ประธานอาวุโสซีพี “ธนินท์ เจียรวนนท์” ขึ้นเวทีพร้อม “แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ป ร่วมเสนอวิสัยทัศน์การศึกษาแห่งอนาคตมุมมองของภาคธุรกิจ

ประธานอาวุโสซีพี “ธนินท์ เจียรวนนท์” ขึ้นเวทีระดับโลกพร้อม “แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ป ร่วมเสนอวิสัยทัศน์การศึกษาแห่งอนาคตมุมมองของภาคธุรกิจ ชูแนวคิด “ครู” คือคนสำคัญที่จะช่วยปฏิรูปยกระดับการศึกษา แนะใช้เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสนอจัดรูปแบบการศึกษาที่รองรับยุคหุ่นยนต์-เอไอ “ประธานอาวุโส” ยกกรณีศึกษา “สถาบันผู้นำซีพี” พัฒนาบุคลากรในทุกมิติให้สอดรับกับองค์กรธุรกิจ ด้าน “แจ็ค หม่า” ยกแนวคิดใหม่ “LQ” The Q of Love ความฉลาดทางจิตใจเพื่อปัญญาญาณรับมือยุคหุ่นยนต์ โดยทั้ง “ซีพี-อาลีบาบากรุ๊ป” เชื่อในการ “สร้างคน” ต้องให้ลงมือทำงานเผชิญปัญหา ในโลกจริงมากกว่าเรียนในตำรา

วันที่ 3-4 ธันวาคม 2562 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จัดการประชุมเพื่อการศึกษาโลก 2019 หรือ “2019 Forum for World Education” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยเวทีนี้ได้เชิญบรรดาผู้นำด้านธุรกิจระดับโลกที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนและการศึกษาเข้าร่วมประชุมเพื่อระดมความเห็นในการออกแบบ “รูปแบบการศึกษาแห่งอนาคตสำหรับทศวรรษหน้า” โดยตั้งเป้าหมายที่จะใช้นวัตกรรมทางการศึกษาเป็นพลังเสริมสร้างอนาคตเศรษฐกิจโลกให้แข็งแกร่ง

ในโอกาสนี้ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้รับเชิญพร้อมนักธุรกิจและนักการศึกษาชั้นนำในระดับนานาชาติ ให้เข้าร่วมประชุมและรับฟังปาฐกถาพิเศษของนายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานบริหารบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โดยเวทีนี้ต้องการให้ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา สะท้อนความคิดเห็นเรื่องการศึกษาในอนาคตที่จะสามารถรองรับความต้องการของภาคธุรกิจที่เป็นแหล่งงานในอนาคต โดยนายแจ็ค หม่า ได้สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรธุรกิจอย่างอาลีบาบากรุ๊ปคัดเลือกบุคลากรจากคนที่ใฝ่รู้ และเป็นผู้สนใจเรียนรู้ตลอดชีวิตมากกว่าพิจารณาจากสถาบันการศึกษามีชื่อหรือวุฒิการศึกษาสูง ซึ่งการเรียนรู้จากสังคมและการทำงานจริงถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ฉะนั้นการผลิตนิสิตนักศึกษาต้องสำรวจตลาด เพราะในอนาคตเป็นยุคของบริษัทสตาร์ทอัพ ดังนั้นต้องพิจารณาว่าบริษัทเหล่านี้ต้องการบุคลากรแบบไหนเพื่อผลิตคนให้สอดคล้องกับตลาด เพราะสถานการณ์ปัจจุบันกว่า 50-60% ของอาชีพในโลกกำลังหายไปอย่างที่เราคาดไม่ถึง

ทั้งนี้ นายแจ็ค หม่า ยังเสนอถึงการศึกษาในโลกอนาคตที่จะต้องปฏิรูปใน 2 ด้านสำคัญ คือ
1.สร้างครูที่มีคุณภาพสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมีความเชื่อมั่น และให้ความสำคัญตั้งแต่การเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล มัธยม สิ่งสำคัญจะต้องสร้างให้เด็กเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

2.ปรับเนื้อหาการศึกษาใหม่เพื่อรองรับสู่ยุคดิจิทัล ให้เด็กเรียนโดยรู้เป้าหมายแท้จริงในชีวิต ไม่ใช่เรียนเพื่อไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยและจบออกมาโดยไม่รู้ความต้องการของตัวเอง ขณะเดียวกันโลกอนาคตมนุษย์จะต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์อย่างเข้มข้น ดังนั้นต้องสร้างทักษะสำคัญที่มนุษย์จะมีเหนือหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ให้ได้ สิ่งสำคัญจึงต้องมี The Q of Love หรือ LQ ที่เป็น “ความฉลาดทางจิตใจ” เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจาก IQ และ EQ เพื่อรองรับการทำงานในวันข้างหน้าร่วมกับหุ่นยนต์ออโตเมชั่น เพราะการมีหัวใจและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์นี่เองที่จะทำให้เราเป็นผู้มีปัญญาญาณ หรือ Wisdom เหนือปัญญาประดิษฐ์ที่แท้จริง

แจ็ค หม่า ยังเรียกเสียงปรบมือจากนักธุรกิจ นักการศึกษา และผู้ร่วมฟังปาฐกถา เมื่อเขาเสนอว่าการเรียนการสอนในอนาคตต้องเน้นไปที่ “วิสัยทัศน์ระดับโลก” เช่นเรื่องการเมืองการปกครองแทนที่จะสอนสิ่งที่ซับซ้อนเส้นแบ่งเขตแดน ควรสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงความแตกต่างในโลกเพื่อให้เขามีความเคารพต่อโลก เคารพในความแตกต่าง เคารพทุกศาสนา เคารพทุกวัฒนธรรม และนี่คือคำตอบของการศึกษาโลกที่จะทำให้เด็กได้เข้าใจ เรียนรู้และให้เกียรติผู้อื่น นอกจากนี้ เราจะต้องสอนให้พวกเขามีทักษะความคิดสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพ และนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญในอนาคต

สำหรับผู้สนใจอ่านปาฐกถาฉบับเต็มของ แจ็ค หม่า คลิกอ่านได้ที่นี่ > http://www.cp-enews.com/news/details/cpinternal/3480

@ประธานอาวุโสเครือซีพี ชี้ “ครู” คือคนสำคัญในการสร้างการศึกษาที่ดี แนะใช้เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ขณะที่ท่านประธานอาวุโสธนินท์ ซึ่งได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีร่วมรับฟังปาฐกถาด้านการศึกษาของแจ็ค หม่า ได้สะท้อนความคิดเห็นที่สอดคล้องกันว่า การพัฒนาคนเก่งนั้นต้องใช้ครูที่เก่ง โดยเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล ทั้งนี้การศึกษาจะต้องปรับให้ก้าวทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง รายได้ของครู อาจารย์ต้องปรับให้สูง ทั้งยังต้องสอนให้ทันตามโลก สอนให้เด็กใจกว้าง อดทน และเรียนรู้ตลอดเวลา รวมทั้งต้องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จัดหาครูที่มีความรู้ความสามารถมาใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอนทางไกลให้กับนักเรียนและผู้คนในชนบท เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้ และที่สำคัญคือการศึกษาก็เหมือนกับธุรกิจ ต้องมีการปรับตัว และต้องพิจารณาว่าตลาดแรงงานต้องการอะไร

นอกจากนี้ยังเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญที่นักเรียนจะต้องรู้จักนำมาประยุกต์ใช้ โดยประธานอาวุโสธนินท์ กล่าวว่า ประเทศที่รู้จักใช้เทคโนโลยี จะไม่มีทางล้ม และไม่ต้องกลัวเทคโนโลยี เพราะคนเป็นผู้สร้างเทคโนโลยี เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือของมนุษย์

ท่านประธานอาวุโสธนินท์ กล่าวต่อว่า คนรุ่นเก่าต้องใจกว้าง และต้องเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ และ ต้องให้คนใหม่ทำเรื่องใหม่ เช่นเดียวกับนักธุรกิจสำคัญของจีนหลายคน ตั้งแต่ แจ็ค หม่า เป็นผู้ที่รู้จักใช้เทคโนโลยีมาสร้างธุรกิจ และใช้คนสร้างธุรกิจ ทั้งที่เขาไม่ได้รับการศึกษาจากซีกโลกตะวันตกเลย นอกจากนี้ยังมี โพนี่ หม่า ก่อตั้งเทนเซ็นต์ บริษัทชั้นนำของจีนเจ้าของ We Chat และเกมส์ออนไลน์ชื่อดัง รวมถึงปีเตอร์ หม่า ผู้ก่อตั้ง ผิงอัน บริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่สุดของจีน อย่างไรก็ตามท่านประธานอาวุโส เสนอแนะว่า เรายังต้องเรียนรู้เทคโนโลยีจากซีกโลกตะวันตก เพราะต้องยอมรับการศึกษาในซีกโลกตะวันออกยังสู้ไม่ได้ การเป็นนักธุรกิจต้องนำเทคโนโลยีที่ดี ๆ ของทั่วโลกมาใช้

@ยกกรณีศึกษา “สถาบันผู้นำซีพี” สร้างคนเพื่อรองรับภาคธุรกิจ
ท่านประธานอาวุโสธนินท์ ยังได้แสดงความเห็นแลกเปลี่ยนในเวทีการศึกษาครั้งนี้ ถึงแนวทางสำคัญในการ “สร้างคน” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อรองรับโลกของการทำงาน โดยได้ยกตัวอย่างถึงสถาบันผู้นำของเครือซีพีที่ได้ผลิตและอบรมบุคลากรให้สามารถเติบโตทั้งความคิดและการทำงานแบบผู้ใหญ่ที่มีความเป็นมืออาชีพ โดยใช้เวลา 3 เดือน สามารถเปลี่ยนคนเหล่านี้ได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะได้ไปสัมผัสของจริง เผชิญปัญหาจริง เพราะเชื่อว่าหากผู้เข้ารับการอบรมยิ่งได้เผชิญปัญหาและแก้ไขปัญหาได้มากเท่าไร นั่นจึงเรียกได้ว่าเป็นของจริง แล้วถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วย ถึงจะเรียกว่าสามารถประยุกต์ใช้ความรู้จริงที่แท้จริง เพราะการอ่านแค่ในหนังสือไม่ได้ทำให้ได้เรียนรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาได้แท้จริง

ในเวที “2019 Forum for World Education” ที่มุ่งหวังให้องค์กรธุรกิจชั้นนำของโลกได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับภาคการศึกษาเพื่อออกแบบการศึกษาในอนาคตร่วมกันนี้ ประธานอาวุโสธนินท์ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรงในการบริหารธุรกิจเครือซีพีที่มีพนักงานทั่วโลกกว่า 3 แสนคน ได้แสดงความเห็นว่า ก่อนที่การเรียนการสอนจะมีการวางหลักสูตรใหม่ ต้องศึกษาวิจัยความต้องการในโลกยุคนี้ก่อน พิจารณาว่าลักษณะบุคลากรหรือหน่วยงานใดที่บริษัทยังขาดแคลนและต้องการในตลาดแรงงาน และต้องมองตลาดความต้องการในระดับโลกไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เพราะต่อไปในอนาคตโลกจะไร้ขอบเขตคนไทยไม่จำเป็นต้องทำงานแค่ในประเทศไทยเท่านั้น

ขณะเดียวกัน การเรียนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เราต้องลงมือไปปฏิบัติจริงไปสัมผัสของจริง ต่อไปการศึกษาต้องมีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้เท่าทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และแก่นแท้ที่ดีที่สุดต้องสร้างอาจารย์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด การที่จะสร้างอาจารย์ให้ได้เยี่ยมที่สุด ก็ต้องให้เกียรติเขามากที่สุด ให้รายได้ที่มากที่สุด เพื่อที่จะทำให้คนเก่ง ๆ ในสังคมหรือในโลกนี้ต้องการที่จะหันมาประกอบอาชีพครูหรืออาจารย์ ถ้าเราให้เงินเดือนที่ไม่คุ้มค่า ไม่มีเกียรติไม่ให้ค่า คนดี ๆ หรือคนเก่ง ๆ ก็จะไม่มีใครสนใจที่จะประกอบอาชีพนี้ นอกจากนี้ ต้องประยุกต์นำเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ตมาใช้ในการเรียนการสอน ทุ่มเทกับอุปกรณ์ที่ทันสมัยเอื้ออำนวยต่อการศึกษา ไม่ยึดติดกับการสอนรูปแบบเดิมในห้องเรียน แต่ต้องไปสัมผัสของจริง การศึกษาที่ดีต้องสร้างคนที่ไปทำงานได้จริงไม่ใช่เรียนแต่หนังสือ https://youtu.be/PUMLsZ_sWVw

@ประธานอาวุโสธนินท์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรุ่นใหม่ถึงการศึกษาแห่งอนาคต
ในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ ประธานอาวุโสธนินท์ ยังได้ขึ้นร่วมสัมมนาหัวข้อ Young leaders in discussion with business leaders เพื่อระดมความคิดกับผู้นำธุรกิจระดับโลกกับคนรุ่นใหม่เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านการศึกษาแห่งอนาคต มีผู้เข้าร่วมสัมมนา อาทิ นายเดวิด ครุกแชงก์ ประธานบริษัท ดีลอยท์ แห่งสหราชอาณาจักร, แพม กรอสแมน คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา และตัวแทนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมสัมมนา โดยเดวิด ครุกแชงก์ ได้นำเสนอให้เห็นสภาพการจ้างงานในมุมมองของภาคธุรกิจ ซึ่งมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะที่เข้มข้นในวิชาชีพ ทักษะทางภาษา ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะทางดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการเทรนและฝึกอบรมบุคลากร แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายคือการเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์ที่จะมีบทบาทในการทำงาน จึงต้องการบุคลากรที่มีความสามารถ ทักษะในการแก้ปัญหา และทักษะทางดิจิทัล

ขณะที่ท่านประธานาอาวุโส ธนินท์ กล่าวถึงสาระสำคัญของบุคลากรในภาคธุรกิจว่า ต้องมีสิ่งสำคัญ 3 อย่าง คือ 1.การที่บุคคลนั้นรู้จักการเรียนรู้จากความล้มเหลว 2.การเป็นคนเก่ง มีความสามารถ และ 3.การที่ระบบการศึกษาจะต้องสอนคู่ขนานไปกับภาคธุรกิจ

ส่วนคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ม.เพนซิลเวเนีย ให้ความเห็นว่า มหาวิทยาลัยต้องเตรียมพร้อมให้มากขึ้น เพราะในอนาคตอาชีพเปลี่ยนแปลงไป และทักษะที่ต้องการก็แตกต่างมากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องสร้างให้คนรุ่นใหม่มีทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และต้องมีความร่วมมือจากสถาบันการศึกษากับองค์กรธุรกิจเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานและสร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ ในอนาคต และต้องเรียนรู้ทักษะประเภทซอฟท์สกิลด้วย อาทิ ทักษะทางสังคม การสื่อสาร การแก้ปัญหา ความรับผิดชอบ และการตระหนักรู้

ในเวทีนี้ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากจีน สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับประธานอาวุโสเครือซีพี และประธานบริษัท ดีลอยท์ โดยได้ตั้งข้อสังเกตไว้ได้น่าสนใจว่า คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคเทคโนโลยีเข้มข้น ต้องใช้ชีวิตคู่ขนานกับทั้งโลกออนไลน์ และโลกจริง ท่ามกลางโลกสมัยใหม่นี้ ควรต้องมีทักษะสำคัญในการทำงาน และใช้ชีวิตที่สมดุลอย่างไร เพราะแม้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าใจและสร้างผลงานได้ดีในระดับสูง แต่ด้านหนึ่งเทคโนโลยีหากไปอย่างสุดโต่งก็มีผลกระทบเช่นกัน ผู้ร่วมเสวนาในฟากคนรุ่นใหม่จึงเห็นความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยต้องสอนทักษะซอฟท์สกิลให้เพื่อรับมือกับการทำงานในยุคหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้นประเด็นการจัดการเทคโนโลยีเพื่อยั่งยืน หรือ Technology Sustainable จึงเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต ต้องให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ว่าทำอย่างไรจะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้ชีวิตมีคุณภาพ

โดยมองว่าสถาบันการศึกษาควรเน้นสอนเรื่องราวด้านความเป็นมนุษย์ให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งชีวิตโดยมากมักจะข้องเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก อาทิ คนรุ่นใหม่ควรได้เรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ เรื่องราวของสังคม ศิลปวัฒนธรรมอย่างเพียงพอ เพื่อเติมเต็มความเป็นมนุษย์มากขึ้นในโลกยุคใหม่ที่เป็นโลกยุคดิจิทัล ดังนั้นจึงเสนอว่าต้องสอนให้คนรุ่นใหม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เข้าใจวัฒนธรรมของประเทศ และภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เข้าใจว่าผู้คนในแต่ละทวีป ภูมิภาค ยุโรป เอเชีย อเมริกาเขาคิดอย่างไร มีเอกลักษณ์และความแตกต่างกัน เพราะอนาคตการศึกษาและโลกธุรกิจจะก้าวสู่รูปแบบที่ไร้พรมแดน

ในเวทีนี้ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ยังแสดงความเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรผลิตบัณฑิตให้พร้อมต่อการทำงาน เพราะจากการรับฟังความเห็นจากประธานอาวุโสเครือซีพี และประธานดีลอยท์จะเห็นว่าองค์กรธุรกิจเหล่านี้ยังต้องมีการอบรมบุคลากรสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องสอนทักษะใหม่ที่ต้องเรียนรู้ มีรูปแบบที่เหมาะสมต่อการทำงาน และมองถึงการที่ภาคธุรกิจจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอย่างไรในการสร้างระบบการศึกษาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ เวทีเสวนาได้ปิดท้ายด้วยการสรุปคำจำกัดความที่เป็นสาระสำคัญจากเวทีนี้ ซึ่งผู้ร่วมสัมมนาได้ชูให้เห็นถึง “ความร่วมมือซึ่งกันและกัน” หรือ Collaboration เป็นหัวใจความสำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคการศึกษาให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ยังเสนอว่าต้องคำนึงถึงความหลากหลายระดับโลก มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพขึ้น สร้างการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน และมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

สำหรับการประชุมครั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ได้เผยแพร่ผลสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งเป็นการวัดระดับการเรียนรู้ของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลก ใน 3 วิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยจีน สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง ติด 4 อันดับแรกของโลก ขณะที่ฟิลิปปินส์อยู่อันดับรั้งท้าย สำหรับประเทศไทย คะแนนด้านการอ่านลดลงไปจากการสอบ PISA หนก่อน

https://youtu.be/QXfBprzcIB

ที่มา CP E News