เผยสุดยอดเคล็ดลับ “ท่านประธานธนินท์” จากเถ้าแก่น้อยสู่เถ้าแก่ใหญ่ระดับโลก ทำได้อย่างไร?

โดย ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์

ใครจะรู้บ้างว่า…ธนินท์ เจียรวนนท์ นักธุรกิจระดับหมื่นล้าน แสนล้าน ที่บริหารกิจการขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ ซี.พี. ซึ่งปัจจุบันมีลูกน้องมากมายอยู่รายล้อมรอบกาย

…เริ่มต้นชีวิตการทำงานจากการทำธุรกิจขนาดเล็กที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่าเอสเอ็มอี (SMEs)

ธนินท์ ซึ่งคนซี.พี.เรียกกันว่า “ท่านประธาน” ได้เล่าให้ฟังว่า ในตอนนั้น ต้องทำงานด้วยตัวเองหมดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขายของ ทำบัญชี ทำการผลิต ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เหมือนเถ้าแก่รายย่อยที่เพิ่งริเริ่มธุรกิจทุกประการ

กว่าจะมาสู่วันนี้… วันที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ก็เติบโตมาจากการเป็นบริษัทเล็กๆ ก่อนเช่นกัน

เปรียบเปรยว่า ธุรกิจขนาดเล็ก ก็เหมือนกับเด็ก ที่ต้องประคบ ประหงมเอาใจใส่เลี้ยงดูอย่างถูกต้อง เพื่อให้อยู่รอดและเติบโตเป็นบริษัทใหญ่

ท่านประธานซึ่งผ่านเส้นทางการเป็นเถ้าแก่น้อยเอสเอ็มอีมาก่อน ได้เปิดใจเล่าถึงเคล็ดลับส่วนตัวของการเป็นเถ้าแก่ให้ฟังว่า หัวใจสำคัญของเถ้าแก่คือต้องดูแลเรื่องการใช้เงินและทำบัญชีให้รัดกุม เถ้าแก่น้อยเอสเอ็มอีจะต้องเข้มงวดในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เพราะหมายถึงความอยู่รอดของกิจการของตัวเอง

ท่านประธานบอกว่า เห็นตัวอย่างมามากมาย เถ้าแก่ที่ไม่สนใจเรื่องการดูแลเงินและควบคุมการทำบัญชี ก็จะมีแต่ปัญหามาให้ปวดหัว ทำให้ธุรกิจมีปัญหา และล้มเหลวได้

หลายคนไม่ระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย ทำเกินตัว ที่สุดธุรกิจเจ๊ง…

หลายคนดูแลจัดการเงินไม่ดี พอขาดเงิน ธุรกิจสะดุด ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ธุรกิจก็ดำเนินต่อไปไม่รอด ก็เจ๊ง..

เถ้าแก่ใหญ่อย่างท่านประธานธนินท์จึงให้ความสำคัญมากกับเรื่องการ ใช้เงินและคุมบัญชี ถึงแม้ในปัจจุบันท่านประธานก็เอาใจดูแลในเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

เคล็ดลับอีกประการสำหรับเถ้าแก่น้อยเอสเอ็มอี คือ ต้องสนใจดูแลเรื่องการจัดซื้อ ต้องดูแลไม่ให้รั่วไหล ต้องคุมการซื้อวัตถุดิบ ดูแลการซื้อของเข้าร้านให้เข้มงวดและถี่ถ้วน ทั้งหมดนี้ล้วนมีความสำคัญต่อการเป็นเถ้าแก่น้อยเอสเอ็มอีเป็นอย่างยิ่ง

ท่านประธานเล่าต่อด้วยว่า เมื่อธุรกิจเติบโตสู่การเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แม้เถ้าแก่จะมีลูกน้องทำงานให้ครบทุกด้าน ทั้งด้านบัญชี การเงิน การผลิต การตลาด…แต่เถ้าแก่ยังต้องพัฒนาทักษะในการบริหารงานเพิ่มขึ้นเป็นเงาตาม ตัว

ทักษะสำคัญที่เถ้าแก่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมในมุมมองของท่านประธานมีด้วยกัน 2 ประการ

ทักษะประการแรก คือ ต้องรู้จักใช้คน เถ้าแก่หรือผู้นำในองค์กรต้องมีความสามารถในการใช้คน ต้องรู้ว่าบริหารอย่างไรเพื่อให้ลูกน้องทำงานได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพ และบริหารอย่างไรให้ลูกน้องทำงานอย่างมีความสุข

ท่านประธานมีเคล็ดลับส่วนตัวในเรื่องการใช้คนที่เถ้าแก่อาจนำไปใช้ ได้ คือ
1. ต้องหาคนดีและคนเก่ง 2.ต้องพัฒนาความรู้ความสามารถของคน 3.ต้องรักษาคนดีและคนเก่งไว้

ทักษะและอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นก็คือ ทักษะด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ คนที่เป็นเถ้าแก่หรือคนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำจะต้องสื่อสารเป็น เพราะเมื่อมีลูกน้องมากขึ้นก็ยิ่งต้องสื่อสารให้ลูกน้องได้เข้าใจถึงเป้า หมายและยุทธศาสตร์ขององค์กร และต้องสื่อสารเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้องทำตามทิศทางขององค์กร

ในขณะเดียวกัน เถ้าแก่ต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลงไป การสื่อสารกับบุคคลภายนอกองค์กรก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เถ้าแก่ที่สื่อสารเป็น ผู้นำที่สื่อสารเป็น ก็จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สังคม ทำให้กิจการหรือธุรกิจขับเคลื่อนไปได้อย่างไม่มีปัญหา

เถ้าแก่น้อย เถ้าแก่ใหญ่…เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนภาคธุรกิจของประเทศไทย…

เคล็ดลับจากเถ้าแก่ที่ชื่อ “ธนินท์ เจียรวนนท์” จึงมีค่า และไม่ควรมองข้าม…