“สภาดิจิทัล” กับภารกิจสร้างโลกออนไลน์น่าอยู่และปลอดภัย

เมื่อเร็วๆนี้ เว็บไซต์ Hootsuite ทำรายงานสรุป “ประเทศที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก” ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 3 โดยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน รองจากประเทศบราซิลและฟิลิปปินส์ และยังติดอันดับ 1 ประเทศที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลก ประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวันอีกด้วย ส่วนแพลตฟอร์มยอดนิยม 5 อันดับแรกก็ไม่พ้นเว็บไซต์อย่าง Google, Facebook, YouTube, Pantip และ LINE

ส่งเสริมสังคมออนไลน์ปลอดภัย
คงปฏิเสธ ไม่ได้ว่า “อินเทอร์เน็ต” และ “เทคโนโลยีดิจิทัล” กลายเป็นโลกอีกใบของคนไทยไปแล้ว ซึ่งการจะดูแลโลกใบนี้ที่มีประชากรผู้ใช้อยู่ราว 57 ล้านคนให้รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์และสร้างประโยชน์แก่ตนเองจึงต้องมีแพลตฟอร์ม หรือองค์กรๆ หนึ่งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นี้โดยตรง ซึ่งก็คือ ‘สภาดิจิทัลฯ’ นั่นเอง

หลายคนอาจจะส่งสัย ว่า “สภาดิจิทัล” จะเข้ามาทำให้พวกเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร องค์กรนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง เราคงต้องมาทำความรู้จักองค์กรนี้กันให้มากขึ้น

“สภาดิจิทัล” มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย’ เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเอกชนในแวดวงธุรกิจดิจิทัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์, ดิจิทัลเซอร์วิส หรืออุปกรณ์ IoT (Internet of Things)มีความตั้งใจที่จะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและใช้ดิจิทัลกันอย่างปลอดภัยมากขึ้น ทำงานควบคู่กับองค์กรภาครัฐ โดยมีเป้าหมายและแนวทางการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยการนำเทคโนโลยีที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนในสังคมให้มากที่สุด

สภาดิจิทัลฯ เปิดตัวครั้งแรกในงาน Digital Thailand Big Bang 2019 จัดไปเมื่อวันที่ 28-31 ตุลาคมที่ผ่านมา งานนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ให้คนหันมาสนใจการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์มากขึ้น และยังสร้างทักษะใหม่ๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ตนเอง เราจึงได้เห็นผู้ประกอบการและนักพัฒนามาร่วมโชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสังคมกันมากมาย

เทคโนโลยีดิจิทัล ยืนหนึ่งขับเคลื่อนประเทศ
ศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า Digital Transformation หรือ การเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัลจะเกิดขึ้นได้ทุกคนต้องยอมปรับตัวและเปลี่ยนแปลงความคิด และต้องทำตัวให้เรียนรู้ใหม่ได้แม้ในวันที่มีประสบการณ์มากแล้ว ซึ่งถ้าคิดและทำได้เช่นนี้ได้จะช่วยยกระดับศักยภาพของประเทศและเป็นความหวังให้แก่คนรุ่นใหม่ได้”

ปัจจุบันสภาดิจิทัลฯ มีสมาชิกมากกว่า 20 สมาคม และเครือข่ายมากกว่า 4,000 องค์กร ซึ่งมีความเกี่ยวข้องตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีไปจนถึงดิจิทัลคอนเทนต์ คุณศุภชัย บอกว่า ได้กำหนดบทบาทสภาดิจิทัลฯ ให้เป็นองค์กรที่จะช่วย set up มาตรฐานและตัวชี้วัดใหม่ ทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของเศรษฐกิจยุค 4.0
“เราต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างทัศนคติให้พร้อมที่จะปรับตัวสู่ดิจิทัล ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมและธุรกิจให้เข้าใจการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลให้มากขึ้นจนทำให้เขาสามารถปรับตัวได้ทัน และต้องทำให้ไทยมีความเป็นฮับของภูมิภาคนี้ และทำให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างนวัตกรรมด้านดิจิทัลให้แก่โลก ขณะเดียวกันก็ต้องคงบทบาทของการทำให้สังคมเดินคู่ขนานอย่างสมดุลกับการพัฒนาของเทคโนโลยี และทำให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจไทยด้วย” ศุภชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้ภาพรวมอันดับการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยจะอยู่ที่อันดับ 40 แต่หากมองในมุมของ “โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี”แล้ว คุณศุภชัยบอกว่า ประเทศไทยค่อนข้างไปได้เร็ว และที่เห็นชัดคือ ภาคธุรกิจการเงินที่ปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลได้รวดเร็วขึ้น

“วันนี้ทั่วโลกเข้าสู่เทรนด์ดิจิทัลไปแล้ว ประชากร 7 พันกว่าล้านคนทั้งโลก ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 5 พันล้านคน เราจึงเห็นการเติบโตของ การบริโภคข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตที่สูงมาก และจะเป็นเทรนด์สำคัญในอีก 5 ปี ข้างหน้า ตอนนี้ผู้บริโภคนำไปแล้วแต่อุตสาหกรรมและธุรกิจกำลังเริ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเทคโนโลยี 5Gเข้ามาจะเกิดและเติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น ตัวชี้วัดหนึ่งที่ประเทศไทยควรนำมาพิจารณา คือ การเติบโตด้าน Mobile Consumption ซึ่งตอนนี้ของเราสูงถึง 60% สูงกว่าญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ”

คุณศุภชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเราเข้าสู่ยุคที่มีข้อมูลมหาศาล เป็นยุคที่มีการใช้ AI และ Automation เป็นยุคที่เทคโนโลยีด้านดิจิทัลจะเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมทั้งมีการสร้างนวัตกรรมที่รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าใช้ไปในทางถูกต้องจะทำให้สังคมปลอดภัย โปร่งใส่ เป็นสังคมน่าอยู่ ในอนาคตจะเป็นยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลนำอำนาจกลับไปให้ผู้คน ระบบสังคมโดยรวมจะมีการขับเคลื่อนแบบโปร่งใสไม่มีขอบเขตและไม่มีระดับชั้นในระบบสังคมและเศรษฐกิจ

สร้างความตระหนักรู้ “Cyber Security”
ดร.วีระ วีระกุล กรรมการสภาดิจิทัลฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังไม่มีแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีเป็นของตนเอง แต่ในอนาคตเชื่อว่าหากสภาดิจิทัลฯ เข้ามาทำหน้าที่สนับสนุนและเปิดตัวเองว่าเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการและนักพัฒนาต่างๆ มารวมตัวกันเพื่อพัฒนาหรือแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีจนสามารถสร้างธุรกิจและนวัตกรรมได้เอง จะทำไทยเป็นอีกประเทศที่สามารถผลิตเทคโนโลยีขึ้นมาใช้เองหรืออาจส่งออกเทคโนโลยีได้เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

“ตอนนี้เราสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น การเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกร ด้วยการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ช่วยดูความเหมาะสมของการปลูก หรือใช้โดรนช่วยดูแลพื้นที่เกษตรกรรม การเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยรักษาผู้ป่วยบางรายได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลๆ ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยิ่งในอนาคตหากมีระบบหรือเทคโนโลยีที่โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถแบ่งปันหลักสูตรให้นักเรียนในทุกพื้นที่ทำให้มีความรู้เหมือนๆ กันได้ เชื่อว่าจะเป็นการยกระดับคุณภาพประชากรและสร้างความเท่าเทียมให้มากขึ้น”

สภาดิจิทัลฯ ยังให้ความสำคัญเรื่อง Cyber Security โดยมุ่งมั่นที่จะทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตตื่นตัวและรู้จักระมัดระวังการใช้โซเชียลมีเดียให้มากขึ้น เช่น การโพสต์ข้อมูลส่วนตัว, การอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อแลกสิทธิต่างๆ รวมถึงกฎหมายโลกออนไลน์ที่หลายคนยังไม่มีความเข้าใจ โดยสภาแห่งนี้จะทำหน้าที่รวมพลังคนในอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยทั้งผู้ประกอบการชาวไทยและนักลงทุนจากต่างประเทศ ให้มีการใช้และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเกิดประโยชน์แก่สังคม ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ ก็คือประชาชน

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของสภาดิจิทัลฯ ภายใต้คอนเซปต์ ‘Making Changes To Remap Thailand In The Digital World’ คือ ผลักดันให้ไทยเป็นประเทศดิจิทัลอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาทักษะและความรู้ของประชากรในประเทศให้ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบมากขึ้น และยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแลกเปลี่ยนนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ หรืออาจสร้างธุรกิจใหม่ที่ช่วยยกระดับประเทศไทยได้อีกด้วย

ที่มา: Thestandard / PR News / CP E News