คุณศุภชัย CEO เครือซีพี แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุม Social Business Day 2019 เสนอ “หลักการ 3 วงกลม” ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณศุภชัย เจียรนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ แสดงวิสัยทัศน์ในเวทีการประชุมระดับโลก Social Business Day2019 ที่ Yunus Center และภาคีเครือข่ายชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมจัดขึ้นที่ประเทศไทย โดยกล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนตระหนักถึงวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญ ทั้งความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืน ซึ่ง ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของประวัติศาสตร์โลก เพราะวิทยาศาสตร์ ข้อมูล และเทคโนโลยี กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก และสร้างโอกาสใหม่ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และยังเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ อีกด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ทุกคนสามารถที่มีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อกำหนดอนาคตที่ต้องการได้

3 แนวทางสร้างความรับผิดชอบสังคมแท้จริง
ศุณศุภชัย กล่าวถึงสิ่งที่เครือซีพีให้ความสำคัญ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการด้วยกันคือ

1.ซีพีตระหนักดีกว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคมที่แท้จริง” มาจาก “ภายในสู่ภายนอก” (Inside Out) ซึ่งซีพีดูแลพนักงาน 350,000 คนใน 21 ประเทศที่เข้าไปลงทุนให้เหมือนกับดูแลคนในครอบครัว รวมทั้งดูแลพันธมิตรธุรกิจและคู่ค้านับหมื่นราย

2.ซีพีตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมโลกและสิ่งแวดล้อม เพราะซีพีเป็นองค์กรใหญ่มีเครือข่ายกว้าง จึงเป็นโอกาสที่จะนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่โลก

3.ซีพี ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน โดยทำงานใกล้ชิดกับองค์กรชั้นนำต่างๆ

คุณศุภชัยยังได้กล่าวถึง บทบาทของการเป็นผู้นำสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (GCNT) ว่าสมาคมฯ มีนโยบายขับเคลื่อน 4 เสาหลัก คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, สิทธิมนุษยชน,มาตรฐานแรงงาน, และการต่อต้านการทุจริต ซึ่ง GCNT เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนในระดับโลกอย่างแท้จริง ปัจจุบันในประเทศไทยมีองค์กรต่างๆ ร่วมเป็นสมาชิกถึง 40 องค์กร ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและผลักดันหลักปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติ ด้วยการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบ โดยขับเคลื่อนกลยุทธ์ผ่านการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน การประชุมสัมมนา การอภิปราย และการฝึกอบรม ฯลฯ

นอกจากนี้ เครือซีพียังสนับสนุนองค์กรต่างๆ ช่น One Young World เพื่อส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำที่มี “กรอบความคิด” ที่ถูกต้อง ซึ่งผู้นำรุ่นใหม่เหล่านี้จะช่วยนำเสนอ “นวัตกรรม” ที่เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาท้าทายระดับโลก

ของเสียและมลพิษมหันตภัยทำลายสุขภาพ
คุณศุภชัย กล่าวถึงในวิกฤตการณ์โลกที่น่าเป็นห่วงคือ ขยะและมลพิษ ที่กำลังคุกคามสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภคอย่างไม่ยั่งยืน ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา มีขยะเกิดขึ้นมากกว่า 2,000 ล้านตัน ด้วยน้ำมือของประชากร 7,000 ล้านคนบนโลกใบนี้ ถ้ายังไม่รีบแก้ปัญหา ภายในปี 2593 ปริมาณขยะบนโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 70% หรือเท่ากับ 3,400 ล้านตัน [ขยะที่มีปริมาณมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร (44%) กระดาษและลัง (17%) พลาสติก (12%) และ 60% ของขยะทั้งหมดบนโลกมาจากทวีปเอเชียกับยุโรป]

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ในแต่ละปีมีประชากรโลกประมาณ 7 ล้านคน เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคปอด สาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ 90% ของผู้เสียชีวิตอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยจนถึงปานกลางและมีการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง และเกษตรกรรมในอัตราที่สูง ซึ่งมลพิษทางอากาศยังเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ที่เป็นภัยคุกคามระบบนิเวศของโลกอีกด้วย

คุณศุภชัย กล่าวว่า นโยบายสาธารณะมีความสำคัญมากเพราะจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ และทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และในฐานะภาคธุรกิจต้องสร้างความท้าทายให้แก่ตนเองเพื่อสร้างต้นแบบในการตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น “การลดขยะหรือขยะเหลือศูนย์” ควรเป็นแนวทางหลักในการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการต่างๆ ซึ่งเครือซีพีมี “นโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” ส่งเสริมให้ทุกหน่วยธุรกิจคิดและแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลาย และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือนำมาใช้ซ้ำได้

นโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนของเครือซีพี ขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์ “5Rs” ได้แก่ 1.การสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค หรือ Re-educate เพื่อลดการก่อให้เกิดของเสีย 2.การลดการใช้พลาสติก หรือ Reduce 3.การรีไซเคิลพลาสติก หรือ Recycle 4.การใช้วัสดุทดแทน หรือ Replace และ 5.การค้นคว้าวิจัยนวัตกรรม หรือ Reinvent

นอกจากนี้ เครือฯยังให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำฟาร์มแบบยั่งยืน เพื่อไม่ก่อให้เกิดของเสียหรือขยะ เช่น การใช้ก๊าซชีวภาพมาจากการทำฟาร์มสุกร การใช้พลังความร้อนจากใต้ดิน การบำบัดน้ำเสียก่อนนำไปใช้เพื่อการชลประทาน รวมทั้งยังมีการออกแบบฟาร์มกุ้งระบบปิดแบบบูรณาการในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

“เรามาจากธุรกิจด้านเกษตรกรรม ซึ่งเราได้กำหนดเป้าหมายอย่างท้าทายว่าเราจะเป็น องค์กรปลอดคาร์บอน ปัจจุบันหลายธุรกิจทั่วโลกต่างมองหาหนทางที่จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกในทุกขั้นตอนเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์และสะสมคาร์บอนเครดิต เราได้เห็นผลกระทบเชิงบวกอย่างมากจากการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับการดำเนินธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ระบบดาวเทียมที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถระบุพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังช่วยจัดโซนและลดอัตราความล้มเหลวให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งการที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทำให้เกิดทางเลือกในการแก้ปัญหาได้อย่างเฉพาะเจาะจง และถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการอย่างเราที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เอื้อประโยชน์และสร้างโอกาสแก่ผู้คนรอบตัว” คุณศุภชัย แสดงความเห็น

ยึดมั่นการเป็นองค์กรที่ดี
คุณศุภชัย ยังได้กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะทำให้บริษัทจะประสบความสำเร็จได้ คือ การเป็น องค์กรที่ดี (Good Corporate Citizens) และมีส่วนร่วมในการสร้างแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งนี้ เครือซีพี มุ่งมั่นดำเนินกิจการอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรม ด้วยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่ดีที่สุดในระดับโลก ไม่ใช่แค่ทำตามกฎและข้อบังคับเท่านั้น

“ ผมมองว่า “คน” หรือ “บุคลากร” เป็นสินทรัพย์ที่ทรงคุณค่าที่สุด เราจึงจำเป็นต้องฝึกฝนบุคลากรให้มีความสามารถ ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม(Ecosystem) เพื่อพัฒนาเข้าให้ เป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างของค่านิยมองค์กรและความยั่งยืน ผมขอยกตัวอย่าง การก่อตั้งสถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Leadership Institute) เพื่อฝึกอบรมผู้นำและผู้บริหารรุ่นใหม่ปีละกว่า 4,000 คน โดยเน้นเรื่องการบริหารจัดการ ความรับผิดชอบต่อสังคม หลักธรรมาภิบาล และจริยธรรม ซึ่งวิธีนี้ยังนำไปใช้ในการปฏิรูปการศึกษาของไทยซึ่งเราได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะภาคเอกชน”

“ในมุมมองของผม ความรับผิดชอบต่อสังคมและการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมควรเป็นรากฐานสำคัญของทุกสิ่งที่เราลงมือทำหรือตั้งใจจะทำในอนาคต ซึ่งต้องเริ่มจากตัวเราในระดับบุคคลก่อนจะแผ่ขยายไปยังผู้คนรอบตัว ตามที่ศาสตราจารย์ยูนุสได้พิสูจน์และเป็นแบบอย่างให้เห็นแล้วหลายต่อหลายครั้ง”

หลักการ 3 วงกลมเพื่อธุรกิจที่ยังยืน
คุณศุยชัย ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ในการทำขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ โดยกล่าวว่า เครือฯ ดำเนินการโดยใช้ “หลักการ 3 วงกลม” (The Three – circle Principle) ซึ่งก็คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ในวงสังคม ซึ่งเป็นวงแรก คุณศุภชัยกล่าว่า ทุกคนต่างแสวงหาความฝัน ความมั่นคง และความสุข โดยมีความรัก(Love) และความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) เป็นรากฐานในการสร้างคุณค่าทางสังคมและการแบ่งปัน และยังเป็นสร้างวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อสร้างโมเดลในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน

“ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความเห็นอกเห็นใจจะทำให้เราเกิดความเข้าใจและรู้สึกมีส่วนร่วมต่อกันและกันอย่างลึกซึ้ง จนนำไปสู่แนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมอย่างยั่งยืนในที่สุด ซึ่งหมายความว่าพวกเราทุกคนจะต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการกระทำของเราที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อื่น”

วงที่สอง คือ วงเศรษฐกิจ นั้น คุณศุภชัย กล่าวว่า องค์กรต้องแน่ใจว่าธุรกิจมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงพอที่จะเป็นกำลังในการทำความดีได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งใหญ่แค่ไหนขึ้นอยู่ที่ความสามารถและความเป็นผู้นำที่ดี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดึงดูดและแสวงหาการลงทุน รวมทั้งต้องรักษาผู้คนในองค์กรไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่มี Passion มีความเป็นผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งความรัก(Love)และความเห็นอกเห็นใจ(Compassion)จะก่อให้เกิดผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งบริษัทต่างต้องการผู้นำเหล่านี้เพื่อสร้างความสำเร็จในระยะยาวแก่องค์กร

วงที่สาม วงสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณศุภชัย กล่าวว่า ความต้องการที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและการปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมนั้น ทำให้ไม่สามารถที่จะหยุดฝัน หรือ หยุดทำงานหนัก เพราะความสำเร็จไม่ได้เกิดในชั่วข้ามคืน ซึ่งมีความเชื่อว่าความรักและความเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้เราเดินตามความฝันได้ต่อไป

“ผมเชื่อมั่นว่า เราทุกคนจะร่วมมือกันมากขึ้นในอนาคต เพราะความร่วมมือจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขยะ และมลพิษที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จะเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต ซึ่งเราอาจได้ใช้ชีวิตอยู่ทันเห็นท้องฟ้าเป็นสีดำ มหาสมุทรเป็นพิษ อากาศที่ใช้หายใจไม่ได้ รวมไปถึงความแตกต่างและความขัดแย้งที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม เราทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าถ้าเราไม่เปลี่ยน เรื่องทั้งหมดนี้ต้องเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง เราต้องยอมรับความจริงว่าตอนนี้พวกเรายังทำได้ไม่ดีพอ เราต้องเปลี่ยน เราสามารถเปลี่ยนได้ และเราต้องเปลี่ยน”

“เราทุกคนต่างแสวงหาความฝัน ความมั่นคง และความสุข โดยมีความรัก (Love) และความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) เป็นรากฐานในการสร้างคุณค่าทางสังคมและการแบ่งปัน รวมถึงเป็นสร้างวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อสร้างโมเดลในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน” ถ้อยความนี้บ่งบอกถึงวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจอย่างยืนของ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็น Closing Speech บนเวทีการประชุมระดับโลก Social Business Day2019 ที่ Yunus Center และภาคีเครือข่ายชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมจัดขึ้นที่ประเทศไทยไปเมื่อเร็วๆ นี้