โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (สาธิต พีไอเอ็ม)  ฟอร์มทีมสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ส่งเสริมนักเรียนสู่นักคิด นักนวัตกรรม นักจัดการเชิงธุรกิจ โชว์ผลงาน OpenMirai แพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา คว้า รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1” ในโครงการ Pitch@School Competition 2021 (Semester 1จัดโดย Global Entrepreneurship Network Thailand , (GEN Thailand) ร่วมกับ Global Entrepreneurship Network (GEN) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ดำเนินการโครงการกว่า 180 ประเทศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและโอกาสให้คนรุ่นใหม่สามารถเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เป็นนักประกอบการ และขยายธุรกิจสตาร์ทอัพได้ง่ายขึ้นอย่างไร้พรมแดน ผ่านแรงสนับสนุนของเครือข่ายทั่วมุมโลกทั้งภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐและเอกชนที่เปี่ยมศักยภาพ ล่าสุดได้จัดงานสัปดาห์ผู้ประกอบการโลก Global Entrepreneurship Week 2021 (GEW 2021) ประเทศไทย งานที่จะจุดประกายนักสร้างธุรกิจไทย มุ่งหวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนผ่านกิจกรรมต่างๆได้ค้นหาศักยภาพของตนเอง ปลูกฝังการเป็นผู้ริเริ่ม สร้างสรรค์นวัตกรรม ผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ทีม OpenMirai สาธิต พีไอเอ็ม โดยสมาชิกทั้ง 5 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนการเรียนวิทย์-คณิต (Robotics and AI) ได้แก่ นายอภิภูมิ ชื่นชมภู, นายภาวิต ลิมปสุธรรม, นางสาวภิญฐ์สิตา เนียมอินทร์, นายปัณณ์ เภตรา และ นายณพสัญญ์ จีระวัฒนะนนท์ ได้รับเชิญร่วมงานและนำเสนอผลงานในฐานะผู้ชนะเลิศจากการแข่งขัน Pitch@School 2021 บนเวที GEW 2021 ที่สำคัญนี้    ซึ่งได้รับเกียรติจาก Mr. Dato Steve Cheah ประธาน Global Entrepreneurship Network Thailand, (GEN Thailand) และหัวหน้าคณะสภาการทูต กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง  ผู้ร่วมงานกิตติมศักดิ์ อาทิ H.E. Mr. Jyri Järviaho เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย, H.E. Dato’ Jojie Samuel เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจําประเทศไทย, H.E. Mr. Mohamed Jinah เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย, H.E. Mr. Tumar Amarsanaa เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจําประเทศไทย และ H.E. Mr. Ganesh Prasad Dhakal เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลประจำประเทศไทย  รวมไปถึงผู้บริหาร กระทรวงศึกษาธิการ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากองค์การสหประชาชาติ, ผู้บริหารจากกลุ่มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สมาชิกสภาการฑูต เมื่อวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ถนนวิภาวดีรังสิต

 

โครงการ Pitch@School  คือโปรแกรมส่งเสริมความคิดผู้ประกอบการและการแข่งขันนำเสนอโครงการธุรกิจ สำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริง เกิดความคิดวิเคราะห์ และการระดมความคิดกับเพื่อนร่วมทีมเพื่อหาทางออกอย่างมีตรรกะ แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยโครงการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ และพันธมิตรระดับโลกร่วมกันเป็นโค้ชเพื่อเสนอโซลูชันที่ดีที่สุด และกระบวนการเรียนรู้ ประสบการณ์ ที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยในปี 2021 นับเป็นปีแรกของการเปิดเวทีแข่งขันในระดับมัธยมศึกษา  ทีม OpenMirai นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิต พีไอเอ็ม เป็นทีมที่คว้า “รางวัลชนะเลิศ (The Winner)” การนำเสนอผลงานเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่สนใจอยากแก้ปัญหาด้านการศึกษา สำหรับผู้ที่ไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร ชอบอะไร หรือรู้แล้วว่าชอบทางไหนแต่จะทำอย่างไรเพื่อไปถึงอาชีพที่อยากทำในอนาคตได้

OpenMirai  (https://openmirai.com)  โดดเด่นด้วย Career Based Learning เป็นโมเดลการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง แพลตฟอร์มจะมีการเลือกสายงานด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อวิเคราะห์ว่าผู้ใช้งานแมตช์กับสายงานไหน และจะจัดระบบเลือกวิชาต่างๆ ที่เหมาะสม มุ่งเน้นไปที่สายอาชีพ ไม่ใช่การเรียนแค่เนื้อหาในหนังสือเท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้ผู้เรียนมั่นใจมากขึ้น โดยจะไม่มีการสอบข้อเขียน ไม่มีเกณฑ์ตัดสินผิดถูก เมื่อเรียนจบจะมี Project ให้ทำ เพื่อดูว่าผู้เรียนได้ใช้ความรู้กับสิ่งที่ตัวเองเรียนมากน้อยแค่ไหน ประยุกต์ใช้ได้ดีหรือไม่

นายอภิภูมิ ชื่นชมภู หนึ่งในสมาชิกทีมกล่าวว่า ยินดีที่ได้มาพรีเซนต์โปรเจกต์อีกครั้งครับ แขกกิตติมศักดิ์หลายท่านมาแสดงความยินดีกับทีมเรา โครงการนี้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลายอย่าง ท้าทายมากๆ ขอบคุณทางโรงเรียนที่ผลักดัน ทีมผู้บริหาร คุณครู  บุคลากรเก่งๆ ที่เข้ามาช่วยแนะนำตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้โปรเจกต์ไปได้ไวมาก และขอบคุณเพื่อนๆ ที่มุ่งมั่นกันจนถึงเป้าหมาย เราเก่งกันคนละแบบแต่ว่าเรามีทีมเวิร์กที่ดี พูดคุยแลกเปลี่ยนกันจนทำให้เกิดปิ๊งไอเดียดีๆ ขึ้นมาได้  สำหรับ OpenMirai เกิดจาก Mirai แปลว่าอนาคตในภาษาญี่ปุ่น นำมารวมกับคำว่า Open ที่แปลว่าเปิดในภาษาอังกฤษ จึงแปลได้ว่า “เปิดทางสู่อนาคต” และความตั้งใจตั้งชื่อให้มีความหมายด้านคอนเซ็ปต์ด้วย เพราะญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นชาติเเห่งความใส่ใจรายละเอียด อีกทั้งคำว่า Mirai หากเขียนจากหลังไปหน้าจะได้เป็นคอนเซ็ปต์ของโปรเจกต์ด้วยซึ่งก็คือ I ย่อมาจาก Information, A ย่อมาจาก AI Analytics, R ย่อมาจาก Routing, I ย่อมาจาก In deep to career และ M ย่อมาจาก Model ลงตัวที่ OpenMirai ครับ”

นางสาวภิญฐ์สิตา เนียมอินทร์ เสริมว่า “OpenMirai” มี Strategic Partner หรือพันธมิตรทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือพร้อมร่วมทำงาน และมี Customer Journey ที่ชัดเจนว่าลูกค้าจะกลับมาใช้บริการซ้ำอีกได้อย่างไร สิ่งสำคัญคือมีทีมสตาร์ทอัพที่มีประสบการณ์ พร้อมจะทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาใช้จริงให้กรรมการได้เห็น โดยมีนักเรียนมัธยมฯ วัยที่อยากจะค้นหาตัวเอง คนที่ตอบยังไม่ได้ว่า โตขึ้นจะเป็นอะไร หรือคนที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรแต่อาจจะมีความชอบอื่นๆ อีกเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก สอดคล้องกับการเรียนสาธิตพีไอเอ็ม โรงเรียนจะเน้นให้ความสำคัญกับนักเรียนเรียนเป็นหลัก เรียนตามความถนัดผ่านการลงมือทำ ทุกคนมีส่วนร่วมลงมือปฏิบัติมากกว่าการเรียนแบบท่องจำ ส่งผลให้มีความรู้ความสามารถค้นพบตัวตน และได้ทักษะที่นำไปใช้ได้จริง

นายภาวิต ลิมปสุธรรม อีกหนึ่งในสมาชิก เสริมท้ายว่า  หนึ่งในสมาชิกทีมกล่าวว่า ขอขอบคุณโครงการ Pitch@School  ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้คิดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่หลากหลาย พวกเราได้เรียนรู้เยอะเลยครับ หลักๆ จะเป็นเรื่องการนำเสนอในรูปแบบสตาร์ทอัพ การโน้มน้าวให้คนมาลงทุนกับเราหรือ Pitching กระบวนการทำสตาร์ทอัพ ทุกขั้นตอนตั้งแต่การหาปัญหาไปจนถึงการนำเสนอ และงานนี้ได้เพื่อนใหม่จากโรงเรียนอื่นด้วย ผลงานแหวกแนวมากๆ ค่อนข้างมีความครีเอทีฟผมรู้สึกว้าวมาก ประทับใจครับ

ทางด้าน อาจารย์อัญชลี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เปิดเผยว่า โรงเรียนสาธิต  พีไอเอ็ม มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้อันเป็นสากล มีความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี มีทักษะชีวิต มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมอันพึงประสงค์ มีระเบียบวินัย นำความรู้ความสามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศตามศักยภาพรายบุคคล โรงเรียนเน้นการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเป็นนักการจัดการที่มีทักษะทางเทคโนโลยีและการสื่อสารที่เป็นสากล ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง (Learning by doing) ผ่านประสบการณ์ตรงทั้งในและนอกห้องเรียน เน้นการฝึกทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริง คำนึงถึงผู้เรียนให้รักการเรียนรู้อย่างมีความสุข สอดคล้องกับระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ที่เน้นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ศึกษาและค้นพบความรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้โรงเรียนยังส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมและการแข่งขันต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจ ดังนั้นโครงการ Pitch@School จึงเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่สนใจการเป็นผู้ประกอบการในอนาคตได้ระดมความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ ใช้ทักษะการบริหารจัดการและการทำงานเป็นทีม สร้างธุรกิจที่ตนสนใจ พร้อมทั้งใช้ทักษะการนำเสนอที่สร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจ จนได้รับรางวัลชนะเลิศพร้อมจะเป็น ผู้ประกอบการมืออาชีพ” ในอนาคต

สมาชิกทีม (จากซ้ายไปขวา)

นายภาวิต ลิมปสุธรรม, นายณพสัญญ์ จีระวัฒนะนนท์, นางสาวภิญฐ์สิตา เนียมอินทร์, นายอภิภูมิ ชื่นชมภู และนายปัณณ์ เภตรา

OpenMirai ถือได้ว่าเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่กล้าคิดนอกกรอบ ค้นหาไอเดียใกล้ตัวปรับเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ และให้เกิดการสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาสู่นวัตกรรมขับเคลื่อนของประเทศ ซึ่งจุดเด่นของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันคือมีศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ หากได้รับการบ่มเพาะจากจุดเล็กๆ เช่น สถานศึกษาที่เป็นแหล่งจุดประกายและส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่นักเรียนได้ดีที่สุด ซึ่งสาธิตพีไอเอ็มได้เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยเน้นให้ผู้เรียนมีความสุขกับสิ่งที่ตนเองสนใจ ส่งเสริมการเรียนตามความถนัด เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกทักษะผ่านกิจกรรมหลากหลาย ด้วยรูปแบบการเรียนแบบ Active Learning นำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอน ทุกห้องเรียนเป็น Digital Classroom รองรับการใช้งานของครูและนักเรียน อำนวยความสะดวก เพิ่มพลังในการเรียนรู้ สนับสนุนให้การสอนและต่อยอดไอเดียใหม่ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด คิดสร้างสรรค์ชิ้นงานและนวัตกรรมได้อย่างเต็มศักยภาพ จากการได้ลงมือทำจริง พร้อมด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างเต็มที่ จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จุดประกายให้นักเรียนอีกหลายคนกล้าลงมือทำ เชื่อว่าการเริ่มต้นเล็กๆ นี้จะก่อให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้ในอนาคต ในขณะเดียวกันยังช่วยเสริมศักยภาพให้กับระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดีพร้อม รวมทั้งมีส่วนสร้างกระแสความตื่นตัวในธุรกิจสตาร์ทอัพให้เป็นความสนใจของกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ และก้าวสู่สมรภูมิทางธุรกิจระดับนานาชาติให้เป็นที่ประจักษ์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ