SCB EIC ปรับเศรษฐกิจไทยปี 2566 เป็น 3.9% หนี้ครัวเรือนยังกดดันการบริโภค


SCB EIC ได้จัดบรรยายสรุปในหัวข้อ “Economic Outlook มุมมองเศรษฐกิจไตรมาส 1/256” โดยดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร พร้อมด้วย ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อานวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน EIC

SCB EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เป็น 3.9% จาก แรงหนุนภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชน รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงใหม่จากวิกฤตเสถียรภาพระบบการเงินโลกถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องติดตามใกล้ชิด

SCB EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เป็น 3.9% (เดิม 3.4%) ขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการที่ฟื้นตัวดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 30 ล้านคนและกลับไปแตะระดับก่อนเกิด COVID-19 ได้ในช่วงปลายปี 2567 มองว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาได้ราว 4.8 ล้านคนหลังจีนยกเลิกมาตรการ Zero-COVID เร็วขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวชาติอื่นคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดแรงงานและการบริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง

ด้านการส่งออกไทยในปีนี้ แม้จะมีแนวโน้มไม่สดใสนัก แต่ยังคงมุมมองว่ามูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ 1.2% ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีกว่าคาดและอุปสงค์จากจีนที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังมีตลาดส่งออก 3 แห่งที่มีศักยภาพและเป็นโอกาสของไทย ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาด CLMV และตลาดลาตินอเมริกา

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้น ตลอดจนแนวโน้มการขอรับและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนที่สูงขึ้น สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 2.7% กลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ ตามราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลงและมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศที่มีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะชะลอลงมาที่ 2.4% แต่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนการทยอยส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตสู่ราคาผู้บริโภคในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้นและแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ที่เริ่มมีมากขึ้น

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC)
และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ในกรณีฐาน SCB EIC มองเศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกเพิ่มจาก 1.8% เป็น 2.3% เนื่องจากข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาดและจีนเปิดประเทศเร็วขึ้น โดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้ สำหรับเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนหลังกลับมาเปิดประเทศ

ในรอบสามปี นอกจากนี้ สถานการณ์ Silicon Valley Bank ในสหรัฐฯ ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องและถูกปิดลงคาดว่าจะมีแนวโน้มทำให้สภาพคล่องและความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับลดลงเล็กน้อยในระยะสั้น ความเสี่ยงที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกเหมือนในปี 2551 ยังมีน้อย แต่มองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกระทบเศรษฐกิจ การค้า และห่วงโซ่อุปทานโลกได้”
นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า “ภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปของโลกมีแนวโน้มต่ำลงตามราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลง แต่เงินเฟ้อพื้นฐานที่ธนาคารกลางให้ความสำคัญมีแนวโน้มชะลอลงได้ช้ากว่า จากตัวเลขการจ้างงานที่ยังแข็งแกร่งช่วยสนับสนุนรายได้แรงงานและการใช้จ่ายได้ดี ธนาคารกลางจึงมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นกว่าระดับที่เคยคาดไว้ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.25-5.5% (เดิมคาด 5.0-5.25%) เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 3.75% (เดิมคาด 3.25%) อย่างไรก็ตาม ขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้จะลดลงจากปีก่อนมาก ภาวะทางการเงินโลกจะตึงตัวขึ้นอีกไม่มากนัก”

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทย ดร.สมประวิณ กล่าวว่า “ในกรณีฐาน SCB EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การท่องเที่ยวและการบริโภคจะเป็นฟันเฟืองหลักช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยให้ภาคธุรกิจใน Tourism ecosystem ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนค่อนข้างสูง รวมถึงตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวกลับมาใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 แล้ว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงงานที่กลับเข้ามาทำงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการมากขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานในภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น”

อย่างไรก็ดี ดร.สมประวิณ มองว่า “เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ คือ

    • (1) ปัญหา Geopolitics รุนแรงขึ้นอาจกระทบ Global supply chain และการส่งออกไทย

 

    • (2) นโยบายการเงินโลกตึงตัวแรงขึ้นจากเงินเฟ้อโลกลดลงช้า

 

    • (3) หนี้ครัวเรือนกลับมาเร่งตัวส่งผลกดดันการบริโภค

 

    (4) ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐในระยะข้างหน้าได้ รวมถึงความเสี่ยงใหม่จากวิกฤตเสถียรภาพระบบการเงินโลก ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องติดตามใกล้ชิด โอกาสที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกยังมีน้อย ตราบใดที่ธนาคารกลางให้ความมั่นใจได้ว่าสามารถให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องได้เพียงพอและทันการณ์ ทำให้ความเชื่อมั่นในเสถียรภาพระบบธนาคารทั่วโลกยังเข้มแข็งอยู่

 

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน Economic Intelligence Center

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า “ในกรณีที่สถานการณ์ลุกลามจนเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EMs จะได้รับผลกระทบรุนแรงตามไปด้วยผ่าน 4 ช่องทาง คือ การส่งออกแย่ลง เงินทุนไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ภาวะการเงินในประเทศตึงตัว นโยบายการเงินของกลุ่มประเทศ EMs ที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศอ่อนแอจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงิน เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบผ่านการส่งออกและภาวะการเงินตึงตัว ตลาดการเงินไทยอาจเผชิญความผันผวนสูงตามทิศทางตลาดการเงินโลก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงตามเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเช่นในอดีต ทั้งนี้ตลาดการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง แม้ต้องเผชิญความผันผวนสูงในช่วงวิกฤตการเงินที่ผ่านมาหลายครั้ง ความผันผวนของภาวะการเงินไทยโดยรวมไม่ได้ส่งผลต่อระดับความตึงตัวของภาวะการเงินมากนัก ผลกระทบผ่านช่องทางตลาดทุนต่อความมั่งคั่งของครัวเรือนในภาพรวมมีจำกัด”

 

นอกจากนี้ ดร.ฐิติมา กล่าวว่า “ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลกดดันการบริโภคในระยะต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey ล่าสุดที่ชี้ว่า ปัญหารายได้โตไม่ทันรายจ่ายเพิ่มขึ้นมากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ลูกหนี้หน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 และมีแนวโน้มจะกู้ยืมมากขึ้นในอนาคตเพื่อใช้ชำระหนี้เก่าเป็นหลัก นอกจากนี้ ลูกหนี้เงินกู้นอกระบบยังน่าเป็นห่วงจากแนวโน้มก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 ถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องติดตามเช่นกัน เพราะอาจกระทบการใช้จ่ายภาครัฐได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความเร็วในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ของรัฐบาลชุดใหม่ โดยในกรณีฐาน SCB EIC มองว่า การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่กระทบการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2566 เท่าไรนัก เพราะรัฐบาลปัจจุบันได้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่าน ๆ มา รวมถึงได้เร่งอนุมัติโครงการก่อสร้างภาครัฐใหม่ คาดว่าอัตราเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้รัฐบาลรักษาการและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่จะต่ำลงบ้าง และ พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2567 จะประกาศใช้ล่าช้าไม่เกิน 3 เดือน แต่หากมีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลให้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ประกาศใช้ล่าช้ากว่ากรณีฐาน อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงปีนี้และปีหน้าได้ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ”

SCB EIC คาดว่า ในกรณีฐาน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีสู่ระดับ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อไทยจะยังไม่ปรับลดลงเร็วนัก ทั้งนี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น การทยอยสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน จะทำให้ภาวะการเงินไทยมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่จะปรับแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะกลับมาอ่อนค่า โดยเฉพาะหลัง Fed เริ่มหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี