Soft Power อาหารไทย ตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ


คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : อังคณา สิทธิการ
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ในช่วงที่ผ่านมา “soft power” เป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเอเชียซึ่งเป็นทวีปที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมสูง “อาหาร” เป็นหนึ่งในสินค้าที่นิยมนำมาใช้เป็น soft power และเมื่อย้อนกลับมามองที่ไทยก็พบว่า อาหารไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์

สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอาหารไทย ต่อมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 18.3% สูงเป็นอันดับที่ 2 จากทั้งหมด 15 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่า เหตุใดอาหารไทยจึงจะเป็น soft power สำคัญที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้?

ประการแรก อาหารไทยเป็นหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดชาวต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากการจัดอันดับของ TasteAtlas เกี่ยวกับซุปที่ดีที่สุดในโลกปี 2022 พบว่า ข้าวซอย ได้อันดับ 1 และล่าสุดในปี 2023 พบว่าร้านอาหารไทยคว้าอันดับ 1 จากการประกาศรางวัล Asia’s 50 Best Restaurants

อีกทั้งจากข้อมูลล่าสุดของ Michelin Guide พบว่า เมนูของร้านอาหารไทยที่ได้อันดับ 1 อย่างร้านอาหาร Le Du มีราคาถูกกว่าร้านอาหารอย่าง Sezanne จากญี่ปุ่นซึ่งคว้าอันดับที่ 2 เกือบครึ่ง สะท้อนถึงราคาที่แข่งขันได้

ประการที่สอง ไทยมีความได้เปรียบจากการเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบสินค้าเกษตรภายในประเทศ โดยไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับ 15 ของโลก

ในปี 2565 มูลค่าส่งออกอาหารของไทยอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เฉพาะมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทย ทั้งกลุ่มวัตถุดิบ เช่น เครื่องปรุงรส รวมถึงกลุ่มอาหารพร้อมปรุง อยู่ที่ประมาณ 161,100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.5% ของการส่งออกอาหารไทยทั้งหมด

ประการที่สาม สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 21.2% ของค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งหมด หรือมีมูลค่าประมาณ 405,000 ล้านบาท จากในปี 2557 มีสัดส่วนอยู่ที่ 20.9% ของค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งหมด หรือมีมูลค่าประมาณ 357,000 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านที่พักและเพื่อซื้อสินค้ามีแนวโน้มลดลง

หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยให้เป็น soft power อย่างต่อเนื่อง จะสร้างมูลค่าเพิ่มสะสมของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2567-2573 ประมาณ 281,800 ล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าส่งออกในกลุ่มวัตถุดิบ เช่น เครื่องปรุงรสและกลุ่มอาหารพร้อมปรุงได้ราว 75,800 ล้านบาท (ราว 5.4% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด)

ส่วนภาคการท่องเที่ยว จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสะสมได้ราว 206,000 ล้านบาท (ราว 17.2% ของรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด)

โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนมองว่าอาหารไทยจะเป็น soft power สำคัญที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันในการผลักดันอาหารไทยให้เป็น soft power อย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว ผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในกลุ่มคนรุ่นใหม่

อีกทั้งการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (food tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (health and wellness tourism) ส่วนผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานวัตถุดิบ รสชาติ ไปจนถึงการต่อยอดอาหารไทย เช่น การพัฒนาสูตรอาหาร โดยผสานวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างจุดขายให้กับอาหาร หรือพัฒนาไปสู่อาหารที่สอดรับกับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต (future foods) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ