สนค. ชี้ไทยติดอันดับ 9 ประเทศน่าอยู่สำหรับ ‘ต่างชาติวัยเกษียณ’ เหตุค่าครองชีพไม่สูง

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า แนวโน้มสังคมสูงวัยที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ความต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณในต่างประเทศสูงขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากดัชนีเกษียณอายุโลก (Annual Global Retirement Index 2023) โดย International Living พบว่า ประเทศไทย อยู่อันดับ 9 (ร่วมกับอิตาลี) จาก 16 ประเทศ สำหรับประเทศที่เหมาะสำหรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณมากที่สุด ถือเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียที่ติดอันดับนี้

5 อันดับแรก ได้แก่ โปรตุเกส เม็กซิโก ปานามา เอกวาดอร์ และคอสตาริกา

อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ที่กล่าวถึงนี้จะพิจารณาจากปัจจัย 7 ด้าน ได้แก่ ที่พักอาศัย การขอวีซ่าและสิทธิประโยชน์ ค่าครองชีพ สภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข การพัฒนา/หลักธรรมาภิบาล และความคิดเห็นจากกลุ่มลูกค้าและบุคลากรอาวุโสขององค์กร โดยด้านผลการจัดอันดับคะแนนด้านค่าครองชีพตั้งแต่ ปี 2564 – 2566 ของไทย ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ การจัดอันดับประเทศที่น่าอยู่ที่สุดสำหรับวัยเกษียณ (Best Countries for a Comfortable Retirement 2023) โดย U.S. News and World Report สื่อสัญชาติสหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 18 จาก 87 ประเทศ เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในทวีปเอเชีย

5 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ โปรตุเกส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสเปน

ทาง สนค. มองว่า จากปัจจัยที่ไทยได้รับการคัดเลือกมาจาก “ระดับค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตที่ไม่สูงมากนักในทรรศนะของต่างชาติ” สะท้อนจากคะแนน หมวดค่าครองชีพของ International Living และหมวดระดับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของ U.S. News and World Report ที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเกณฑ์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากระดับราคาสินค้าและบริการ ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเครื่องชี้วัดค่าครองชีพของไทยที่การเคลื่อนไหวไม่ผันผวนมากนักเมื่อเทียบกับ 21 ประเทศ เช่น โปรตุเกส สเปน อิตาลี ที่ได้รับการจัดอันดับกลุ่มประเทศน่าอยู่สำหรับวัยเกษียณเช่นกัน

ทั้งนี้ ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของไทย เดือน ส.ค. 2566 เมื่อเทียบกับต่างประเทศพบว่า ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จาก 7 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว)

ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ก.ย. 2566 เพิ่มขึ้น 0.30% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.–ก.ย.) ปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูงนัก จึงมองว่าจะเป็นจุดดึงดูดให้ชาวต่างชาติมาใช้ชีวิตวัยเกษียณที่ประเทศไทยมากขึ้น

หมายเหตุ 

รายงานขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ปี 2565 ระบุว่า ทั่วโลกมีประชาชนสูงอายุมากขึ้น โดยประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวนกว่า 770 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.7% ของประชากรโลก และอีก 27 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2593) จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเกือบ 1,600 ล้านคน หรือมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 16.4% จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป

ที่มา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า