ซีพีมุ่งมั่นปลูกฝังแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สังคมไทย จับมือภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนโครงการ “SDGs Game Fest” ร่วมหว่านเมล็ดพันธุ์ปั้นคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์เกมออนไลน์ ใส่ใจโลกอย่างยั่งยืน

นับเป็นมิติใหม่ของความพยายามผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย 17 ข้อ ที่มุ่งหวังการพัฒนาโลกที่ยั่งยืนทั้งในภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวสำคัญ โดยองค์กรธุรกิจ นำโดย “บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด” ร่วมกับ “บริษัท ทรู ดิจิตอล พลัส จำกัด” พร้อมด้วยภาครัฐ ประชาสังคม และแวดวงธุรกิจเกมออนไลน์ จับมือร่วมกันสร้างโครงการแข่งขันออกแบบและพัฒนาเกม SDGs Game Fest” ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่เยาวชน และประชาชนทั่วไปผ่านเกมออนไลน์

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เปิดกว้างให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถรวมตัวเป็นทีมสมัครเข้าร่วมแข่งขันโดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 100 ทีม เป็นผู้สมัครที่มีอายุตั้งแต่ 12-70 ปี บางคนแม้ไม่มีประสบการณ์เป็นนักพัฒนาเกมออนไลน์ แต่สามารถนำความสนใจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ามาร่วมประยุกต์ในเนื้อหาเกมออนไลน์ได้อย่างน่าประทับใจ

ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหาร และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการนี้มุ่งหวังให้เกมออนไลน์เป็นสื่อกลางที่จะช่วยทำหน้าที่สอดแทรกเนื้อหาและความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาที่่ยั่งยืน หรือ SDGs เข้าไปผสมผสานกับความสนุกของเกม ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้าใจและตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก

ปัจจุบันโลกของเกมออนไลน์กำลังเป็นภาษาสากลเช่นเดียวกับประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ดังนั้นโครงการ SDGs Game Fest จึงนำเรื่องเกมและความยั่งยืนมาผสมผสานสร้างเนื้อหาที่จะทำให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้าใจประเด็นปัญหาสำคัญของโลกผ่านเกมออนไลน์

“ปัญหาโลกร้อน ปัญหาขยะ ความไม่เท่าเทียม ความยากจน ความหิวโหย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญ และเป็นโจทย์ใหญ่มาก ถ้าเราไม่สามารถขับเคลื่อนให้คนทุกรุ่น และคนรุ่นใหม่ในอนาคต ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารและผู้นำ ให้เข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจะขาดกำลังสำคัญเหล่านี้ไป”

“ดังนั้นจึงต้องส่งต่อประเด็นเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังถือคบเพลิงต่อไปให้สำเร็จ ทำให้เยาวชน คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่วันนี้ ซึ่งเกมเป็นหนึ่งในสื่อภาษาสากลที่สามารถนำเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาสอดแทรกคุยกับเยาวชนได้ และน่าภูมิใจว่าหลายทีมที่เข้าแข่งขัน สามารถออกแบบเกมที่พูดภาษา SDGs ผ่านสื่อเกมได้อย่างน่าสนใจและยังคงความสนุกของเกมได้ด้วย แต่ละทีมได้นำเสนอให้เห็นถึงความเข้าใจถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและนำทั้งสองเรื่องมาผูกกันได้ แสดงให้เห็นว่าจิตสำนึกในเรื่องนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วและเราสามารถฝากความหวังกับเยาวชนในการผลักดันและขับเคลื่อนเรื่อง SDGs ต่อไปได้ในอนาคต” ดร.เนติธรกล่าว

นอกจากนี้ ผลลัพธ์สำคัญจากโครงการนี้จะมีการต่อยอดนำเกมที่ชนะเลิศไปพัฒนาจนผลิตออกมาเป็นเกมออนไลน์จริงและจะนำไปแสดงในงาน Thailand Game Show 2022 ซึ่งคาดว่าจะได้ทีมชนะเลิศภายในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ นอกจากนี้จะขยายผลนำเกมนี้ไปเผยแพร่ในต่างประเทศผ่านเครือข่ายของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และกระทรวงการต่างประเทศด้วย

ด้านคุณมานะ ประภากมล ผู้บริหาร บริษัท ทรู ดิจิตอล พลัส จำกัด กล่าวว่า เกมถือเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ดีที่สุด ในการถ่ายทอดแนวคิดด้านความยั่งยืนให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งแต่ละทีมได้สร้างความประทับใจให้คณะกรรมการผู้พิจารณาอย่างมาก เพราะการสร้างสรรค์เกมให้สนุกก็ว่ายากแล้วยังต้องสอดแทรกเรื่องราวการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปด้วย นับเป็นความท้าทายมากขึ้นไปอีก แต่ทีมต่างๆ ได้ออกแบบเกมที่เกี่ยวกับ SDGs ได้ลึกซึ้งและมีศักยภาพมาก

โครงการ SDGs Game Fest ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ไปยังคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตให้ได้ตระหนักและรับรู้เรื่องความยั่งยืน และหวังว่าเรื่องนี้จะอยู่ในจิตสำนึกและเป็นส่วนหนึ่งในผลงานการออกแบบเกมใหม่ๆของพวกเขาในอนาคต

ขณะที่ คุณแคทรียา ปทุมรส ผู้อำนวยการกองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า ขณะนี้กรอบเวลาการดำเนินการตามเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติภายในปี 2030 เหลือไม่ถึง 10 ปีแล้ว ดังนั้นการใช้เกมเข้ามาเป็นสื่อกลางถึงเยาวชนที่เป็นอนาคตของประเทศจะเกิดประโยชน์ในการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของ SDGs ได้ในวงกว้างเร็วขึ้น และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเกมออนไลน์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปพร้อมกัน

ด้านตัวแทนจากบริษัทพัฒนาเกมไทยอย่าง บริษัท ทรู แอกซิออน อินเตอร์แอกทีฟ จำกัด โดยคุณนาวิน ทรัพย์จินดา Senior 3D Advisor หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า โครงการนี้ได้สร้างบรรยากาศที่คึกคักให้แก่น้องๆ คนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจเรื่อง SDGs หลายคนเป็นกลุ่มนักเล่นเกมแต่ยังไม่เคยพัฒนาหรือทำเกมเอง โครงการนี้จึงทำให้ผู้สนใจได้ความรู้ในเรื่องการพัฒนาเกมออนไลน์ด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อแวดวงอุตสาหกรรมเกมของประเทศ

“โจทย์สำคัญเกมที่ออกแบบมาจะต้องสนุกและยังสามารถปลูกฝังให้ผู้เล่นเข้าใจและซึมซับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับเกมด้วย เมื่อคิดถึงเด็กและเยาวชนที่ได้เล่นเกมที่เกี่ยวกับ SDGs พวกเขาจะเพลิดเพลินและได้รับความรู้ความเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งที่เขาตัดสินใจระหว่างเล่นเกมในทุกย่างก้าวจะมีผลสำคัญอย่างไรต่อโลกใบนี้”

ส่วนมุมมองของหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันที่เป็นเยาวชนอย่าง ด.ช.มฆตร์ ทิพพานุรัตน์ หรือ น้องเมฆ อายุ 12 ปี ซึ่งเป็นผู้เข้าแข่งขันที่มีอายุน้อยที่สุด หนึ่งในสมาชิกทีม Meedeestudio กล่าวว่า หน้าที่หลักในทีมคือ ช่วยแปลซับไตเติ้ลในเกมให้เป็นภาษาอังกฤษ เพราะตั้งใจให้เกมนี้เข้าถึงทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ และยังทำหน้าที่เป็นผู้ที่คอยทดสอบเกมให้ทีม และร่วมเสนอไอเดีย รวมทั้งออกความเห็นในการเล่าเรื่องในเกม ตลอดจนเทคนิคภาพและเสียง ซึ่งเกม SDGs ที่ทีมได้ออกแบบเป็นเรื่องราวการอยู่ร่วมกันระหว่างคน สัตว์ และการอนุรักษ์ผืนป่า ซึ่งเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม

ด้านทีมที่มีความหลากหลายของสมาชิกอย่างทีม Bluecat ที่สมาชิกในทีมมีตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงอายุ 59 ปี และ 70 ปี คุณดำรงค์ นุชเจริญ หัวหน้าทีม กล่าวว่า แม้จะไม่มีประสบการณ์ในฐานะนักพัฒนาเกม แต่เห็นว่าโครงการนี้มีความน่าสนใจและเปิดกว้างจึงชวนคุณพ่อวัย 70 ปี และคุณแม่วัย 59 ปี มาร่วมตั้งทีมออกแบบเกม ซึ่งทำให้ได้มุมมองจากผู้ใหญ่ และคนในครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับเกมที่ออกแบบเป็นเรื่องราวของความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวกับสัตว์เลี้ยงจะทำให้จำลองวิถีชีวิตในเกมได้ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น ขณะเดียวกันคุณพ่อและคุณแม่ยังได้มีส่วนช่วยในการเสนอแนวคิด SDGs และร่วมช่วยทดสอบเกมที่ออกแบบให้เข้ากับผู้เล่นวัยผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย เพราะเกม SDGs ที่ส่งเข้าแข่งขันเน้นให้สามารถเล่นได้ทุกวัยเพื่อให้คนทุกรุ่นตระหนักรู้ในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปิดท้ายที่ผู้เข้าแข่งขันจากคนในวงการเกมออนไลน์ คุณสรัน ดำรงกิตติกุล นักพัฒนาเกมจากทีม Panda กล่าวว่า โครงการนี้มีประโยชน์มาก เพราะกระตุ้นให้ผู้คนในวงการเกมทั้งผู้ออกแบบ และผู้เล่นเกมเกิดความตระหนักรู้ในเรื่องของความยั่งยืน มีส่วนร่วมกันช่วยแก้ปัญหาของสังคมในทุกมิติของความยั่งยืน ซึ่งเกมที่ออกแบบได้นำเสนอให้เห็นทั้งการสร้างประโยชน์และการได้รับผลกระทบ เช่น การประกอบอาชีพเกษตรกร เราต้องทำให้คนไม่หิวโหย ต้องตั้งใจเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักและไปส่งให้ร้านอาหารเพื่อนำไปทำอาหารให้คนในร้าน

“เราจะสะท้อนว่าหากทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เราก็จะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่เกมจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้มีส่วนช่วยยกระดับชีวิตผู้คนในสังคม”

“SDGs Game Fest” เป็นอีกโครงการที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้มาร่วมสร้างเกม SDGs ให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังช่วยกระตุ้นและสร้างความคึกคักให้แวดวงอุตสาหกรรมเกมของไทยที่ผู้พัฒนาเกมจะได้สร้างผลงานจากแนวคิด SDGs ได้อย่างสร้างสรรค์

ตลอดจนเหล่าเกมเมอร์จะได้รับความรู้และความสนุกสนานจากเกม เพราะเมื่อเนื้อหาของเกมมีส่วนสำคัญในการที่จะสร้างทัศนคติของผู้เล่นแล้ว ทำให้ความมุ่งหวังว่าเรื่องราวของ SDGs จะถูกสื่อสารออกไปผ่านตัวกลางสำคัญอย่างเกมที่จะช่วยให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ได้ซึมซับ รับรู้ และเข้าใจในคุณค่าของ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย พร้อมนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปปลูกฝังในชีวิตประจำวันได้ต่อไป

สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.sdgsgamefest.com และ Facebook: SDGs Game Fest

Cr. PR CPG