“ซีพี” ในมุมที่น่าสนใจมาก : ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

มาเรียนรู้เกี่ยวกับมุมมองในบางด้านของ “ซีพี” หรือ “เจริญโภคภัณฑ์” ตั้งแต่การที่ 7-Eleven ขายทุกอย่าง เรื่องระบบที่แข็งแกร่ง ไม่ใช่อยู่ที่ตัวคน และเรื่องการไม่ส่งเสริมการรุกป่า

ผม  ดร.โสภณ พรโชคชัย ในฐานะประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้รับเชิญจากกลุ่ม “ซีพี” ให้ไปบรรยายพิเศษ และได้ฟังคำกล่าวของ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงนำมาแบ่งปันเพื่อการศึกษาและช่วยกันตรวจสอบ

ในกรณีที่ 7-eleven ขายของทุกอย่างแม้กระทั่งอาหาร กาแฟ และบางแห่งมีมุมรับประทานอาหารด้วยเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ข้อนี้ผมเห็นด้วย ผมเห็น 7-Eleven ในประเทศอื่นๆ ก็ทำอย่างนี้มาก่อนประเทศไทยเสียอีก ในมุมมองของผมเอง ผมเห็นว่านี่เป็นกรณีศึกษาที่ค่อนข้างท้าทายเป็นอย่างมาก ผมเห็นด้วยที่ 7-Eleven ขายทุกอย่างที่ขวางหน้า ตราบเท่าที่สามารถขายได้ในราคาที่ถูกกว่าและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผมเห็นความสำคัญของการยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ยึดผู้ค้าหรือคู่แข่งเป็นศูนย์กลาง

บางท่านก็อาจบอกว่าถ้า 7-Eleven ขายทุกอย่างแล้วทำให้ผู้ค้ารายอื่น “ตาย” ไป ก็ทำให้ 7-Eleven ผูกขาดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตามสถิติยังมีร้านค้าปลีกหรือ “โชห่วย” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีธุรกิจอื่น เช่น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า Hypermarket Supermarket เป็นต้น อยู่ในตลาดจำนวนไม่น้อยด้วยเช่นกัน ดังนั้นตราบใดที่ใครขายได้ถูกและดีกว่าเราก็พึงอุดหนุนเพราะประชาชนมีเงินจำกัด จะไปซื้อของที่แพงกว่าจากร้านโชห่วย หรือร้านข้าวแกงทั่วไปที่ขายแพงกว่าคงเป็นเรื่องที่ “ทำใจลำบาก”

“ซีพี” มีการพัฒนาระบบงานที่ดี ความสำเร็จขององค์กรอยู่ที่ระบบในองค์กรที่มีพนักงานร่วมกันดำเนินงานด้วยกัน ไม่ใช่เป็นแบบ “One Man Show” หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับ Personal Goodwill ของผู้บริหารรายใดรายหนึ่ง ในองค์กรที่มีระบบงานที่ดี แม้จะมีผู้บริหารคนใดลาออกไป ผู้บริหารนั้นๆ ก็ไม่สามารถจะทำธุรกิจแข่งขันกับองค์กรนั้นๆ ได้ เพราะองคาพยพและระบบที่ไม่อาจสร้างขึ้นได้ด้วยคนๆ เดียว หรือในระยะเวลาอันรวดเร็วนั่นเอง

ผมฟังจาก ดร.ธีระพล ยังทราบว่า “ซีพี” ยังประกาศว่าจะไม่รับซื้อข้าวโพดหรือสินค้าเกษตรกรรมต่างๆ ที่ปลูกบนภูเขาที่ชาวเขาและชาวเราขึ้นไปบุกรุกถากถางป่ามาปลูก เพื่อเป็นการลดทอนการตัดไม้ทำลายป่าโดยเฉพาะป่าในภาคเหนือที่ถูกบุกรุกทำการเกษตรต่างๆ เช่น ปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนมาก การที่ “ซีพี” ประกาศเช่นนี้และทำได้จริง ก็จะทำให้ภาพพจน์ของ “ซีพี” ดีขึ้นอย่างชัดเจนในฐานะผู้ส่งเสริมการพิทักษ์ป่าไม้ของประเทศ เรื่องนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันตรวจสอบดู

ทุกวันนี้รายได้หลักของ “ซีพี” มาจากต่างประเทศมากกว่าในประเทศเสียอีก นี่เป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการลงทุนที่ไทยควรออกไปทำธุรกิจนอกประเทศให้มากขึ้นเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงประการหนึ่ง เพื่อการแสวงหาโอกาสที่ดีในต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าประเทศไทยเป็นอันมากอีกประการหนึ่ง และเพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ในฐานะบริษัทระดับภูมิภาคหรือบริษัทระดับโลก เป็น Multinational Enterprises (MNEs) นั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า ถ้าการเมืองไทยมีมาตรฐานกว่านี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายไม่ต้องดูลมการเมือง เชื่อว่า “ซีพี” คงจะเติบโตกว่านี้อีก หลายท่านยังคงจำได้ในปี 2533 “ซีพี” ได้โอกาสในการทำโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย แต่เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลชาติชาย ก็ทำให้ต้องแบ่งให้รายอื่นไป 1 ล้านเลขหมาย เหลือ 2 ล้านเลขหมาย เป็นต้น

“ซีพี” ก็มีแง่มุมให้มองหลายด้าน นี่เป็นบางด้านที่พึงพิจารณา

ที่มา:www.area.co.th